การปฐมพยาบาลเบื้องต้น รู้หลักปฏิบัติลดอันตรายได้

15 ม.ค. 68  | ศูนย์ฉุกเฉิน
แชร์บทความ      

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น รู้หลักปฏิบัติลดอันตรายได้ทุกคนย่อมมีโอกาสพบเจอเหตุฉุกเฉินทางด้านสุขภาพที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ทั้งที่อาจเกิดกับตนเอง หรือคนรอบตัว คงดีกว่าถ้าวันนี้เราเตรียมพร้อมรับมือ เรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องตั้งแต่เล็กน้อยไปตลอดจนเอาไว้ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ก่อนถูกส่งไปรักษายังสถานพยาบาลต่อไป กับ 11 วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่นำมาฝากกันในวันนี้

รับมืออุบัติเหตุต่างๆ กับ 11 การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ถูกต้อง

ปฐมพยาบาลแผลสด แผลถลอก

1. ปฐมพยาบาลแผลสด แผลถลอก

แผลถลอก หรือแผลสด ที่เกิดจากการถูกครูด ขีดข่วน มีความตื้นเพียงผิวหนังชั้นนอกและมีเลือดออกเล็กน้อย เป็นแผลชนิดไม่ร้ายแรง แต่ต้องได้รับการปฐมพยาบาลเพื่อทำความสะอาดสิ่งสกปรกที่ติดอยู่บริเวณแผลโดยทันที เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ และปล่อยให้แผลแห้ง

วิธีปฐมพยาบาล หรือทำแผลสด แผลถลอก

  1. ล้างบาดแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือใช้น้ำสะอาดและสบู่ หากมีสิ่งสกปรก เช่น ทราย ฝุ่นผง เศษดินอยู่ในบาดแผลให้ล้างออกให้หมด 
  2. หลังล้างแผลแล้วให้ใช้ยาฆ่าเชื้อสำหรับภายนอก เช่น เบตาดีน, โพวิโดนไอโอดีน เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยไม่ต้องปิดบาดแผล แต่หากเป็นแผลที่เท้าหรือในร่มผ้า ควรปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาดเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและช่วยป้องกันการเสียดสีของแผล
  3. หากเป็นแผลขนาดใหญ่ หรือเป็นแผลจากความร้อนที่พองเป็นตุ่มน้ำ ควรไปทำแผลที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นบาดทะยัก ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของแผล และประวัติการได้รับวัคซีนของผู้บาดเจ็บ

ข้อห้ามเมื่อต้องปฐมพยาบาลแผลสด แผลถลอก

ไม่ควรล้างแผลและเช็ดบาดแผลโดยตรง ด้วยแอลกอฮอล์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ เพราะจะทำให้แผลเกิดการระคายเคือง เจ็บแสบ เนื้อเยื้อบริเวณแผลจะตายและส่งผลให้แผลหายช้า

2. ปฐมพยาบาลแผลเลือดออกเยอะ วิธีห้ามเลือด

แผลฉกรรจ์ที่เลือดออกเยอะทำให้เสียเลือดมากในเวลาอันสั้น เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต ในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ว่าบาดแผลจะเล็กหรือใหญ่ การห้ามเลือดอย่างถูกวิธีก่อนรีบนำตัวผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลนั้นสำคัญมาก เพราะเป็นการช่วยให้ผู้ป่วยไม่เสียเลือดมาก และป้องกันการติดเชื้อ

วิธีปฐมพยาบาลแผลเลือดออกเยอะ หรือวิธีห้ามเลือด

  1. หาจุดที่เลือดออกและใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาด กดลงบาดแผลโดยตรงจนกว่าเลือดจะหยุดไหล ระหว่างกดแผลห้ามเปิดแง้มมาดูเด็ดขาด ใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 5 นาที หลอดเลือดจะหดตัวและห้ามเลือดไว้ได้ จากนั้นจึงทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือใช้น้ำสะอาด ซับแผลให้แห้งก่อนจะทายาฆ่าเชื้อ
  2. หากกดแผลไว้แล้วเลือดยังไม่หยุดไหล มีเลือดซึมออกมาอย่างต่อเนื่อง ให้ใช้ผ้าอีกผืนกดทับโดยไม่ต้องเอาผืนเดิมออก แล้วกดแผลต่อไปจนกว่าเลือดจะหยุดซึมขึ้นมาบนผ้า
  3. หากบาดแผลมีขนาดใหญ่ เลือดออกรุนแรงและไม่สามารถกดแผลห้ามเลือดได้ ควรใช้ผ้าก๊อซ หรือผ้าสะอาดกดลงไปตรงๆ ที่บริเวณปากแผล และโทรเรียกรถพยาบาลที่เบอร์ 1669 ทันที

ข้อห้ามเมื่อต้องปฐมพยาบาลแผลเลือดออกเยอะ

หากเป็นบาดแผลที่มีวัตถุเสียบอยู่ หรือบาดแผลจากการถูกแทง ห้ามดึงวัตถุนั้นออก ให้ใช้ผ้ากดแผลได้เลย รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสเลือดของผู้ได้รับบาดเจ็บโดยตรงเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากเป็นการบาดเจ็บแผลมีเลือดออกเยอะจากอุบัติเหตุ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ เพราะอาจทำให้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น ยกเว้นในกรณีจำเป็น เช่น อยู่ในพื้นที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น 

3. ปฐมพยาบาลแมลงกัดต่อย

แมลงหลายชนิดมักทิ้งเหล็กในไว้ที่ผิวเมื่อต่อยแล้ว ภายในเหล็กในจะมีพิษซึ่งฤทธิ์ที่เป็นกรด ส่งผลให้บริเวณที่ถูกต่อยเกิดอาการบวมแดง คัน ปวด อาการปวดที่เกิดขึ้นอาจมากหรือน้อยแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล

วิธีปฐมพยาบาลแมลงกัดต่อย

  1. หากมีเหล็กในให้ดึกออกทันที ก่อนจะทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ แล้วจึงประคบเย็นครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม 
  2. สามารถรับประทานยา หรือทา ยาต้านฮีสตามีนและยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการคันและปวดแสบร้อนได้ และหากมีอาการแพ้รุนแรง เช่น บวมแดงบริเวณใบหน้า แน่นหน้าอก หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน หรือหมดสติ ให้เรียกรถพยาบาลทันที 

ข้อห้ามเมื่อแมลงกัดต่อย

ห้ามแกะเกาบริเวณที่ถูกแมลงกัดต่อ เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 

4. ปฐมพยาบาลเมื่ออาหารติดคอ

การลำลักอาหาร หรืออาหารติดคอ เป็นสาเหตุหนึ่งของการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากผู้สำลักอาหารรู้สึกเหมือนมีบางอยู่ติดอยู่ข้างในคอ แต่ยังไอและพูดได้บ้าง ให้เฝ้าระวังละคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด แต่หากทางเดินหายใจอุดกั้นทั้งหมดจนไม่สามารถพูดหรือส่งเสียงได้ หายใจไม่ออก หน้าเขียว ปลายมือเท้าเขียว ต้องเร่งปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยด่วน 

วิธีปฐมพยาบาลเมื่ออาหารติดคอ

  • กรณีที่อยู่ลำพัง ให้กำมือสองข้างวางบริเวณเหนือสะดือ จุดใต้ซี่โครง แล้วกระแทกเข้าหาตัว ทำซ้ำๆ จนกว่าเศษอาหารหลุดออก หากสิ่งแปลกปลอมไม่หลุดออกสามารถเพิ่มแรงกระแทกที่กระบังลมด้วยการโค้งตัวไปกระแทกกับขอบโต๊ะ หรือเก้าอีกที่มีความสูงในระดับเอวได้ ทำซ้ำจนกว่าเศษอาหารหลุดออกเช่นกัน
  • กรณีที่เป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือผู้อื่น ให้โอบตัวผู้ประสบเหตุจากด้านหลังทำ แล้วทำมือข้างหนึ่งเป็นกำปั้น มืออีกด้านโอบกำปั้นนั้นไว้บริเวณใต้ลิ้นปี่ เหนือสะดือ แล้วจึงรัดอัดท้องขึ้นแรงๆ ทำซ้ำรอบละ 5 ครั้ง จนกว่าเศษอาหารจะหลุดออก หรือผู้ประสบเหตุหายใจเองได้

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่ออาหารติดคอ

ห้ามใช้นิ้วล้วงเอาสิ่งแปลกปลอมออก เพราะอาจเป็นการดันสิ่งแปลกปลอมให้เข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจมากกว่าเดิม และห้ามใช้วิธีรัดอัดท้องกับเด็กทารกที่อายุไม่ถึง 1 ปี โดยเด็ดขาด  

ปฐมพยาบาลเมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

5. ปฐมพยาบาลเมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก มีระดับความลึกของชั้นแผลที่ต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับความร้อน ขนาดความกว้าง ความลึก และตำแหน่งของบาดแผล โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับแรกอยู่เพียงผิวหนังชั้นหนังกำพร้า ระดับที่ 2 มีการบาดเจ็บในบริเวณชั้นหนังแท้ และระดับที่ 3 ชั้นผิวหนังทั้งหมดถูกทำลายด้วยความร้อน

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

  1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดในอุณหภูมิปกติ หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่าน ประมาณ 15 - 20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะทุเลาลง แล้วจึงซับผ้าผ้าสะอาดให้แผลแห้ง
  2. หากพบอาการปวดแสบปวดร้อน มีตุ่มพองใส ผิวหนังมีรอยถลอก สีของผิวหนังเปลี่ยนไป หรือเป็นแผลไฟไหม้ระดับที่ 2 ขึ้นไปให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

ห้ามสัมผัสบริเวณที่ถูกไฟไหม้ ห้ามใช้ยาสีฟัน น้ำแข็ง น้ำปลา ขี้ผึ้ง หรือ ยาหม่อง ทาลงบนบาดแผล รวมถึงห้ามใส่ยา หรือครีมใดๆ ลงบนบาดแผล หากไม่แน่ใจในคุณสมบัติของยานั้นๆ ดีพอ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและอาจเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ รวมถึงไม่ควรเจาะตุ่มน้ำพองด้วยตนเองด้วย

6. ปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ทั้งเป็นงูมีพิษ และไม่มีพิษ ขั้นตอนที่สำคัญคือการเร่งปฐมพยาบาล และนำตัวไปสถานพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด พยายามจดจำลักษณะหรือสายพันธุ์ของงู โดยไม่จำเป็นต้องจับงูมาด้วย หากถ่ายรูปไว้ได้ ก็สามารถนำรูปให้แพทย์ดูเพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยและเลือกแนวทางการรักษาต่อไป 

ข้อปฏิบัติในการปฐมพยาบาลเมื่อถูกงูกัด

  1. ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือน้ำสะอาดในทันที ฟอกสบู่เบาๆ และล้างด้วยน้ำสะอาด (หากผู้ประสบเหตุไม่มีอาการผิดปกติสามารถนำส่งโรงพยาบาลได้)  
  2. ใช้ไม้ หรือของแข็งๆ ลักษณะเป็นแท่งยาวมาดามแผล อย่างท่อ PVC หรือไม้บรรทัด แล้วพันด้วยผ้าอีกครั้ง คล้ายกับการเข้าเฝือกชั่วคราว เพื่อลดการขยับของแผล จัดท่าทางให้ร่างกายส่วนที่ถูกงูกัดอยู่ต่ำกว่าหัวใจ และรีบนำตัวผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาล
  3. หากจำเป็นต้อง CPR ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง ให้ CPR ที่เกิดเหตุ และโทรเรียกรถพยาบาลที่เบอร์ 1669 ทันที

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อถูกงูกัด

ห้ามใช้ปากดูดแผล ห้ามใช้ไฟจี้ ห้ามถู ขัด หรือนวด เพราะไม่ช่วยล้างพิษแต่เป็นการทำให้แผลสกปรกและเกิดการเชื้อ ไม่ควรใช้วิธีขันชะเนาะร่วมกับการดามแผล เพราะมีโอกาสที่เนื้อเยื่อตายจากการขาดเลือดสูง รวมถึงห้ามใช้น้ำแข็งประคบที่บาดแผล ห้ามรับประทานยาแก้แพ้และดื่มยาที่มีสุราเจือปน และหากต้องทำการ CPR ผู้บาดเจ็บ ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยตัวเอง ควรรีบเรียกรถพยาบาลในทันที

7. ปฐมพยาบาลเมื่อข้อเท้าเคล็ด เท้าแพลง

การเดินสะดุดหรือเคลื่อนไหวผิดท่าไปจากปกติ อาจส่งผลให้ข้อเท้าเกิดการบิด งอ พลิก ซึ่งผู้ประสบเหตุมักมีอาการ ปวด บวม และเคลื่อนไหวไม่ถนัด และเป็นภาวะที่อันตรายมากขึ้นหากเกิดในผู้สูงอายุ เพราะมีความเสียงที่กระดูกบริเวณข้อเท้าจะหักได้ง่ายกว่าในวัยหนุ่มสาว 

ปฐมพยาบาลเมื่อข้อเท้าเคล็ด เท้าแพลง

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเท้าเคล็ด เท้าแพลง

  1. ยกเท้าให้สูงเล็กน้อยเพื่อห้ามเลือดและลดบวม บังคับให้ข้อเท้าที่ได้รับบาดเจ็บอยู่นิ่ง แล้วจึงประคบด้วยความเย็นทันที ใช้เวลาประคบอย่างน้อย 20 นาที 
  2. ใช้ผ้ายืดรัดบริเวณข้อเท้าเพื่อลดอาการบวม และลดการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดิน หรือการยืนนานๆ เพื่อพักการใช้งานของข้อเท้า หากปฐมพยาบาลแล้วอาการมักดีขึ้นใน 2-3 วัน แต่หากยังมีอาการปวดมาก หรืออาการไม่ดีขึ้นแม้ผ่านไปนานเป็นเดือนแล้วควรพบแพทย์

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อเท้าเคล็ด เท้าแพลง

ใน 24 ชั่วโมงแรกห้ามประคบด้วยความร้อน หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการบาดเจ็บซ้ำและรอให้กล้ามเนื้อหายดีก่อนจะกลับไปเล่นกีฬาที่อาจต้องใช้กล้ามเนื้อข้อเท้าอีกครั้ง

8. ปฐมพยาบาลเมื่อกระดูกหัก

ลักษณะอาการคือ ปวด บวม บริเวณที่ได้รับแรงกระแทก อาจมีอาการกระดูกผิดรูป คอ งอ ร่วมด้วย ในรายที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง อาจพบแผลเปิดร่วมกับกระดูกหัก ซึ่งเป็นภาวะกระดูกหักที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากพบผู้ได้รับบาดเจ็บและคาดว่ามีกระดูกหัก ควรรีบไปโรงพยาบาลหรือแจ้งหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อขอความช่วยเหลือในการเคลื่อนย้านผู้ป่วย

ข้อปฏิบัติในการปฐมพยาบาลเมื่อกระดูกหัก

  1. กรณีกระดูกหักแบบปิด ให้พยุงกระดูกส่วนที่บาดเจ็บอยู่กับที่ ห้ามขยับให้มากที่สุด ด้วยการให้วางอวัยวะนั้นๆ บนแผ่นไม้ หรือหนังสือที่มีความหนา และใช้ผ้าพันยึดไว้เป็นการดามแบบชั่วคราว กรณีที่เป็นมือหรือปลายแขน หลังดามแล้วให้ใช้ผ้าคล้องคอเข้าช่วยให้ขยับแขนน้อยลง  
  2. กรณีกระดูกหักแบบเปิด ให้ทำความสะอาดแผลเช่นเดียวกับแผลเลือดออกเยอะ เเล้วห่อบริเวณที่กระดูกทิ่มทะลุออกมาด้วยผ้าชุบน้ำ และกดซ้ำให้แน่นด้วยผ้าสะอาดนาน 10-15 นาที จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อกระดูกหัก

ห้ามจัด หรือดึงกระดูกให้เข้าที่เองไม่ว่ากระดูกนั้นจะโก่ง บิด หรือคด เพราะอาจเสี่ยงให้เส้นประสาทและหลอดเลือดฉีกขาดได้ และทำการตรวจสอบให้แน่ใจว่าภาวะกระดูกหักที่เกิดเหตุนั้น สามารถเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุโดยไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

9. ปฐมพยาบาลเมื่อเป็นลม

อาการเป็นลม หรือภาพที่เห็นว่าผู้ป่วยหมดสติชั่วคราวชั่วคู่ ประมาณ 1 – 2 นาที และฟื้นกลับมาเป็นปกติ เกิดจากภาวะเลือดเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ โดนเฉพาะในวันที่อากาศอบอ้าว หรือมีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ เช่น หิวข้าว, ร่างกายเหนื่อยล้า, อดนอน, อารมณ์ความเครียด, กลัว, ตกใจ เป็นต้น 

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเป็นลม

  1. เมื่อพบผู้ป่วยเป็นลม ให้จัดท่าทางในท่านอนหงาย ราบ ให้ศีรษะต่ำกว่าตัวเล็กน้อย เพื่อให้โลหิตไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ตามด้วยการปลดเข็มขัด กระดุมเสื้อ และเสื้อผ้าส่วนอื่นที่อาจรัดแน่นจนขัดขวางทางเดินหายใจ ใช้ผ้าเย็นๆ เช็ดหน้า คอ และแขนขา หากผู้ป่วยฟื้นขึ้น อย่าเพิ่งให้ลุกขึ้น ควรนั่งพักอีก 15 – 20 นาที 
  2. หากผู้ป่วยไม่ฟื้นภายในเวลา 1 นาที หรือเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย พูดไม่เป็นคำ แขนชา เดินโซเซ อาเจียน ให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล 

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อเป็นลม

เปิดพื้นที่ให้ผู้ป่วยหายใจได้โดยสะดวก ห้ามเขย่าตัว หรือตะโกนใส่ ขณะที่ผู้ป่วยยังไม่ได้สติห้ามให้น้ำ อาหาร หรือนำสิ่งของแปลกปลอมเข้าปากโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการสำลักอุดกั้นทางเดินหายใจได้

10. ปฐมพยาบาลเมื่อเป็นลมแดด (ฮีทสโตรก)

ฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ยิ่งเสี่ยงลมแดด โรคฮีทสโตรกเกิดจากกลไกของร่างกายเสียสมดุลไปจากอุณหภูมิเดิม อากาศที่ร้อนมากส่งผลต่อระบบสมองและการไหลเวียนโลหิต ผู้ป่วยมักมีอาการ หน้าแดง หายใจเร็ว หายใจถี่ วิงเวียนศีรษะ กระหายน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ความรู้สึกตัวลดลง หน้ามืด และอาจหมดสติในที่สุด

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อเป็นลมแดด (ฮีทสโตรก)

  1. กรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัว ให้นำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม และดื่มน้ำมากๆ ปลดเข็มขัดและคลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก พร้อมกับลดอุณหูมิร่างกายอย่างรวดเร็วด้วยการใช้ผ้าห่อน้ำแข็งห่มตัว และประคบน้ำแข็งลงบน หลัง คอ รักแร้ และข้อพับ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นน้ำแข็ง เช็ดใบหน้า ลำตัว ท้ายทอยไปจนทั่วลำตัว ร่วมกับการเปิดพัดลมช่วยระบายอากาศ
  2. กรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว หยุดหายใจ หรือหายใจเฮือกต้องเร่งทำ CPR และรีบเรียกรถพยาบาลโดยทันที

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อเป็นลมแดด (ฮีทสโตรก)

หากพบผู้ป่วยฮีทสโตรก อย่ารีรอที่จะนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาล เพราะอาจทําให้อวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ปอด หัวใจ และอวัยวะอื่นๆ บวม กลายเป็นความเสียหายถาวรจนถึงแก่ชีวิตได้

การปฐมพยาบาลคนหมดสติ ด้วยการ CPR

11. การปฐมพยาบาลคนหมดสติ ด้วยการ

การ CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation เป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยหากสมองขาดออกซิเจนไปเกิน 4 นาที ผู้ป่วยอาจได้รับความเสียหายและถึงแก่ชีวิตได้ ก่อนเริ่มขั้นตอนให้ตรวจสอบการหายใจของผู้ป่วย โดยการก้มหน้าฟังเสียงบริเวณจมูกและปาก พร้อมสังเกตการยุบตัวของหน้าอก หากพบว่าผู้ป่วยไม่หายใจและไม่ได้สติแล้ว ให้คนรอบข้างติดต่อทีมแพทย์ฉุกเฉินหรือกู้ภัย แจ้งอาการของผู้ป่วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่มาพร้อมกับเครื่อง AED และเริ่มทำ CPR ทันที 

วิธีปฐมพยาบาลคนหมดสติ ด้วยการ CPR

  1. จัดท่าทางให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง ดันหน้าผาก ยกคางของผู้ป่วยขึ้นเพื่อตรวจสอบการหายใจอีกครั้ง 
  2. ผู้ทำ CPR นั่งคุกเข่าข้างลำตัวผู้ป่วยที่ระดับไหล่ แบมือข้างหนึ่งแล้ววางลงตรงกลางกระดูกหน้าอกระดับเดียวกับหัวนมโดยเน้นนำหนักลงที่อุ้งมือ และวางมืออีกข้างทับพร้อมกรับประสานนิ้วลงมือด้านล่าง เหยียดแขนตรงตลอด แล้วโน้มตัวตั้งฉากกับผู้ป่วย และเริ่มกดหน้าอกได้
  3. ผู้ CPR ต้องกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100 - 120 ครั้งต่อนาที สามารถกดตามจังหวะเพลง You’re Losing Me ของ Taylor Swift’s หรือ ROCKSTAR ของลิซ่าได้ โดยเมื่อทำครบ 30 ครั้งให้สลับไปเป่าปาก และทำซ้ำจนกว่าเจ้าหน้าที่กู้ชีพ หรือทีมแพทย์จะมาถึง หากพบว่าอัตราการกดหน้าอกที่ทำได้ลดลง สามารถสลับคนมาช่วย CPR ต่อได้ 

ข้อห้ามปฏิบัติเมื่อทำ CPR

ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าภายในปากของผู้ป่วยไม่มีสิ่งแปลกปลอม ขณะเดียวกันห้ามใช้ผ้า หรือช้อนงัดปากผู้ป่วย เพราะอาจเข้าไปอุดตัน หรือขวางช่องทางหลอดลม 

ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน ผู้ที่อยู่ใกล้ผู้ประสบเหตุมักมีส่วนสำคัญในการช่วยชีวิต และเพิ่มโอกาสรอดให้สูงมากขึ้น สิ่งสำคัญคือความมีสติ และใช้ความรู้เบื้องต้นในการปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีให้แก่ผู้ประสบเหตุ หากต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน โทร 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ฉุกเฉิน ชั้น 1 โรงพยาบาลวิมุต 
24 ชั่วโมง หรือ โทร. 0-2079-0191
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ.ราม บรรพพงษ์ (เวชศาสตร์ฉุกเฉิน)

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ภัยเงียบช่วงหน้าร้อนที่ต้องระวัง

อาการโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก คือ หน้ามืด วิงเวียน ปวดศีรษะ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็วขึ้น หรือช็อก เกิดจากการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ทำความรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นและหาวิธีป้องกันไปพร้อมกันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
หน้ามืด เป็นลม หมดสติ อาการอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม !

ใครที่มักมีอาการหน้ามืด วูบ เป็นลม หมดสติบ่อยๆ ต้องระวัง! เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าสุขภาพคุณกำลังมีปัญหาที่ต้องรีบดูแล ชวนคุณมาดูอาการหน้ามืดเป็นลมเกิดจากอะไรได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม