ภัยผู้สูงวัย! “ต้อกระจก” คืออะไร มีสาเหตุและการรักษายังไง ?

20 มิ.ย. 67  | ศูนย์จักษุ
แชร์บทความ      

ต้อกระจก

ภัยผู้สูงวัย! “ต้อกระจก” คืออะไร มีสาเหตุและการรักษายังไง ?

“ต้อกระจก” เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาโรคหนึ่งที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นหูกันมาบ้าง โดยจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่สุขภาพเสื่อมถอยลงตามวัย ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายต่อดวงตา หากรักษาไม่ทันอาจทำให้ตาบอดได้ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักโรค “ต้อกระจก” ให้มากขึ้นว่าคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร ลักษณะอาการเป็นอย่างไรรวมถึงวิธีการรักษา เพื่อให้รู้เท่าทันเมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับดวงตาของเราแบบไม่ทันตั้งตัว และป้องกันตัวเองจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกรวมถึงวิธีรักษาต้อกระจก

ต้อกระจก คืออะไร ?

ต้อกระจก (Cataract) คือ โรคต้อตาชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับเลนส์ของดวงตา โดยเกิดจากโครงสร้างโปรตีนของเลนส์ตาเปลี่ยนไป ทำให้เลนส์ของดวงตามีความขุ่นมัว ไม่ใสเหมือนคนปกติทั่วไป ซึ่งเลนส์ตาจะมีลักษณะแข็งเป็นไต มีสีขุ่น อาจอยู่ตรงกลางเลนส์ตา หรือบริเวณขอบเลนส์ตาก็ได้เช่นกัน ทำให้แสงไม่สามารถผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้เต็มที่ ผู้ป่วยโรคต้อกระจกจึงมีประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง หรือในบางครั้งอาจทำให้ดวงตาไม่สามารถรับแสงได้ในปริมาณมาก ซึ่งส่งผลกระทบให้ค่าสายตาเปลี่ยนไปด้วย จนทำให้ไม่สามารถมองไกลได้ชัดหรือทำให้เกิดภาพซ้อนเหมือนคนที่มีสายตาสั้นนั่นเอง

ต้อกระจกอาการ

สาเหตุที่ทำให้เกิดต้อกระจก

1. อายุ

สุขภาพที่เสื่อมถอยลงอายุ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เลนส์ตาเสื่อมสภาพจนโครงสร้างโปรตีนของดวงตาเสื่อม จนทำให้เกิดเป็นโรคต้อกระจก ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จึงพบเป็นต้อกระจกมากกว่าคนวัยอื่น

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีโอกาสเกิดต้อกระจก

นอกจากเลนส์ตาที่เสื่อมสภาพตามวัยที่เพิ่มขึ้น ต้อกระจกยังสามารถเกิดจากพฤติกรรมหรือภาวะต่างๆ ได้อีกด้วย

1. การสูบบุหรี่จัด

ทำให้เกิดความเสื่อมของตาโดยรวม เนื่องจากสารพิษในควันบุหรี่ที่เราสูบเข้าไปส่งผลต่อเส้นเลือดที่นำไปเลี้ยงลูกตา อีกทั้งการได้รับสารพิษจากควันบุหรี่จำนวนมากเป็นเวลานาน จะทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลงและเพิ่มโอกาสการเกิดโรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาเสื่อมและอาการตาแห้งได้อีกด้วย

2. เกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับดวงตา

อุบัติเหตุทางตาทุกรูปแบบ รวมถึงการผ่าตัดตา สามารถทำให้เกิดต้อกระจกได้ทั้งสิ้น แล้วแต่ชนิดและความรุนแรงของอุบัติเหตุนั้นๆ

3. การจ้องแสงอัลตราไวโอเลต (UV) หรือแสงที่มีความสว่างมากเป็นเวลานาน

หากดวงตาของเราได้รับแสง Ultraviolet ในปริมาณมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดต้อกระจกได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดต้อเนื้อหรือต้อลมได้เช่นกัน ซึ่งแสงส่วนใหญ่ที่เสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกหากมองเป็นเวลานานก็คือ แสงจากดวงอาทิตย์นั่นเอง

4. เกิดจากการใช้ยาชนิดต่างๆ เป็นเวลานาน

หากมีประวัติเคยเข้ารับการรักษาทางการแพทย์และต้องใช้ยา เช่น ยาหดม่านตา ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ หรือกลุ่มยาสเตียรอยด์ รวมถึงเคยเข้ารับการฉายรังสี ก็สามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดต้อกระจกได้เช่นกัน

5. โรคทางตาที่เกี่ยวข้องกับต้อกระจก

ส่วนใหญ่เป็นโรคที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมกับโรคทางตาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคม่านตาอักเสบ ลูกตาติดเชื้อหรือเคยผ่านการผ่าตัดดวงตามาก่อน ล้วนนำไปสู่การเกิดต้อกระจกได้ทั้งสิ้น

6. โรคประจำตัวและโรคทางพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงเป็นต้อกระจก

โรคประจำตัวก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน ดังนี้

  • โรควิลสัน เป็นโรคที่เกิดจากระบบการทำงานของตับผิดปกติ ไม่สามารถที่จะกำจัดแร่ธาตุทองแดงที่เป็นส่วนเกินออกไปได้ จนทำให้เกิดการสะสมของแร่ธาตุทองแดงเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่า “ภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย” ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของเลนส์แก้วตาจากโรคต้อกระจกด้วย
  • โรคเบาหวาน โรคประจำตัวที่เกิดจากความบกพร่องของการผลิตฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติซึ่งส่งผลกับดวงตาโดยตรง ที่หลายๆ คนมักจะเรียกกันว่า “เบาหวานขึ้นตา” ทำให้เกิดความเสื่อมของตาได้ในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงต้อกระจก
  • โรคกาแล็กโทซีเมีย เป็นโรคที่ร่างกายขาดเอนไซม์ ที่ช่วยเปลี่ยนน้ำตาลกาแล็กโทสให้เป็นน้ำตาลกลูโคส ส่งผลให้น้ำตาลกาแล็กโทสในเลือดสูงกว่าปกติ และเกิดการคั่งขึ้นในเลือด ทำให้เกิดต้อกระจกตามมาได้

นอกจากนี้ยังมีโรคประจำตัวอีกไม่น้อย ที่มีภาวะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดต้อกระจก ดังนั้นหากผู้ป่วยรู้ว่ามีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับความเสี่ยงและวิธีป้องกันที่จะไม่ให้เกิดภาวะต้อกระจก จะช่วยให้ลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดต้อกระจกขึ้นได้

ต้อกระจกอาการเป็นอย่างไร

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต้อกระจกในระยะเริ่มแรก มักจะไม่มีการแสดงอาการใดๆ  ถ้าเป็นต้อกระจกเพียงเล็กน้อย กรณีที่เป็นมากขึ้น อาจเริ่มมีความรู้สึกว่าค่าสายตาเปลี่ยนไป ทำให้ต้องเปลี่ยนแว่นสายตา ซึ่งหากทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะเริ่มมีอาการตาพร่ามัวลงเรื่อยๆ และรู้สึกเหมือนมีอะไรมาบดบังการมองเห็น เริ่มมองเห็นภาพซ้อนและแสงกระจาย เมื่อขับรถตอนกลางคืน 

ในบางคนอาจมีอาการตาพร่ามัวมากในที่ที่มีแสงสว่างและไม่สามารถสู้แสงได้ รวมถึงไม่สามารถแยกความแตกต่างของสีได้เมื่ออยู่ในที่สว่าง หรือที่มืดในเวลากลางคืน กรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนอาจมีอาการปวดตา ตาแดงและปวดตาเฉียบพลัน หรือมีอาการตามัวลงกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว ซึ่งในภาวะนี้อาจเกิดจากต้อหินแทรกซ้อนได้ โดยอาการของต้อกระจก สามารถแบ่งเป็นระยะต่างๆ ได้ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่แก้วตาจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้การมองเห็นไม่สะดวกและลดน้อยลง เมื่อเห็นแสงไฟสะท้อนจะถูกรบกวนได้ง่าย และเกิดอาการเมื่อยล้าดวงตาง่ายมากขึ้นอีกด้วย
  • ระยะที่ 2 จะเป็นระยะที่ดวงตาเริ่มมีความขุ่นแต่ไม่มาก และจะค่อยๆ เพิ่มความขุ่นจากตรงกลางดวงตาขึ้นมาทีละน้อย พร้อมกับกระจายออกไปยังรอบแก้วตา ซึ่งผู้ป่วยระยะนี้จำเป็นต้องใส่แว่นที่ช่วยตัดแสงสะท้อน ถึงจะทำให้การมองเห็นชัดมากขึ้น
  • ระยะที่ 3 ความขุ่นมัวของต้อกระจกจะสูงขึ้นโดยจะกระจายไปทั่วทั้งแก้วตา ทำให้ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลงและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งระยะที่ 3 นี้เป็นระยะที่จักษุแพทย์แนะนำให้รีบเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก เพราะเป็นช่วงที่เริ่มรักษาได้ยากและอาจเกิดผลข้างเคียงได้
  • ระยะที่ 4 ระยะนี้จะทำให้การมองเห็นนั้นมีความพร่ามัวกว่าระยะที่ 3 และความขุ่นของต้อกระจกเพิ่มมากขึ้น เลนส์แก้วตาแข็งขึ้นมาก ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน จะทำให้การผ่าตัดมีความยากขึ้น ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้นทั้งจากตัวต้อกระจกและจากการผ่าตัด และอาจส่งผลให้เกิดโรคต้อหินตามมาภายหลัง ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้หากไม่ได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน

วิธีรักษาต้อกระจก

การใส่แว่นตาตามค่าสายตาที่เปลี่ยนไปอาจช่วยแก้ไขให้มีการมองเห็นที่ชัดเจนได้มากขึ้นในช่วงแรกที่เริ่มมีอาการ แต่หากมีอาการเพิ่มขึ้นแพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาต้อกระจกโดยการผ่าตัด ซึ่งมีด้วยกัน 3 วิธีดังนี้

1. ผ่าตัดลอกต้อกระจก (ICCE : Intracapsular Cataract Extraction)

สำหรับวิธีผ่าตัดลอกต้อกระจก เป็นวิธีผ่าตัดที่นำเลนส์ตาและถุงหุ้มเลนส์ออกมาทั้งหมด พร้อมกับลอกแก้วตาทั้งแคปซูลและเนื้อในแก้วตาออก ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ส่งผลต่อการมองเห็นเพราะการวางเลนส์ตานั้นทำได้ยาก อีกทั้งยังมีแผลขนาดใหญ่และใช้เวลาในการฟื้นฟูค่อนข้างนาน มักทำในกรณีที่ถุงหุ้มเลนส์มีปัญหามากอยู่เดิม

2. การผ่าตัดต้อกระจกแผลใหญ่ (ECCE : Extracapsular Extraction)

คือการผ่าตัดนำเอาแก้วตาออกและเหลือเพียงถุงหุ้มแก้วตาด้านหลังเอาไว้ ซึ่งวิธีการผ่าตัดแบบนี้จะทิ้งแผลขนาดใหญ่เอาไว้และยังต้องเย็บแผลปิดหลายเข็ม อาจส่งผลทำให้เกิดสายตาเอียงจากไหมที่ดึงกระจกตา นอกจากนี้ยังใช้เวลาพักฟื้นนาน และอาจทำให้เกิดพังผืดบริเวณส่วนบนของตาขาวอีกด้วย มักจะทำในกรณีที่เลนส์แก้วตาแข็งมาก เกินกว่าจะทำวิธีที่3 ได้ หรือมีข้อห้ามอื่น เช่นโรคกระจกตาเสื่อมระยะรุนแรง เป็นต้น

3. การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulslflcation)

เป็นวิธีการผ่าตัดต้อกระจกด้วยการใช้ความถี่เสียง หรืออัลตราซาวด์ที่มีความถี่สูง เพื่อเข้าไปทำการสลายเนื้อแก้วตาและดูดเอาแก้วตาที่สลายออกมา แล้วจึงนำแก้วตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ ซึ่งวิธีการผ่าตัดนี้แม้จะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กและมีโอกาสทำให้เกิดค่าสายตาเอียงน้อยกว่าวิธีอื่น ใช้เวลาพักฟื้นน้อย ผลการรักษาดี สามารถเลือกชนิดของแก้วตาเทียมได้หลากหลายตามความต้องการของผู้ป่วยและตอบโจทย์ในการแก้ไขค่าสายตาได้ดีกว่าวิธีอื่นๆ

ดูแลตนเองหลังผ่าตัดต้อกระจก

การดูแลตนเองหลังจากการผ่าตัดต้อกระจก

  1. ขณะตื่น สวมแว่นกันแดดหรือแว่นสายตาตลอดเวลา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกระทบกระแทก หากไม่มีให้ครอบตาด้วยฝาครอบตาที่รพ.จัดให้
  2. ขณะนอนหลับ ให้ใช้ฝาครอบตาก่อนเข้านอนทุกคืน เพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้สึกตัว
  3. ควรนอนหงายเป็นหลัก แต่สามารถนอนตะแคงได้โดยเอาตาข้างที่ผ่าตัดขึ้นด้านบน
  4. อ่านหนังสือและดูโทรทัศน์ได้ ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกแสบตา
  5. สามารถทำกิจวัตรประจำวันเบาๆได้ เช่น เดินเล่น หรือไปทานอาหารนอกบ้าน แต่ไม่ควรก้มศีรษะต่ำกว่าเอว
  6. ไม่ควรยกของหนัก หลีกเลี่ยงการไอ จาม เบ่งอย่างรุนแรง ห้ามขยี้ตา และระวังการลื่นหกล้ม
  7. อาบน้ำได้ โดยไม่ให้น้ำเข้าตา การสระผมควรนอนสระที่ร้าน หรือให้ผู้อื่นสระให้ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าตา
  8. สามารถแปรงฟัน และล้างใบหน้าครึ่งล่างได้ โดยไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตา
  9. ทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาและใบหน้า โดยใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำ เช็ดหน้าและเปลือกตาจากหัวตาไปหางตา
  10. หลีกเลี่ยงการทำสวน รดน้ำ พรวนดิน ทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารที่มีไอหรือควัน 7 วัน
  11. หยอดยาตามแพทย์สั่ง และมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  12. ปฏิบัติตัวดังกล่าวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ หลังผ่าตัดต้อกระจก
  13. สังเกตอาการผิดปกติที่ต้องมาพบแพทย์ด่วน คือ ปวดตา เคืองตามาก หนังตาบวม ตาแดง ตาบวมมากขึ้น ขี้ตามากขึ้น มีสีเหลืองหรือสีเขียว ตามัวลง ถูกกระแทกบริเวณข้างที่ผ่าตัด

ถึงแม้ว่าต้อกระจก จะเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามวัย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นกับวัยอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยอาจมาจากโรคประจำตัว หรือพฤติกรรมความเสี่ยงต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันดังที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการยับยั้งและป้องกันการเกิดต้อกระจก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้ 

สำหรับใครที่มีความกังวลหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดต้อกระจก ขอแนะนำโปรแกรมตรวจคัดกรองสุขภาพดวงตาจากโรงพยาบาลวิมุต ด้วยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและพยาบาลวิชาชีพที่ดูแลอย่างใกล้ชิด เทคโนโลยี เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ช่วยให้สามารถตรวจรักษาได้อย่างตรงจุด สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โปรแกรมตรวจคัดกรองสุขภาพตา 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์จักษุ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0058 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
พญ.จิรนันท์
ทรัพย์ทวีผลบุญ
จักษุแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เบาหวานขึ้นตา ตรวจรักษา…ก่อนสูญเสีย

เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยเบาหวานที่อาจเสี่ยงถึงขั้นตาบอดได้! มาสังเกตอาการเริ่มต้น ระยะของอาการ พร้อมแนวทางการป้องกันและวิธีการรักษาที่รู้ก่อน… รักษาได้

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ตรวจตาเด็กก่อนวัยเรียน สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

การตรวจตาเด็กก่อนวัยเข้าเรียน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะการมองเห็นมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก มาดูกันว่าการตรวจสุขภาพตาของเด็กจะต้องตรวจอะไรบ้าง และตรวจเพื่อหาความผิดปกติอะไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ตาพร่า ตามัว ตาฟาง ต้องระวัง 4 โรคต้อในตานี้!

โรคต้อในตา ทั้งต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน หรือต้อกระจก ต่างมีอาการและสาเหตุการเกิดที่ต่างกัน เราชวนคุณมาสังเกตอาการเพื่อดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะสูญเสียการมองเห็น

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
บอกลาแว่นคู่กาย ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วยการทำเลสิก!

รวมสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจทำเลสิก! เลสิกแก้ปัญหาสายตาแบบใดได้บ้าง เลสิก มีกี่แบบ มีวิธีเตรียมตัวก่อนทำและดูแลตัวเองหลังทำเลสิคอย่างไร ตามมาหาคำตอบได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง