ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายต่อชีวิตที่คุณแม่ต้องระวัง

27 พ.ค. 67  | ศูนย์สูตินรีเวช
แชร์บทความ      

ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายต่อชีวิตที่คุณแม่ต้องระวัง

“ครรภ์เป็นพิษ” ถือว่าเป็นภาวะที่น่ากลัวและอันตรายมากสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ โดยภาวะนี้มีอุบัติการณ์การพบเจอทั่วโลกได้ถึง 2-4% อีกทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 9% ของการเสียชีวิตของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ในเอเชียอีกด้วย ดังนั้น ในบทความนี้เราชวนว่าที่คุณแม่และคุณแม่ตั้งครรภ์มาคอยสังเกตอาการของครรภ์เป็นพิษว่ามีอาการอย่างไร พร้อมข้อมูลเกี่ยวกับภาวะนี้เพื่อดูแลตัวเองและป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษนี้กัน

ครรภ์เป็นพิษคืออะไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร ?

ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งภาวะนี้เป็นความผิดปกติในกลุ่มโรคของภาวะความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ โดยอาจมีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของรกขณะที่เข้าไปฝังตัวในเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้เซลล์รกบางส่วนพัฒนาไม่สมบูรณ์และขาดออกซิเจน โดยเมื่อเซลล์รกขาดออกซิเจนจะปล่อยสารบางอย่างและกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายคุณแม่ โดยเฉพาะกับเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดที่หดตัวอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้คุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูงขึ้นได้นั่นเอง

นอกจากนี้ ภาวะครรภ์เป็นพิษยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ การตั้งครรภ์แฝด ตั้งครรภ์ขณะอายุมาก หรือกลุ่มโรคประจำตัวที่คุณแม่เป็นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน กลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โรคไทรอยด์ โรคไต หรือเคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษก่อนหน้านี้ เป็นต้น 

สัญญาณและอาการที่อาจแสดงว่ามีภาวะครรภ์เป็นพิษ

1. ความดันโลหิตสูง

สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษ มักจะไม่มีอาการใดๆ ให้สังเกตมาก แต่มักจะตรวจพบความดันโลหิตสูงในระหว่างการนัดตรวจฝากครรภ์ โดยจะพบว่า

  • ความดันโลหิตที่มีค่าตัวบนและล่างมากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท ถือว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ จำเป็นต้องได้รับการรักษาและเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด
  • ความดันโลหิตที่มีค่าตัวบนและล่างมากกว่า หรือเท่ากับ 160/110 มม.ปรอท ถือว่าเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษชนิดรุนแรงที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

ภาวะครรภ์เป็นพิษ

2. ปัสสาวะมีฟองมากผิดปกติ

เนื่องจากภาวะครรภ์เป็นพิษส่งผลต่อระบบการไหลเวียนของโลหิตและการทำงานของเยื่อบุหลอดเลือดทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ไตไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการรั่วไหลของโปรตีนไข่ขาวปนออกมากับปัสสาวะได้ จึงทำให้สังเกตได้ว่าปัสสาวะเป็นฟองเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

3. ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน

เนื่องจากความดันโลหิตที่สูงมากขึ้นจะทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดหัวได้ โดยเฉพาะบริเวณหน้าผากและท้ายทอย ซึ่งอาการปวดหัวนี้มักจะไม่ลดลงแม้ว่าจะรับประทานยาแก้ปวดแล้วก็ตาม 

4. ตาพร่า ตาเบลอ

เพราะครรภ์เป็นพิษสัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตสูงและการไหลเวียนเลือดที่ไม่ดีเท่าที่ควร โดยจะส่งผลต่อระบบประสาทและการมองเห็น ซึ่งทำให้มีอาการมองไม่ชัด ตาพร่า ตาเบลอ มุมการมองเห็นแคบลง หรือเห็นจุดมืดดำได้

5. หน้าบวม แขนบวม เท้าบวม

โดยปกติแล้วอายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้คุณแม่มีอาการมือบวม เท้าบวมได้เป็นปกติ แต่ในกรณีของอาการครรภ์เป็นพิษจะพบอาการบวมที่ผิดปกติมากขึ้นได้ทั่วร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหน้าและมือ ซึ่งลักษณะอาการบวมที่เสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษจะพบว่าเมื่อกดผิวลงแล้วจะบุ๋มนาน ไม่คืนตัวอย่างรวดเร็ว บางคนกดแล้วบุ๋มนานครึ่งชั่วโมง หรือเป็นชั่วโมงได้

6. จุกแน่นลิ้นปี่ หรือท้องช่วงบนใต้ซี่โครงด้านขวาและหายใจลำบาก

การไหลเวียนเลือดที่ไม่มีประสิทธิภาพจะทำให้ตับทำงานแย่ลงและอาจมีเลือดออกที่ตับได้ จึงทำให้คุณแม่มีอาการจุกแน่นท้องบริเวณลิ้นปี่ หรือบริเวณท้องใต้ซี่โครงขวาได้ รวมถึงอาจหายใจได้ลำบากเนื่องจากสารน้ำที่รั่วออกมาจากหลอดเลือดทำให้เกิดน้ำท่วมปอดและหายใจลำบากได้

7. น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปกติแล้วน้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 กก./เดือน แต่ทั้งนี้หากพบว่ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเช็กความเสี่ยงของอาการครรภ์เป็นพิษ
หากพบอาการดังกล่าวนี้ให้รีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะอาจมีโอกาสเสี่ยงต่อชีวิตทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ อย่างไรก็ตามภาวะครรภ์เป็นพิษอาจเกิดขึ้นโดยไม่มีอาการได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นควรไปฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
สุดท้ายนี้แม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีการป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษในหญิงที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การรับประทานยาแอสไพรินในช่วงสัปดาห์ที่ 12 จนถึงสัปดาห์ที่ 36 แต่ทั้งนี้คุณแม่ที่ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ก็อาจเกิดภาวะเสี่ยงครรภ์เป็นพิษได้ ควรต้องหมั่นสังเกตอาการ ฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอและหากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ 
ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0066  
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
พญ.พรรณลดา
ฉันทศาสตร์รัศมี
สูตินรีแพทย์
Card Image
นพ.กษิติ
เที่ยงธรรม
สูตินรีแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยานรีเวช

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?

ใกล้เวลาได้พบเจอกัน แต่คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง กับสิ่งที่ต้องเจอหลังคลอดลูก ที่นี่เราได้รวมข้อมูลเพื่อคุณแม่มือใหม่มาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้จริงไหม จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
4 มะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง

เช็กให้ชัวร์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคน กับ 4 มะเร็งร้ายทำลายชีวิต ที่สาวๆ ต้องหมั่นสังเกต พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิงปี 2567 ราคาพิเศษจาก รพ. วิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ก้าวสู่ชีวิตคู่อย่างมั่นใจ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน”

เริ่มต้นชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน กับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่และต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม