"ตากุ้งยิง " สาเหตุการเกิด และแนวทางการรักษา

17 มิ.ย. 67  | ศูนย์จักษุ
แชร์บทความ      

ตากุ้งยิง

“ตากุ้งยิง” ตุ่มหนองบริเวณเปลือกตาเกิดจากอะไร หายเองได้ไหม ?

ตากุ้งยิงเป็นโรคที่พบบ่อยในวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ หลายคนคงรู้จักกันในลักษณะอาการที่พบก้อนนูนที่บริเวณเปลือกตา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเจ้าก้อนนูนๆ นี้สร้างความรำคาญให้ผู้ป่วยอยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจะมีผลต่อรูปลักษณ์และบุคลิกภาพแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการระคายเคืองร่วมกับมีอาการเจ็บปวดบริเวณรอบๆ ตา จนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความมั่นใจได้ วันนี้เรามาดูกันว่าสาเหตุของตากุ้งยิงเกิดจากอะไรบ้าง และเมื่อเป็นแล้วจะมีวิธีรักษาโรคนี้ได้อย่างไร

ตากุ้งยิง (Hordeolum) เกิดจากอะไรได้บ้าง

โรคตากุ้งยิง เกิดจากต่อมไขมันที่เปลือกตาอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อที่พบบ่อยคือ สแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ตามผิวหนังของเราในภาวะปกติ แต่ถ้าเข้าไปในต่อมไขมันหรือบาดแผล อาจจะทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนังซึ่งมาจากปัจจัยกระตุ้นหลายอย่างร่วมด้วย ดังนี้ 

  • การสัมผัสดวงตาด้วยมือที่ไม่สะอาด 
  • การใส่คอนแทคเลนส์
  • ใช้เครื่องสำอางที่ไม่สะอาด หรือล้างเครื่องสำอางไม่หมด 
  • เคยมีประวัติเป็นตากุ้งยิงมาก่อน 
  • ภาวะที่ภูมิคุ้นกันของร่างกายลดลง 
  • โรคเปลือกตาอักเสบเรื้อรัง

โรคตากุ้งยิงมีอาการ

โรคตากุ้งยิง มีลักษณะอาการเริ่มต้นที่สังเกตได้ยังไงบ้าง?

อาการตากุ้งยิงมักเกิดบริเวณเปลือกตาด้านบนและเปลือกตาด้านล่าง ซึ่งสามารถสังเกตอาการเริ่มต้นได้ ดังนี้

  • มีอาการเจ็บๆ คันๆ บริเวณเปลือกตา
  • รู้สึกปวดและบวมแดงบริเวณเปลือกตา 
  • เริ่มเห็นเป็นหัวฝี หรือหัวหนองภายใน 4-5 วัน มีอาการเจ็บปวดตรงที่เป็นตุ่มหนอง

อาการตากุ้งยิงที่รุนแรงต้องมาพบแพทย์

หากปล่อยให้มีอาการตากุ้งยิงเป็นเวลานานและไม่รีบทำการรักษา ในบางกรณีจะทำให้เกิดการอักเสบลุกลามไปยังเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง และขยายออกไปทั้งเปลือกตา หรืออาจลุกลามเข้าไปในเบ้าตาได้ ดังนั้น หากมีอาการรุนแรงจำเป็นต้องปรึกษาจักษุแพทย์โดยเฉพาะเพื่อความปลอดภัย ซึ่งอาการที่สังเกตได้มี ดังนี้

  • อาการบวมแดงของเปลือกตากินบริเวณกว้างขึ้น
  • มีอาการปวดบวมอย่างหนักบริเวณเปลือกตา
  • อาการติดเชื้อมีหนองขนาดใหญ่
  • เกิดอาการตาพร่า มองเห็นได้ไม่ชัดเจน
  • มีไข้

วิธีการรักษาตากุ้งยิง กี่วันหาย หายเองได้ไหม?

โรคตากุ้งยิงหากไม่มีอาการรุนแรงมักจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ แต่อาจมีร่องรอยการอักเสบหรือพังผืดเหลือไว้ หากไม่มั่นใจก็สามารถมาพบแพทย์ได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการระยะแรกๆ ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการรักษาจะมี ดังนี้

  1. ในระยะแรกแพทย์จะแนะนำให้ประคบอุ่นและทำความสะอาด เพื่อกระตุ้นให้ต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาเปิดตัว ช่วยระบายไขมันที่อุดตัน
  2. แพทย์อาจสั่งยาหยอดตาและยาป้ายตา รวมถึงยาฆ่าเชื้อแบบรับประทาน
  3. หากมาพบแพทย์ในระยะที่มีตุ่มหรือหนองเกิดขึ้นแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้เจาะหนองออก และให้ยาปฏิชีวนะต่อไปอีกตามสมควร

วิธีการรักษาตากุ้งยิง

วิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นเมื่อเป็นตากุ้งยิง

อย่างที่กล่าวไปว่าโรคตากุ้งยิงสามารถหายเองได้ แต่ควรให้ความสำคัญกับวิธีรักษาตากุ้งยิงด้วยตัวเองในเบื้องต้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ให้หายเร็วขึ้นได้ ดังนี้ 

  1. ใช้เจลประคบอุ่น ประมาณ 40 องศาเซลเซียสประคบวันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-20 นาที 
  2. รักษาความสะอาดของดวงตา และผิวหน้า งดเลนส์สัมผัส
  3. ไม่ใช้มือสัมผัสบริเวณดวงตาโดยตรง แม้ว่าจะล้างสะอาดแล้วก็ตาม
  4. ไม่สัมผัส หรือพยายามบีบหนองออกด้วยตนเอง
  5. งดการใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตา ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบำรุงผิวหรือเครื่องสำอาง

ถึงแม้ว่าตากุ้งยิงจะไม่ใช่โรคติดต่อหรือมีอาการร้ายแรงถึงชีวิต แต่หากป้องกันโรคได้ย่อมดีกว่าการรักษา ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรค แต่ทั้งนี้ใครที่มีอาการคล้ายจะเป็นตากุ้งยิง หรือมีอาการระคายเคืองตา รู้สึกปวดบวม ให้รีบมาพบจักษุแพทย์โดยเร็วเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อลุกลามจนเกิดเป็นตุ่มหนองที่รักษายากขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์จักษุ ชั้น 5  โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08:00-20:00  น. โทร. 0-2079-0058
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
พญ.จิรนันท์
ทรัพย์ทวีผลบุญ
จักษุแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เบาหวานขึ้นตา ตรวจรักษา…ก่อนสูญเสีย

เบาหวานขึ้นตา ภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยเบาหวานที่อาจเสี่ยงถึงขั้นตาบอดได้! มาสังเกตอาการเริ่มต้น ระยะของอาการ พร้อมแนวทางการป้องกันและวิธีการรักษาที่รู้ก่อน… รักษาได้

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ตรวจตาเด็กก่อนวัยเรียน สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

การตรวจตาเด็กก่อนวัยเข้าเรียน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะการมองเห็นมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก มาดูกันว่าการตรวจสุขภาพตาของเด็กจะต้องตรวจอะไรบ้าง และตรวจเพื่อหาความผิดปกติอะไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ตาพร่า ตามัว ตาฟาง ต้องระวัง 4 โรคต้อในตานี้!

โรคต้อในตา ทั้งต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน หรือต้อกระจก ต่างมีอาการและสาเหตุการเกิดที่ต่างกัน เราชวนคุณมาสังเกตอาการเพื่อดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะสูญเสียการมองเห็น

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
บอกลาแว่นคู่กาย ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วยการทำเลสิก!

รวมสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจทำเลสิก! เลสิกแก้ปัญหาสายตาแบบใดได้บ้าง เลสิก มีกี่แบบ มีวิธีเตรียมตัวก่อนทำและดูแลตัวเองหลังทำเลสิคอย่างไร ตามมาหาคำตอบได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม