กระดูกสันหลังคด ความผิดปกติที่รักษาได้

11 พ.ย. 67  | ศูนย์กระดูกและข้อ
แชร์บทความ      

กระดูกสันหลังคด

‘กระดูกสันหลังคด’ เป็นอีกโรคที่รู้เร็ว รักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ผู้คนกลับไม่ตระหนักถึงภัยร้าย นั่นเพราะมองเห็นว่าเป็นเพียงสรีระภายนอกไม่มีอาการเจ็บปวดในระยะแรก แต่ความเป็นจริงแล้วกระดูกสันหลังจะค่อยๆ คดไปอย่างช้าๆ หากปล่อยไว้นานวันนอกจากจะเสียบุคลิก ไหล่ไม่เท่ากัน กระดูกสะบักนูน สะโพกเอียงแล้ว ยังมีโอกาสที่กระดูกซี่โครงกดทับปอดและหัวใจจนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไปจนถึงจนกดเบียดเส้นประสาทในที่สุด

รู้จักโรคกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ ภาวะที่กระดูกสันหลังเกิดการผิดรูปไปจากแนวกระดูกสันหลังปกติ จากที่เคยโค้งงอไปด้านหน้าและหลังเล็กน้อย กลายเป็นโค้งงอ บิดเบี้ยวไปทางด้านข้าง ตั้งแต่ 10 องศาขึ้นไป ซึ่งจัดว่าเป็นสัญญาณเตือนที่ต้องเข้ารับการรักษาในระดับเริ่มต้น ส่งผลให้ไหล่ เอว สะโพกไม่เท่ากัน เสียสมดุลการทรงตัวและส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต พบได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นที่กำลังมีการเจริญเติบโต หากปล่อยไว้แนวกระดูกสันหลังอาจเอียงผิดรูปมากขึ้น เบียดให้ทรวงอกมีพื้นที่เล็กลง กระทั่งขัดขวางการทำงานของปอดและหัวใจในระยะยาว

ปวดหลัง บ่าเอียง สะบักนูน เช็กก่อน! ชวนสังเกตกระดูกสันหลังคดได้ด้วยการก้มตัวไปด้านหน้า และเช็กความนูนของกระดูกสันหลังว่า 2 ด้าน อยู่ในระนาบเดียวกันหรือไม่ หากเห็นความโก่งนูนของกระดูกสันหลัง สะบัก 2 ข้าง ไม่เท่ากันนับเป็นความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์

กระดูกสันหลังคดมีสาเหตุเกิดจากอะไร

  • ความผิดปกติของการเจริญเติบโตกระดูกสันหลังแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่ช่วงที่ร่างกายของทารกกำลังขณะอยู่ในครรภ์ อาจเป็นการสร้างของกระดูกสันหลังที่ไม่แยกจากกัน หรือกระดูกสันหลังสร้างเพียงด้านเดียว ส่งผลให้เกิดกระดูกสันหลังมีความคดงอมาตั้งแต่กำเนิด นับเป็นความผิดปกติที่ต้องรีบเข้ารับการรักษา
  • ความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Scoliosis) เกิดจากโรคทางระบบประสาท หรือกล้ามเนื้อของผู้ป่วยที่ผิดปกติ ส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดความไม่สมดุลและกลายเป็นภาวะกระดูกสันหลังคด พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เคยมีอาการสมองขาดเลือดตั้งแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยกล้ามเนื้อโตมากกว่าปกติ และกลุ่มที่มีกล้ามเนื้อกระดูกสันหลังฝ่อลีบ
  • ความเสื่อมของข้อกระดูก (Degenerative Scoliosis) พบได้มากในกลุ่มผู้สูงวัยที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด เกิดจากความเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังด้านซ้ายและขวาที่ใช้มาเป็นเวลานานทรุดตัวไม่เท่ากัน สะสมจนกลายเป็นภาวะกระดูกสันหลังคด
  • กระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) มักเป็นสาเหตุที่พบในผู้ป่วยวัยเด็ก โดยไม่มีที่มาและสาเหตุที่แน่ชัด ผู้ป่วยมักไม่ปรากฏความผิดปกติของกระดูก หมอนรองกระดูก หรือกล้ามเนื้อ แพทย์จึงต้องการวินิจฉัยกระดูกสันหลังคดจากความผิดปกติอื่นๆ ข้างต้นก่อน  

นอกจากนี้ยังมีสาเหตุของพฤติกรรมการยกของ หรือแบกของหนักที่ข้างใดข้างหนึ่ง เช่นแม่ค้าที่ไปจ่ายตลาดหิ้วของหนักข้างใดข้างหนึ่ง หรือเด็กนักเรียนสะพายกระเป๋าเป้ข้างเดียว เป็นต้น ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกหลังคดเอียงได้เช่นกัน

วัยไหนกำลังเสี่ยงกระดูกสันหลังคด

แม้กระดูกสันหลังคดจะเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่า แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยไม่เกี่ยงอายุ ตั้งแต่ทารกไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยแต่ละช่วงวัยจะมีภาวะกระดูกสันหลังคดแตกต่างกันไป ดังนี้

  • กลุ่มเด็กเล็ก แรกเกิด - 5 ปี : มักจะเกิดจากปัญหากระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด พบได้ตั้งแต่อายุน้อย และหากพบกระดูกสันหลังคดในกลุ่มเด็กเล็ก จำเป็นต้องหาความผิดปกติภายในร่างกายอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความผิดปกติของไต, ปอด และ หัวใจ เป็นต้นS
  • กลุ่มวัยรุ่น อายุ 10 - 15 ปี : เป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้สูง เด็กจะมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการที่กระดูกเจริญเติบโตขึ้น ส่งผลให้กระดูกสันหลังมีมุมที่เพิ่มมากไปด้วย จึงเป็นเหตุให้พบโรคกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุมากที่สุดในช่วงวัยนี้เอง
  • กลุ่มผู้สูงอายุ หรืออายุกว่า 50 ปีขึ้นไป :  โดยมากแล้วมักเกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกายไปตามวัย ขณะเดียวกันข้อต่อ และหมอนรองกระดูกกลับทรุดตัวไม่เท่ากัน ส่งผลให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดในผู้สูงอายุ มักจะพบภาวะกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทร่วมด้วย 

อาการเบื้องต้นที่สังเกตได้ของโรคกระดูกสันหลังคด

ในรายที่เกิดกระดูกสันหลังคดในเด็กจะไม่มีอาการเจ็บ และปวดแต่อย่างใด แต่จะสังเกตจากสรีระในร่างกายที่ผิดปกติไป คือ ไหล่ไม่เท่ากัน, กระดูกซี่โครง กระดูกสันหลังบิดตัวไป, กระดูกสะบักนูนไม่เท่ากัน, เอวไม่เสมอกัน, สะโพก 2 ข้าง สูงต่ำไม่เท่ากัน, ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง กระดูกสันหลังโค้งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ส่งผลให้ซี่โครงด้านหนึ่งยื่นออกกว่าปกติ จึงสามารถเห็นเป็นก้อนนูนทางด้านหลังได้ชัดเจน ผู้ป่วยอาจมีอาการ หลังค่อม บ่าเอียง ไหล่ตก เดินตัวตรงหรือทรงตัวได้ไม่ดี และปวดหลังเรื้อรังอยู่เสมอ

กระดูกสันหลังคดกระทบสุขภาพโดยรวม

แน่นอนว่าทุกอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมักส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย แถมกระดูกสันหลังคดยังส่งผลต่อบุคลิกภาพและรูปลักษณ์ภายนอกที่อาจทำให้ผู้ป่วยกังวลและไม่มั่นใจในสรีระของตนเอง หากปล่อยไว้เมื่อกระดูกสันหลังเกิดความคดเอียงและทำมุมต่างจากเดิม ร่างกายจะพยายามหาสมดุลด้วยการดึงแกนลำตัวให้ตรง ส่งผลให้กระดูกข้างเคียงคดเอียงจนเกิดเป็นอาการปวดหลังเรื้อรังตามมา ผู้ป่วยต้องเจอกับปัญหากระดูกเสื่อมเร็วกว่าคนทั่วไป อวัยวะข้างเคียงได้รับผลกระทบ ปอดมีพื้นที่ในการขยายได้น้อยลง เหนื่อยได้ง่ายหายใจไม่เต็มที่ หากเป็นกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อมในกลุ่มผู้สูงอายุ อาจจะไปกดเบียดกับเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ ปวดหลัง, ปวดร้าวลงขา, ขาชา, อ่อนแรง เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก

ตรวจหาโรคกระดูกสันหลังคด

เมื่อสังเกตพบว่ามีกระดูกสันหลังคดแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจหาความผิดปกติของกระดูกสันหลังเบื้องต้น วัดความยาวของขาทั้ง 2 ข้าง ตรวจเช็กระดับไหล่ว่าอยู่ในระดับเดียวกันหรือไม่ ตามด้วยการเอ็กซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของกระดูกสันหลัง และหาอาการที่อาจกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงอาจพิจารณาให้ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ การตรวจสแกนคอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพิ่มเติมในกรณีที่ต้องสงสัยว่าจะมีความผิดปกติส่วนอื่นร่วมด้วย เพื่อวางแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

กระดูกสันหลังคดรักษาได้

วิธีรักษากระดูกสันหลังคดทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะประเมินแนวทางการรักษาตามอาการและความคดงอของกระดูก ดังต่อไปนี้ 

  • รักษาโดยไม่ผ่าตัด : หากกระดูกสันหลังคดประมาณ 10 – 30 องศา แพทย์จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัดควบคู่กับการออกกำลังกาย และติดตามผลอยู่เสมอ ในผู้ป่วยกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่กระดูกยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จำเป็นต้องใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) ตลอดทั้งวันเพื่อคงสภาพไม่ให้กระดูกคดงอมากขึ้น จนถึงช่วงที่กระดูกหยุดการเจริญเติบโต แต่หากใส่เสื้อเกราะดัดหลังแล้วกระดูกสันหลังยังมีความคดเพิ่มขึ้นถึง 45 – 50 องศา แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาโดยการผ่าตัดต่อไป
  • รักษาโดยการผ่าตัด : หากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วยังไม่สามารถชะลอความรุนแรงของโรคได้ และผู้ป่วยยังคงมีภาวะกระดูกสันหลังคดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือตรวจพบเมื่ออาการรุนแรงมากแล้ว ซึ่งอาจกระทบต่อระบบประสาท จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง โดยใส่สกรูยึดกระดูกสันหลังในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น และให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่ามีคุณภาพใกล้เคียงกับปกติ

กระดูกสันหลังคดไม่ได้เป็นโรคที่เกิดได้แต่กำเนิด ในวัยรุ่น หรือต้องรอให้กลายเป็นผู้สูงอายุเท่านั้น แต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตเองก็มีส่วนสำคัญที่เสริมให้กระดูกสันหลังของเราเสื่อมก่อนเวลา ป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลังโดยตรง ไม่ยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ลดการนั่งหลังค่อม และปรับท่ายืน เมื่อใดก็ตามที่สังเกตพบความผิดปกติของกระดูกสันหลัง อย่าเพิกเฉยต่ออาการ แนะนำให้รีบเข้ารับคำปรึกษาแพทย์โดยผู้เชียวชาญเพื่อวินิจฉัยแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์กระดูกและข้อ ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต
เวลาทำการ 08:00-20:00  น. โทร. 0-2079-0060 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.ปฐมฉัฐ
พิสิฐวัฒนาภรณ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬา
Card Image
นพ.สมยศ
ปิยะวรคุณ
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านข้อเข่าและสะโพก

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ข้อเท้าแพลง รับมืออย่างไร

ข้อเท้าแพลง คือการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ที่เกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกเกินช่วงการเคลื่อนไหวปกติ ทำให้เอ็นบริเวณข้อเท้าเกิดการยืดออกมากจนเกินไป การบาดเจ็บมักเกิดบริเวณข้อเท้าด้านนอก หากรุนแรงมาก อาจส่งผลให้เอ็นเกิดการฉีดขาด มีอาการปวด บวม และสูญเสียความมั่นคงของข้อเท้า

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ปัจจัยทำ ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

คุณเคยไหม ที่รู้สึกปวดเข่า เมื่อต้องขึ้นลงบันได หรือ มีเสียงดังก๊อบแก๊บที่เข่าเวลาเดิน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมมีอยู่มากมาย แต่วันนี้ขอนำเอาปัจจัย 5 ข้อสำคัญๆ ที่มีผลมากที่สุด มาให้ความรู้กันครับ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ระวังภัยร้ายจาก Work from home syndrome ถามหา

ถึงสถานการณ์จะกลับมาคลี่คลายแล้ว แต่หลายบริษัทยังคงให้ Work From Home อยู่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการทำงานจากบ้านที่ดูเหมือนจะสบายนั้น อาจสร้างปัญหาสุขภาพได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ทำอย่างไร เมื่อข้อไหล่ติด รบกวนชีวิตประจำวัน

ข้อไหล่ติด ปวดไหล่ ขยับไหล่แล้วเจ็บ หรือขยับไหล่ได้น้อยลงจนหลายคนใช้ชีวิตลำบาก วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสาเหตุ อาการและวิธีรักษาข้อไหล่ติดโดยไม่ต้องผ่าตัดมาฝากกัน

อ่านเพิ่มเติม