สลักเพชรจม ปวดสะโพก! อาการใกล้ตัวจากพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ

17 ต.ค. 67  | ศูนย์กระดูกและข้อ
แชร์บทความ      


“สลักเพชรจม” หรือทางการแพทย์เรียกว่า “ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท” หลายคนอาจไม่คุ้นหรือยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะที่กระดูกและกล้ามเนื้อสะโพกเกิดการบาดเจ็บ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมักจะมาพร้อมอาการปวดสะโพกร้าวลงขา โดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศที่ต้องนั่งทำงานนานๆ ไม่มีการขยับเขยื้อนร่างกาย พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น! หากปล่อยไว้นานยิ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ลองมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุ อาการ พร้อมท่าบริหารร่างกาย เพื่อให้สามารถบรรเทาอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ! 

สาเหตุของโรคสลักเพชรจมเกิดจากอะไร?
สลักเพชรจม หรือภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis Syndrome) เกิดจากกล้ามเนื้อสลักเพชร Piriformis Muscle หรือกล้ามเนื้อขนาดเล็กที่อยู่บริเวณก้นและสะโพก ที่ทำหน้าที่ช่วยให้ต้นขาสามารถเคลื่อนไหวตามอริยาบทต่างๆ เกิดภาวะตึงและหดเกร็งจากการใช้งาน จนไปกดทับเส้นประสาท Sciatic Nerve จึงทำให้การส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อขาผิดพลาด และกลายเป็นอาการปวดสะโพกร้าวลงขา หรือบางคนอาจมีอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วย

เช็ก! อาการเสี่ยงที่เข้าข่ายโรคสลักเพชรจม!
หากคุณกำลังเผชิญกับอาการปวดสะโพกอยู่ ลองมาเช็กอาการร่วมอื่นๆ ที่อาจเป็นสัญญาณนำไปสู่โรคสลักเพชรจมได้ดังนี้  

  • ปวดหลังช่วงล่าง ปวดสะโพกร้าวลงขา 
  • รู้สึกปวดลึกๆ ที่บริเวณก้นกบ กล้ามเนื้อก้น หรือสะโพก
  • มักมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อนั่งนานๆ หรือเดินนานๆ 
  • มีอาการปวดมากขึ้นเมื่อยืดกล้ามเนื้อ
  • กล้ามเนื้อบริเวณสะโพกเคลื่อนไหวได้น้อยลง 
  • มักมีอาการปวดแบบเป็นๆ หายๆ 

5 ท่าบริหารสลักเพชรจม ลดอาการปวดสะโพก ยืดกล้ามเนื้อ!
การทำท่าบริหารหรือทำกายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อสลักเพชรให้มีความยืดหยุ่น แข็งแรงขึ้น ลดอาการเจ็บปวดได้ดี มาดูไปพร้อมกันว่าสามารถทำได้อย่างไรบ้าง 

ท่าที่ 1 : นอนตะแคงข้าง จากนั้นกางขาข้างหนึ่งขึ้นโดยให้นิ้วเท้าชี้ไปด้านหน้า ยกขาค้างไว้ 10 วินาที แล้วทำซ้ำ 3 เซต แล้วจึงสลับไปทำอีกข้างหนึ่ง  
ท่าที่ 2 : นอนหงายแล้วงอเข่าซ้ายไขว้ไปข้างขวา ขาขวาเหยียดตรง จากนั้นยื่นมือขวาไปจับเข่าซ้าย แล้วค่อยๆ ยืดกล้ามเนื้อขาไปทางด้านขวา ค้างไว้ 10 วินาที แล้วทำซ้ำ 3 เซต จากนั้นจึงสลับไปทำอีกข้าง 
ท่าที่ 3 : นอนหงายแล้วงอเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง จากนั้นพักข้อเท้าของขาขวาไว้บนเข่าของขาซ้าย ดึงต้นขาซ้ายเข้าไปชิดกับหน้าอกประมาณ 15-20 วินาที ทำซ้ำ 3 เซต แล้วเปลี่ยนไปทำอีกข้างหนึ่ง 
ท่าที่ 4 : ยืนตัวตรงที่บริเวณข้างโต๊ะ และงอเข่าขวาวางไว้บนโต๊ะ จากนั้นยืดกล้ามเนื้อด้วยการยื่นมือทั้ง 2 ข้างไปจับที่ขอบโต๊ะ แล้วเอนตัวไปด้านหน้าเพื่อเพิ่มองศาการยืด ค้างไว้ประมาณ 20 วินาที แล้วทำซ้ำ 3 เซต จากนั้นจึงยกขาอีกข้างสลับขึ้นมาทำ 
ท่าที่ 5 : ให้นวดบริเวณกล้ามเนื้อสลักเพชร โดยใช้ลูกเทนนิสวางไว้ที่พื้นแล้วนั่งทับให้ตรงกับบริเวณแก้มก้น จากนั้นนวดคลึงไปมาเบาๆ เพื่อคลายกล้ามเนื้อ 

วิธีการรักษาโรคสลักเพชรจม
โรคสลักเพชรจมหรือกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทสามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละคน โดยวิธีการรักษาสลักเพชรจมมีดังนี้

  • รักษาด้วยการใช้ยา
    หากผู้ป่วยมีอาการปวดที่ไม่รุนแรงแพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาแก้ปวด หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อประคับประคองอาการพร้อมกับแนะนำให้บริหารกล้ามเนื้อร่วมด้วย 

  • การทำกายภาพบำบัด
    การทำกายภาพบำบัดจะช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อสลักเพชรให้มีความยืดหยุ่นและแข็งแรงขึ้น ทั้งยังช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ โดยใช้วิธีการยืดและนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ หรือใช้เครื่องมือไฟฟ้าทางการแพทย์โดยตรง เช่น คลื่นอัลตราซาวด์ เครื่องมือ Shock Wave เป็นต้น 

  • การฉีดสเตียรอยด์
    แพทย์จะทำการฉีดสเตียรอยด์ให้ผู้ป่วย เพื่อให้กล้ามเนื้อสลักเพชรคลายตัว ซึ่งวิธีการนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดสลักเพชรรุนแรง และไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาหรือการทำกายภาพบำบัด 

  • การรักษาด้วยการผ่าตัด
    การผ่าตัดรักษาสลักเพชรจมเป็นวิธีที่แพทย์จะใช้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่หาย ซึ่งเป็นการผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อแผลหรือกล้ามเนื้อบริเวณที่กดทับเส้นประสาทออก ซึ่งจะช่วยให้อาการปวดสะโพกหายขาดได้ 

    จะเห็นได้ว่าอาการสลักเพชรจมหรือกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท เป็นอาการปวดสะโพกที่บั่นทอนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก แต่เรายังสามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อลดโอกาสเกิดโรคได้ เช่น ออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ โดยเน้นช่วงสะโพก ก้น และเอว ไม่นั่งหรือเดินนานเกินไป และปรับท่านั่งให้เหมาะสม เป็นต้น แต่หากพบว่ามีอาการน่าสงสัยดังที่กล่าวไปข้างต้น แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์กระดูกและข้อ ชั้น 4  โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08:00 - 20:00  น. โทร. 0-2079-0060
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ.สมยศ ปิยะวรคุณ แพทย์ผู้ชำนาญการข้อเข่าและสะโพกเทียม

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.สมยศ
ปิยะวรคุณ
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านข้อเข่าและสะโพก

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ข้อเท้าแพลง รับมืออย่างไร

ข้อเท้าแพลง คือการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ที่เกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกเกินช่วงการเคลื่อนไหวปกติ ทำให้เอ็นบริเวณข้อเท้าเกิดการยืดออกมากจนเกินไป การบาดเจ็บมักเกิดบริเวณข้อเท้าด้านนอก หากรุนแรงมาก อาจส่งผลให้เอ็นเกิดการฉีดขาด มีอาการปวด บวม และสูญเสียความมั่นคงของข้อเท้า

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ปัจจัยทำ ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

คุณเคยไหม ที่รู้สึกปวดเข่า เมื่อต้องขึ้นลงบันได หรือ มีเสียงดังก๊อบแก๊บที่เข่าเวลาเดิน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมมีอยู่มากมาย แต่วันนี้ขอนำเอาปัจจัย 5 ข้อสำคัญๆ ที่มีผลมากที่สุด มาให้ความรู้กันครับ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ระวังภัยร้ายจาก Work from home syndrome ถามหา

ถึงสถานการณ์จะกลับมาคลี่คลายแล้ว แต่หลายบริษัทยังคงให้ Work From Home อยู่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการทำงานจากบ้านที่ดูเหมือนจะสบายนั้น อาจสร้างปัญหาสุขภาพได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ทำอย่างไร เมื่อข้อไหล่ติด รบกวนชีวิตประจำวัน

ข้อไหล่ติด ปวดไหล่ ขยับไหล่แล้วเจ็บ หรือขยับไหล่ได้น้อยลงจนหลายคนใช้ชีวิตลำบาก วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสาเหตุ อาการและวิธีรักษาข้อไหล่ติดโดยไม่ต้องผ่าตัดมาฝากกัน

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง