หลอดเลือดสมองโป่งพอง รู้ก่อน โอกาสรอดสูงกว่า

12 ธ.ค. 67  | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
แชร์บทความ      

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมักไม่มีสัญญาณเตือน และถึงแม้ว่าจะพบหลอดเลือดโป่งพองภายในเนื้อเยื่อหุ้มสมองก็ไม่อาจรู้ได้ว่าผนังที่โป่งพองนั้นจะแตกออกมาเมื่อใด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงรู้ตัวเมื่อเส้นเลือดแตก ปวดหัวหนัก ตาพร่า แขนขาอ่อนแรง และมีอาการรุนแรงไปแล้ว โรคนี้จึงถูกยกให้เป็นภัยร้ายแรงที่ซ่อนเงียบในร่างกายเพียงแค่รอเวลาปะทุ ดังนั้นหากรู้ทันต้นสายปลายเหตุของภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองก่อนสาย มีปัจจัยใดเป็นความเสี่ยง… อาจเป็นการเพิ่มโอกาสรอดได้มากกว่า

โรคหลอดเลือดสมองนับเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการทั่วโลก หนึ่งในโรคหลอดเลือดสมองที่น่ากลัวที่สุดคือ โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm) ซึ่งพบได้ในทุกช่วงอายุ สาเหตุที่น่ากลัวเพราะมักไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าใด ๆ แต่เมื่อเกิดเหตุ เส้นเลือดที่โป่งพองซึ่งมีผนังเส้นเลือดบางมากจะแตกออก ทำให้เลือดออกในสมองอย่างปัจจุบันทันด่วน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต อาจมีอาการตึงต้นคอร่วมด้วย และหากอาการหนักจะหมดสติทันทีหรือในเวลาไม่กี่นาที และอาจหมายถึงการเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง คืออะไร

หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) เป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดบริเวณดังกล่าวบางลง และเมื่อมีแรงดันจากการไหลเวียนเลือด ผนังหลอดเลือดจึงโป่งพองขึ้นจนมีลักษณะคล้ายบอลลูนเล็กๆ และเมื่อได้รับแรงดันในเลือดมากขั้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะแตกออก เกิดเป็นเลือดออกบริเวณชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งเป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต 

สาเหตุใดบ้าง ที่ทำให้ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง

สาเหตุของการเกิดภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ความผิดปกติของผนังหลอดเลือดที่เกิดขึ้นภายหลัง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, โรคไขมันในหลอดเลือด, สูบบุหรี่, ใช้สารเสพติดบางชนิด, ดื่มแอลกอฮอล์, มีภาวะหลอดเลือดแดงแตกเซาะ, ติดเชื้อในหลอดเลือด และ เกิดการบาดเจ็บที่บริเวณสมอง แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุเหล่านี้เป็นเพียงการคาดการณ์อาจเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ก็ได้
  2. ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางกายภาพ และโรคทางพันธุกรรม ได้แก่ มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดโป่งพอง, มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองแต่กำเนิด, เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด หรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอยู่ก่อนแล้ว, อายุที่มากขึ้น รวมถึงโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา

สาเหตุ ที่ทำให้ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง

อาการใดบ่งบอกภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง

หลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นภัยเงียบและน่ากลัว เนื่องจากไม่แสดงอาการที่เป็นสัญญาณอันตรายให้เห็นในช่วงแรก จึงแบ่งอาการที่สังเกตได้เป็นดังนี้

  • หลอดเลือดสมองโป่งพองแบบยังไม่แตก (Unruptured cerebral aneurysm) ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการ หรืออาจพบเพียงอาการปวดศีรษะแบบไม่จำเพาะ จนกระทั่งหลอดเลือดโป่งพองขึ้นเบียดกับเนื้อสมองหรือกดทับเส้นประสาทข้างเคียง อาจมีอาการปวดร้าวบริเวณใบหน้า หนังตาตก หรือมองเห็นภาพซ้อน 

ในรายที่พบว่าหลอดเลือดที่โป่งพองนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นมากกว่า 2.5 เซ็นติเมตร ทำให้เกิดลิ่มเลือดและหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองส่วนปลายจนเกิดภาวะสมองขาดเลือด ส่งผลให้เกิดอาการชา แขนขาอ่อนแรง ลิ้นแข็ง และปากเบี้ยวได้

  • หลอดเลือดสมองโป่งพองแบบแตกแล้ว (Ruptured cerebral aneurysm) เมื่อเกิดภาวะเส้นเลือดแตกและมีเลือดออกที่ชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง ความดันภายในกะโหลกสูงขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงในทันที และปวดมากบริเวณต้นคอ ก้มคอไม่ได้ คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจชักเกร็ง หมดสติ และไม่รู้สึกตัว เป็นภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงแก่ชีวิต จึงจำเป็นต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ด้วยวิธีใดบ้าง

การตรวจหาตำแหน่งของหลอดเลือดที่โป่งพองผิดปกติเพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษา จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางรังสีวิทยา โดยการทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan), หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI - magnetic resonance imaging) เพื่อหาความเสี่ยงของหลอดเลือดในชั้นเยื่อหุ้มสมองในขั้นต้น หรือแพทย์อาจพิจารณาแนวทางการตรวจโดย การฉีดสีหลอดเลือดในสมอง (Cerebral Angiogram) ซึ่งสามารถบอกถึงตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่โป่งพองผิดปกติ รวมถึงขนาด รูปร่าง และลักษณะการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงได้อย่างละเอียด นอกจากเป็นการตรวจวินิจฉัยแล้ว วิธีนี้ยังสามารถใช้เป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาหลอดเลือดโป่งพองได้โดยไม่ต้องผ่าตัดสมองด้วย 

หลอดเลือดสมองโป่งพองรักษาได้อย่างไร

หลอดเลือดสมองโป่งพอง รักษา

แนวทางขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พบหลอดเลือดโป่งพอง ซึ่งจะมีผลต่อแรงกระแทกต่อหลอดเลือดและขนาดของหลอดเลือดที่โป่งพอง หากมีขนาดใหญ่กว่า 7 มิลลิเมตรขึ้นไป โอกาสของการปริแตกของหลอดเลือดจะมากขึ้นเป็นสองเท่า นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาอาการของผู้ป่วย อายุ ปริมาณเลือดที่ออกในสมอง โรคประจำตัว และความแข็งแรงของผู้ป่วยร่วมด้วย โดยแพทย์ที่จะเสนอทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วยหรือญาติเพื่อให้รับทราบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจก่อนรับการรักษา ทางเลือกหลักๆ ได้แก่

  • การผ่าตัดแบบเปิดเพื่อหนีบหลอดเลือด (Clipping Aneurysm) แพทย์จะเป็นผู้ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เพื่อทำการหนีบบริเวณหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยอุปกรณ์หนีบซ่อมเส้นเลือดขนาดเล็ก โดยใช้กล้องจุลทรรศน์คุณภาพสูง (Microscope) ช่วยในการผ่าตัดร่วมกับเทคนิคการผ่าตัดทางจุลศัลยกรรมโดยแพทย์ผู้มีความชำนาญพิเศษ
    วิธีนี้นอกจากเป็นการหยุดภาวะเส้นเลือดโป่งพองอย่างทันทีแล้ว ยังสามารถนำเลือดที่ออกในสมอง และระบายน้ำที่คั่งในโพรงสมองออกไปได้ในคราวเดียวกัน ผู้ป่วยที่ยังไม่มีการแตกของหลอดเลือดจะใช้เวลาพักฟื้นอยู่ที่ 3-7 วัน แต่หากรับการผ่าตัดหลังหลอดเลือดแตกแล้วอาจใช้เวลาพักฟื้นมากกว่านั้น แต่วิธีนี้ช่วยลดโอกาสการกลับมาเป็นหลอดเลือดสมองโป่งพองซ้ำได้มากเลยทีเดียว
  • การรักษาผ่านทางสายสวนหลอดเลือด (Endovascular therapy) แพทย์จะทำการสอดท่อขนาดเล็กผ่านทางหลอดเลือดแดงจากบริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ ไปถึงบริเวณที่พบหลอดเลือดสมองโป่งพอง และอุดหลอดเลือดที่โป่งพองด้วยขดลวดแข็งตัว ตามด้วยการใส่ท่อตาข่ายเพื่อให้เลือดไหลเวียนผ่านท่อตาข่ายนี้แทน ในผู้ป่วยที่มีการแตกของหลอดเลือดอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นหลายสัปดาห์
    แต่ในรายที่ยังไม่มีการแตกของหลอดเลือดมักฟื้นตัวได้เร็วภายในเวลาไม่กี่วัน วิธีนี้แม้ไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดสมอง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงบางประการ เช่น  มีโอกาสกลับมาเป็นหลอดเลือดสมองโป่งพองซ้ำได้มากกว่าวิธีแรก มีโอกาสที่เส้นเลือดจะแตกระหว่างการใส่ขดลวด ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิตได้ รวมถึงมีโอกาสที่จะต้องได้รับการผ่าตัดซ้ำ เป็นต้น

สำหรับการรักษาหลอดเลือดโป่งพอง การเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งดังกล่าวข้างต้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์ผู้ชำนาญการเป็นสำคัญ โดยแพทย์จะแนะนำข้อดีและข้อเสียสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายให้กับญาติได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเป็นเสมือนภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต เราสามารถเลี่ยงได้ด้วยการลดความเสี่ยง ได้แก่ รักษาระดับความดันโลหิต ระดับไขมัน และระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่เสมอ งดบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสารเสพติดทุกชนิดที่มีส่วนกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายขนาดและเพิ่มโอกาสโป่งพอง รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำปีละ 1 ครั้ง เป็นอีกหนึ่งวิธีหยุดยั้งการเกิดภาวะที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีคนในครอบครัวใกล้ชิดพบประวัติเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง หรือมีภาวะโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองอยู่แล้ว  

เฝ้าระวังด้วยการเช็กสัญญาณเตือน หากพบอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงอย่ารอช้า 

รีบพบแพทย์เพื่อประเมินการรักษาภาวะโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองให้ทันท่วงที

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต
เวลาทำการ 07:00-20:00  น. โทร. 0-2079-0042 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
รศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและไขสันหลัง ประสาทศัลยศาสตร์, ศัลยกรรมระบบประสาทและไขสันหลัง

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
รศ.นพ.เมธี
วงศ์ศิริสุวรรณ
ศัลยแพทย์ระบบประสาทและไขสันหลัง
ประสาทศัลยศาสตร์, ศัลยกรรมระบบประสาทและไขสันหลัง

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

อาการแน่นหน้าอก เจ็บหัวใจ เหนื่อยง่าย อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งโรคหัวใจต่างก็ถูกแบ่งออกไปได้อีกหลายโรคและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่จะมีอะไรบ้างไปดูกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ท่าออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี หัวใจแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

มาดูแลหัวใจให้แข็งแรง ด้วย 5 ท่าออกกำลังกายบริหารหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจของคุณมีสุขภาพแข็งแรง รับรองว่าดีต่อร่างกายและดีต่อใจอย่างแน่นอ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อาการเตือน เจ็บอกรุนแรง..อาจเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

เจ็บกลางอก ใจสั่น เวียนหัว หายใจหอบ สัญญาณเตือน “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ เส้นเลือดหัวใจตีบ” มาสังเกตอาการพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อการดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธีกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อย่าปล่อยไขมันในเลือดสูงปรี๊ด ถ้าไม่อยากเสี่ยงสารพัดโรค

ไขมันในเลือดสูง ภาวะอันตรายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังได้ในอนาคต มาเริ่มต้นทำความรู้จักและปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเกิดไขมันในเลือดสูงไปพร้อมกันในบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม