ทำอย่างไร เมื่อข้อไหล่ติด รบกวนชีวิตประจำวัน

03 พ.ค. 64  | ศูนย์กระดูกและข้อ
แชร์บทความ      

ทำอย่างไร เมื่อข้อไหล่ติด จนรบกวนชีวิตประจำวัน

 

ข้อไหล่ติด อาการปวดไหล่ที่อาจกวนใจใครหลายๆ คน แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่อาการปวดและขยับไหล่ได้ไม่สุดก็รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย ยิ่งข้อไหล่เป็นข้อต่อที่มีการขยับเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย เพราะคอยทำหน้าที่เคลื่อนแขนและมือให้ใช้งานได้สะดวก แล้วแบบนี้ต้องดูแลหรือรักษาอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุ อาการ วิธีรักษาและการดูแลตัวเองสำหรับคนปวดไหล่ เป็นข้อไหล่ติดมาฝากกัน

 

ภาวะข้อไหล่ติดคืออะไร สาเหตุเกิดจากและอาการเป็นอย่างไร ?

ข้อไหล่ติด หรือ frozen shoulder เป็นโรคที่พบได้บ่อยในวัยกลางคน ช่วงอายุ 40-60 ปี โดยมักเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อบริเวณไหล่มีการหนาตัว ตึงและเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดและเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ลำบาก ไม่ว่าจะขยับไหล่ไปด้านหน้า ด้านหลัง หรือด้านข้างจะรู้สึกปวดไหล่ บางคนยกแขนเอี้ยวตัวไปเกาหลังหรือขณะสวมใส่เสื้อผ้าก็รู้สึกปวดไหล่และปวดหลังร่วมด้วย ในขณะที่บางคนนอนทับไหล่ข้างที่ปวดไม่ได้เพราะรู้สึกปวดจนนอนไม่หลับ ทั้งหมดนี้ล้วนบั่นทอนคุณภาพชีวิตและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดกับข้อไหล่ข้างที่ไม่ถนัด และพบว่าผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ มีโอกาสเกิดภาวะข้อไหล่ติดได้มากกว่าบุคคลทั่วไป 

 

อาการข้อไหล่ติดแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

  • ระยะอักเสบและปวด ระยะนี้จะมีอาการปวดมากขึ้นแม้ว่าจะขยับไหล่เพียงเล็กน้อย ทำให้มุมองศาในการเคลื่อนไหวแคบลง โดยอาการปวดมักจะกินเวลาตั้งแต่ 2-9 เดือน
  • ระยะข้อยึด ระยะนี้อาการปวดจะลดลงแต่จะมีปัญหาในการขยับเคลื่อนไหว ช่วงองศาในการเคลื่อนไหวแคบลงอย่างเห็นได้ชัด ปวดมากขึ้นเมื่อต้องฝืนขยับจนสุดองศาของไหล่ โดยระยะนี้จะมีอาการให้เห็นได้ตั้งแต่ 2 เดือน ไปจนถึง 1 ปี แล้วแต่อาการของแต่ละคน
  • ระยะฟื้นตัว ร่างกายจะทำการฟื้นตัวเองตามธรรมชาติ อาการปวดไหล่จะน้อยลง การเคลื่อนไหวของไหล่จะดีขึ้น แต่จำเป็นต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-3 ปี

 

ชนิดของข้อไหล่ติด

  1. ข้อไหล่ติดโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic frozen shoulder) มีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่มีความผิดปกติในระบบอื่นๆ ร่วมด้วย
  2. ข้อไหล่ติดแบบทราบสาเหตุ (Painful stiff shoulder) มีสาเหตุที่ทำให้ข้อไหล่ติด ได้แก่ การได้รับบาดเจ็บ บริเวณข้อไหล่ หรือเกิดจากการเป็นโรคประสาทส่วนกลาง, โรคหัวใจ หรือโรคทางระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น โรคเบาหวานและโรคต่อมไทรอยด์
     

 

วิธีการรักษาข้อไหล่ติด

สำหรับการรักษาข้อไหล่ติดสามารถทำได้โดยไม่ผ่าตัดและต้องพึ่งการผ่าตัด ซึ่งการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดสามารถทำได้ดังนี้

• รับประทานยาระงับปวด

• กายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวด อักเสบ

• บริหารข้อไหล่ โดยควรทำติดต่อกันทุกวัน
 

กายภาพบำบัด วิธีการรักษาและแนวทางการป้องกันไม่ให้เป็นข้อไหล่ติดซ้ำ

การรักษาด้วยการบำบัดเป็นการรักษาที่ดีในการดูแลปัญหาอาการปวดไหล่ หรือภาวะข้อไหล่ติด เพราะนอกจากจะช่วยรักษาแล้ว ยังเป็นท่าออกกำลังกาย ยืดพังผืดและกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้ภาวะข้อไหล่ หรืออาการปวดไหล่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

  1. ลดอาการปวดอักเสบที่เกิดจากข้อไหล่ติด
  • Cold Pack ประคบเย็นเพื่อลดการอักเสบ
  • Ultrasound เพื่อลดอาการปวดและอักเสบบริเวณข้อต่อ
  1. เพิ่มพิสัย องศาการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ให้เพิ่มขึ้น
  • Mobilization การขยับข้อต่อเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืดบริเวณรอบๆ ข้อไหล่
  • Ultrasound ใช้ความร้อนลึกเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืดรอบข้อต่อ
  • Hot Pack ประคบร้อนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อต่างๆ รอบข้อไหล่
  1. แนะนำการออกกำลังกายเพื่อไม่ให้ข้อไหล่กลับมายึดติด
  • Stretching Exercise การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อ และช่วยเพิ่มความเคลื่อนไหว
  • Strengthening Exercise การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บในอนาคต

แม้ว่าภาวะข้อไหล่ติด และอาการปวดไหล่สามารถหายได้เองตามธรรมชาติ แต่ต้องใช้เวลานานซึ่งอาจกินเวลาเป็นแรมปี ดังนั้นหากผู้ป่วยรู้วิธีดูแลอาการปวดไหล่ หรือพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้อาการปวดไหล่ ข้อไหล่ติดดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วและลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำได้
 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โรงพยาบาลวิมุต ศูนย์กระดูกและข้อ ชั้น 4 เวลา 08.00-20.00 น.

500 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400

โทร.0-2079-0000

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ข้อเท้าแพลง รับมืออย่างไร

ข้อเท้าแพลง คือการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ที่เกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกเกินช่วงการเคลื่อนไหวปกติ ทำให้เอ็นบริเวณข้อเท้าเกิดการยืดออกมากจนเกินไป การบาดเจ็บมักเกิดบริเวณข้อเท้าด้านนอก หากรุนแรงมาก อาจส่งผลให้เอ็นเกิดการฉีดขาด มีอาการปวด บวม และสูญเสียความมั่นคงของข้อเท้า

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ปัจจัยทำ ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

คุณเคยไหม ที่รู้สึกปวดเข่า เมื่อต้องขึ้นลงบันได หรือ มีเสียงดังก๊อบแก๊บที่เข่าเวลาเดิน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมมีอยู่มากมาย แต่วันนี้ขอนำเอาปัจจัย 5 ข้อสำคัญๆ ที่มีผลมากที่สุด มาให้ความรู้กันครับ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ระวังภัยร้ายจาก Work from home syndrome ถามหา

ถึงสถานการณ์จะกลับมาคลี่คลายแล้ว แต่หลายบริษัทยังคงให้ Work From Home อยู่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการทำงานจากบ้านที่ดูเหมือนจะสบายนั้น อาจสร้างปัญหาสุขภาพได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคกระดูกพรุน เสี่ยงได้ทุกวัยไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุ

โรคกระดูกพรุน โรคที่ไม่ใช่เพียงคนมีอายุเท่านั้นที่สามารถเป็นได้ มาทำความรู้จักโรคกระดูกพรุนเกิดจากอะไร ควรดูแลตัวเองอย่างไรและควรตรวจมวลกระดูกเมื่อไหร่ เรามีคำตอบให้

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง