อะดีโนไวรัส โรคติดเชื้ออันตราย พาหะร้ายในเด็กเล็ก - โรงพยาบาลวิมุต

29 เม.ย. 68  | ศูนย์กุมารเวช
แชร์บทความ      

ในช่วงที่โรคติดเชื้อมีการระบาดเพิ่มขึ้น เด็กเล็กมักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ หนึ่งในโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยในเด็กคือ อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือแม้กระทั่งดวงตา การรู้จักกับไวรัสชนิดนี้รวมถึงวิธีป้องกันและรักษา จึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง

อะดีโนไวรัส โรคติดเชื้ออันตรายในเด็กเล็ก

อะดีโนไวรัส (Adenovirus) คือไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ดวงตา และระบบปัสสาวะ โดยไวรัสชนิดนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี  ซึ่งแตกต่างจากโรคไข้หวัดใหญ่ที่มักพบในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ อะดีโนไวรัสยังสามารถแพร่กระจายได้ง่าย เพราะมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถอยู่รอดได้บนพื้นผิวต่างๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ทำให้มีโอกาสในการติดเชื้อสูง

อะดีโนไวรัส มีอาการสำคัญอะไรบ้าง ?

อะดีโนไวรัสสามารถทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับระบบของร่างกายที่ได้รับผลกระทบ โดยส่วนใหญ่มักเริ่มต้นจากการเป็นไข้ ตัวร้อน และหนาวสั่น ซึ่งอาการเหล่านี้อาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง อาการสำคัญที่พบได้บ่อยจากการติดเชื้ออะดีโนไวรัสมีดังนี้

  1. อาการที่เกี่ยวกับดวงตา
  • ตาแดง ซึ่งอาจเกิดจากเยื่อบุตาอักเสบ
  • มีน้ำตาไหล ปริมาณมากผิดปกติ 
  • เจ็บตา ระคายเคืองตา และอาจมีขี้ตาสีขาว เหลือง หรือเขียว
  1. อาการทางเดินหายใจ
  • ไอแห้ง หรือไอแบบมีเสมหะ
  • คัดจมูก หรือมีน้ำมูกไหล
  • เจ็บคอ จากภาวะอักเสบในลำคอและบริเวณคอหอย
  • หายใจลำบาก หรือมีอาการหอบเหนื่อย
  • นอนกรน หรือมีภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะหลับในบางราย
  1. อาการทางระบบทางเดินอาหาร
  • อาจมีอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน

อะดีโนไวรัส มีวิธีรักษาอย่างไร ?

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จำเพาะสำหรับอะดีโนไวรัส การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการและดูแลให้ร่างกายฟื้นตัวเอง อาทิเช่น

  • บรรเทาอาการไข้ โดยการใช้ยาตามแพทย์สั่ง หรือตามเภสัชกร เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน เพื่อลดไข้
  • ป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยเฉพาะในกรณีที่มีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ควรดื่มน้ำเยอะๆ หรือดื่มน้ำผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) ในปริมาณเล็กน้อย
  • ดูแลระบบทางเดินหายใจ โดยการให้ยาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก และหากมีอาการหายใจลำบากหรือหอบเหนื่อย อาจต้องได้รับการรักษาด้วย Oxygen หรือพ่นยาขยายหลอดลม หากพบอาการรุนแรง ควรพามาพบกุมารแพทย์เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลในทันที
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูตัวเองได้
  • รักษาความสะอาดของดวงตา หากมีขี้ตา หรือพบอาการตาแดง ควรหลีกเลี่ยงการขยี้ตา และใช้ยาหยอดตาตามคำแนะนำของแพทย์

แนวทางการป้องกันอะดีโนไวรัส

อะดีโนไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัสโดยตรงกับฝอยละอองที่มีเชื้อจากการไอหรือจาม และการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อน รวมไปถึงการสัมผัสทางอ้อมจากพื้นผิวหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนไวรัส ดังนั้น การป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากเชื้อโรคจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีแนวทางการป้องกันที่มีประสิทธิภาพและทำได้ง่ายๆ ดังนี้ 

  1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยเน้นที่บริเวณฝ่ามือ หลังมือ ระหว่างนิ้ว และใต้เล็บ
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า มือของเราอาจสัมผัสกับพื้นผิวที่มีเชื้อโรคโดยไม่รู้ตัว การสัมผัสใบหน้าโดยเฉพาะบริเวณตา จมูก หรือปาก อาจทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า
  3. หลีกเลี่ยงผู้ป่วย และการอยู่ในสถานที่แออัด หรือพื้นที่เสี่ยงจากการติดเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ
  4. ทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยๆ รวมไปถึงเสื้อผ้าและของใช้ต่างๆ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
  5. เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 

อะดีโนไวรัสอาจเป็นโรคติดเชื้อที่ไม่อันตรายถึงชีวิตในผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กเล็กแล้วอาจส่งผลกระทบรุนแรงได้หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม การป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงและผลกระทบจากไวรัสนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่

ศูนย์กุมารเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต เวลาทำการ 08.00 – 24.00 น. โทร. 0-2079-0038
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
พญ.สุธิดา
ชินธเนศ
กุมารแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจในเด็ก

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้าย-ออทิสติกหรือไม่?

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางโรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก "ขาดการกระตุ้น" เป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เตรียมลูกรักให้ Ready เมื่อเปิดเทอมนี้ Covid มาเยือน

ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เด็กนอนกรน... อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อันตรายที่ต้องรีบเช็กด่วน

ฝันร้ายของลูกน้อย... อาจมาจากเสียงเด็กนอนกรน! ที่อาจเสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ ชวนไขข้อข้องใจเรื่อง "นอนกรนในเด็ก" ที่พ่อแม่ควรรู้! เกิดจากอะไร กำลังบอกอะไรและอันตรายอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ส่องสุขภาพเด็กอ้วนที่น่ารัก กับความอันตรายที่แอบแฝง

ในเด็กอ้วนที่ดูน่ารัก อาจกำลังเป็นเด็กที่เสี่ยงกับโรคอ้วนในเด็กได้ ชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูอันตรายแฝงที่แอบซ่อนอยู่ในเด็กอ้วน พร้อมแนวทางการรักษากันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม