ทำความรู้จัก พันธุกรรมมะเร็งเต้านม(breast-cancer)

11 มี.ค. 65  | ศูนย์เต้านม
แชร์บทความ      

ทำความรู้จัก พันธุกรรมมะเร็งเต้านม

ความหมายของพันธุกรรมมะเร็งเต้านม

        มะเร็งส่วนใหญ่เกิดจากการกลายพันธุ์(Mutation)ของเซลล์ปกติในร่างกาย หรือที่เรียกว่าการกลายพันธุ์แบบโซมาติก (Somatic mutation) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคมะเร็ง การกลายพันธุ์แบบนี้ที่เกิดขึ้นในภายหลัง และมีโอกาสสูงขึ้นเมื่อบุคคลนั้นๆมีอายุมากขึ้น เซลล์ที่กลายพันธุ์ไปจะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นก้อนเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด การกลายพันธ์แบบโซมาติกจะไม่พบในทุกเซลล์ของร่างกาย และไม่ส่งผ่านจากพ่อแม่สู่ลูก ส่วนการกลายพันธุ์ของเซลล์ของบุคคลนั้นตั้งแต่ในระยะเซลล์อสุจิหรือเซลล์ไข่ ส่งผ่านโดยตรงจากพ่อแม่ไปยังเด็กตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิ เราเรียกการกลายพันธุ์พันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษว่า “พันธุกรรมมะเร็ง” (Germline mutation) ในปัจจุบันพบว่าพันธุกรรมมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่ ที่สามารถตรวจพบในสารพันธุกรรมที่เรียกว่า “ยีน (gene)” นั้น พบได้ประมาณ 5-10 % มียีนหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งเต้านม แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือยีน BRCA

        ยีน BRCA มีสองชนิด ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2 เป็นกลุ่มยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ (tumor suppressor gene) ในเซลล์ปกติ ยีน BRCA1 และ BRCA2 เป็นยีนปกติที่ช่วยซ่อมแซม DNA ที่เสียหาย ช่วยดำรงเสถียรภาพของสารพันธุกรรม และป้องกันการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์  เพื่อไม่ให้กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง

        ยีน BRCA พบทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้หญิงที่มียีน BRCA1 หรือ BRCA2 ที่ผิดปกติจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ โดยมักจะเป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อนวัยหมดประจำเดือน) และมักจะมีญาติสายเลือดเดียวกันที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่หลายคน นอกจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่แล้ว คนที่มียีน BRCA1 ที่ผิดปกติก็ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปากมดลูก มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ส่วนคนที่มียีน BRCA2 ที่ผิดปกติก็ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งของถุงน้ำดี มะเร็งของท่อน้ำดี และมะเร็งของเซลส์เม็ดสี (melanoma) สำหรับผู้ชายที่มียีน BRCA1 ที่ผิดปกติ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน มะเร็งของอัณฑะ และมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนผู้ชายที่มียีน BRCA2 มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมาก

        นอกจากนี้มียีนอื่นๆที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่อีก เช่น TP53, PTEN, STK11/LKB1, CDH1, CHEK2, ATM, MLH1 และ MSH2 เพียงแต่เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับยีน BRCA ซึ่งยีนเหล่านี้เป็นยีนที่เกี่ยวกับการเกิดโรคมะเร็งอื่นๆ โอกาสที่มะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่จะเป็นชนิดที่เกี่ยวข้องกับยีน BRCA ที่ผิดปกตินั้น จะพบในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ในคนเดียวกัน หรือมีสมาชิกในครอบครัวมากกว่าหนึ่งคนเป็นมะเร็งของอวัยวะสองอย่างในร่างกาย แต่ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวดังกล่าวจะต้องมียีน BRCA ที่ผิดปกติ และหากเกิดมะเร็งขึ้นในครอบครัวดังกล่าว ก็ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากยีน BRCA ที่ผิดปกติ นอกจากนี้ คนที่มียีน BRCA ที่ผิดปกติ ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ทุกคน

        ชั่วชีวิตหนึ่งโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งเต้านมในกลุ่มประชากรปกติมีประมาณ 12% (120 คนในประชากร 1,000 คน) แต่ในกลุ่มที่มีความผิดปกติของยีน BRCA1 หรือยีน BRCA2 จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมถึง 60% (600 คนในประชากร 1,000 คน) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงกว่าประชากรปกติถึง 5 เท่า ส่วนโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคมะเร็งรังไข่ในกลุ่มประชากรปกติมีประมาณ 1.4% (14 คนในประชากร 1,000 คน) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีความผิดปกติของยีนจะมีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่เพิ่มเป็น 15-40% (150-400 คนในประชากร 1,000 คน)

การตรวจคัดกรองหาความผิดของยีน BCRA1 และ BRCA2

        การตรวจคัดกรองหาความผิดของยีน BCRA1 และ BRCA2 ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจทุกคน แนะนำตราจเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีแนวทางที่แน่ชัด ว่าควรตรวจคนกลุ่มไหน หากอ้างอิงจากแนวทางของประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม ที่มีลักษณะต่อไปนี้
1.เป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ ไม่เกิน 45 ปี
2.เป็นมะเร็งเต้านมในช่วงอายุ 46-50 ปี ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
 -เป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า 1 ครั้ง
 -ญาติใกล้ชิดหนึ่งคนขึ้นไป เป็นมะเร็งเต้านม
 -ญาติใกล้ชิดหนึ่งคนขึ้นไป เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่แพร่กระจาย หรือมีลักษณะ High grade (Gleason score ตั้งแต่ 7 ขึ้นไป)
 -ไม่สามารถหรือมีข้อจำกัดในการค้นหาประวัติครอบครัว
3.เป็นมะเร็งเต้านมชนิด Triple negative คือ ไม่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน ตัวรับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและตัวรับเฮอร์ทู และอายุไม่เกิน 60 ปี
4.เป็นมะเร็งเต้านมในทุกช่วงอายุที่
  -มีญาติใกล้ชิดอย่างน้อย 1 คน เป็นมะเร็งเต้านมตอนอายุไม่เกิน 50 ปี หรือ มะเร็งรังไข่ หรือ มะเร็งเต้านมในผู้ชาย หรือ มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือมะเร็งตับอ่อน
  -มีญาติใกล้ชิดที่เป็นมะเร็งตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
5.มีประวัติคนในครอบครัวมียีน BRCA 1 หรือ 2


วิธีการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2 

        วิธีการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของยีน BRCA1 และ BRCA2มีหลายวิธี ส่วนใหญ่จะตรวจหาความผิดปกติในดีเอ็นเอของยีน BRCA และมีบางวิธีที่ตรวจหาความผิดปกติของโปรตีนที่ถูกสร้างมาจากยีน BRCA แต่โดยทั่วไปมักจะใช้หลายๆวิธีร่วมกันการตรวจจำเป็นจะต้องใช้การเจาะเลือดประมาณ 6 – 10 ml ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ซึ่งผลการตรวจปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็ทราบผล และราคาค่าตรวจ ราคาอยู่ประมาณ 25,000-35,000 บาท ขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ตรวจหาหรือห้องตรวจปฏิบัติการแต่ละที่

นพ.สุรกิจ พรชัย
รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
การรักษามะเร็งเต้านมสมัยใหม่ด้วยการผ่าตัด

การรักษามะเร็งเต้านมสมัยใหม่ด้วยการผ่าตัด การรักษาโดยการผ่าตัด (Surgery) เป็นการรักษาหลักของมะเร็งเต้านม การผ่าตัดประกอบด้วย การผ่าตัดที่เต้านมและการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
มะเร็งเต้านม ภัยเงียบใกล้ตัวผู้หญิงที่ควรเฝ้าระวัง

มะเร็งเต้านมภัยเงียบใกล้ตัวผู้หญิง หากพบก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ใต้แขน รู้สึกเจ็บเต้านม มีน้ำออกจากหัวนม หรือเกิดอาการผิดปกติบริเวณเต้านม รีบเช็กอาการพร้อมตรวจมะเร็งเต้านมก่อนโรคจะลุกลามได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
การรักษามะเร็งเต้านมสมัยใหม่ด้วยการผ่าตัด

การรักษามะเร็งเต้านมสมัยใหม่ด้วยการผ่าตัด

อ่านเพิ่มเติม