ข้อเท้าพลิก… อย่าวางใจ! อาการบาดเจ็บใกล้ตัว ที่อาจเป็นปัญหาระยะยาว - โรงพยาบาลวิมุต

28 เม.ย. 68  | ศูนย์กระดูกและข้อ
แชร์บทความ      

ข้อเท้าพลิก แม้จะเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย ไม่ว่าจะเกิดจากการทำกิจกรรม หรือการก้าวพลาดเล็กๆ แต่ก็อาจสร้างความเจ็บปวดและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่น้อย และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม หรือไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง อาการบาดเจ็บจากก้าวเล็กๆ นั้นก็อาจนำไปสู่ปัญหาด้านการเคลื่อนไหวในระยะยาวได้ บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับข้อเท้าพลิกตั้งแต่สาเหตุ อาการสำคัญ พร้อมคำแนะนำในการดูแลรักษาเบื้องต้นจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ข้อเท้าพลิกคืออะไร ? อาการบาดเจ็บเล็กน้อยที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่

ข้อเท้าพลิก (Ankle Sprain) คืออาการบาดเจ็บอย่างเฉียบพลัน อันเนื่องมาจากการที่ข้อเท้าถูกบิดหรือหมุนผิดท่า จนส่งผลให้เนื้อเยื่อและเส้นเอ็นบริเวณข้อเท้าได้รับความเสียหาย เกิดเป็นอาการบาดเจ็บแบบฟกช้ำ จนถึงฉีกขาด โดยอาการข้อเท้าพลิกนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ตามความรุนแรง ได้แก่

  • ระดับเบา (Mild) เส้นเอ็นยืดออกหรือฉีกขาดเพียงเล็กน้อย มีอาการปวดและบวมที่ไม่รุนแรง
  • ระดับปานกลาง (Moderate) เส้นเอ็นฉีกขาดบางส่วน มีอาการปวด บวม และฟกช้ำอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เดินลงน้ำหนักได้น้อย
  • ระดับรุนแรง (Severe) เส้นเอ็นฉีกขาดทั้งหมด มีอาการปวดและบวมอย่างรุนแรง ทำให้ข้อเท้าหลวมและไม่สามารถรับน้ำหนักได้

 

สาเหตุของอาการข้อเท้าพลิกเกิดจากอะไร ?

ข้อเท้าพลิกเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการเคลื่อนไหวที่ผิดพลาดจากการทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เช่น การเล่นกีฬาที่ต้องเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว, การลงน้ำหนักผิดท่าขณะวิ่งหรือกระโดด, การสะดุดขอบทาง, การเดินบนพื้นผิวไม่เรียบ หรือแม้แต่การสวมใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม คับหรือหลวมเกินไป หรือรองเท้าส้นสูง ก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะข้อเท้าพลิกได้ 

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะทางร่างกายบางอย่าง เช่น กล้ามเนื้อข้อเท้าที่อ่อนแรง ก็อาจส่งผลให้ข้อเท้าไม่มั่นคงจนเกิดการบาดเจ็บตามมาได้ง่ายขณะก้าวเดิน

R.I.C.E. วิธีดูแลข้อเท้าพลิกเบื้องต้นที่ทำได้เอง

หากอาการข้อเท้าพลิกไม่รุนแรง ผู้ป่วยสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองทันทีที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติมและช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยวิธีการรักษาเบื้องต้นด้วยหลักการ R.I.C.E. ดังนี้

  • Rest (พักผ่อน) หยุดการใช้งานข้อเท้า โดยไม่เดินหรือวิ่งหลังจากเกิดอาการบาดเจ็บ หรือในช่วงที่มีอาการปวด
  • Ice (ประคบเย็น) ใช้ถุงน้ำแข็งหรือผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณข้อเท้าเป็นเวลา 15 - 20 นาที เพื่อลดอาการบวม
  • Compression (พันผ้า) ใช้ผ้าพันหรืออุปกรณ์พันข้อเท้าเพื่อเพิ่มความมั่นคงและลดการบวม
  • Elevation (ยกข้อเท้าสูง) ยกข้อเท้าขึ้นสูงกว่าระดับหัวใจ เช่น วางบนหมอน เพื่อช่วยลดการบวม

นอกจากนี้ การใช้ยากลุ่มลดอาการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ และหากอาการไม่รุนแรงมาก การทำกายภาพบำบัด เช่น การบริหารกล้ามเนื้อข้อเท้าหรือการเดินเบาๆ หลังอาการทุเลา ก็สามารถช่วยฟื้นฟูความแข็งแรงของข้อเท้าได้ดี

อาการบ่งชี้ภาวะข้อเท้าพลิก… ที่ควรไปพบแพทย์

เมื่อข้อเท้าพลิก อาการที่พบได้บ่อยคืออาการปวดบริเวณข้อเท้า โดยเฉพาะเมื่อเคลื่อนไหวหรือรับน้ำหนัก อาจมีอาการบวม ฟกช้ำ และรู้สึกว่าข้อเท้าหลวม หรือไม่มั่นคง ในกรณีที่ข้อเท้าพลิกอย่างรุนแรง เช่น ข้อเท้าบิดผิดรูป มีอาการบวมแดง หรืออาการปวดที่รุนแรงจนไม่สามารถเดินหรือยืนได้ตามปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

เคล็ดลับป้องกันข้อเท้าพลิก ดูแลตัวเองให้ปลอดภัยในทุกก้าวเดิน

การป้องกันข้อเท้าพลิกสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับกิจกรรมและมีการรองรับข้อเท้าที่ดี หลีกเลี่ยงการเดินหรือวิ่งบนพื้นที่ไม่เรียบ และควรอบอุ่นร่างกายก่อนการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ทั้งนี้ การบริหารกล้ามเนื้อข้อเท้าให้แข็งแรงก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ ดังนี้

  1. การกระดกเท้าขึ้น - ลง บิดเท้า และหมุนข้อเท้าเข้า - ออก รวมทั้งใช้ปลายเท้าวาดตัวอักษร
  2. เกร็งกล้ามเนื้อข้อเท้าค้างไว้ตามทิศทางกระดกขึ้น - ลง หรือเข้า - ออก ประมาณ 5 - 10 วินาที

อาการข้อเท้าพลิก แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัยในชีวิตประจำวัน หลายคนจึงมักมองข้ามจนนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การเรียนรู้วิธีดูแลและป้องกันอาการข้อเท้าพลิกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้คุณสามารถก้าวเดินได้อย่างมั่นใจในทุกย่างก้าว 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์กระดูกและข้อ ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต
เวลาทำการ 08:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0060  
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.ปฐมฉัฐ
พิสิฐวัฒนาภรณ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การกีฬา

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ข้อเท้าแพลง รับมืออย่างไร

ข้อเท้าแพลง คือการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ที่เกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกเกินช่วงการเคลื่อนไหวปกติ ทำให้เอ็นบริเวณข้อเท้าเกิดการยืดออกมากจนเกินไป การบาดเจ็บมักเกิดบริเวณข้อเท้าด้านนอก หากรุนแรงมาก อาจส่งผลให้เอ็นเกิดการฉีดขาด มีอาการปวด บวม และสูญเสียความมั่นคงของข้อเท้า

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ปัจจัยทำ ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

คุณเคยไหม ที่รู้สึกปวดเข่า เมื่อต้องขึ้นลงบันได หรือ มีเสียงดังก๊อบแก๊บที่เข่าเวลาเดิน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมมีอยู่มากมาย แต่วันนี้ขอนำเอาปัจจัย 5 ข้อสำคัญๆ ที่มีผลมากที่สุด มาให้ความรู้กันครับ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ระวังภัยร้ายจาก Work from home syndrome ถามหา

ถึงสถานการณ์จะกลับมาคลี่คลายแล้ว แต่หลายบริษัทยังคงให้ Work From Home อยู่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการทำงานจากบ้านที่ดูเหมือนจะสบายนั้น อาจสร้างปัญหาสุขภาพได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ทำอย่างไร เมื่อข้อไหล่ติด รบกวนชีวิตประจำวัน

ข้อไหล่ติด ปวดไหล่ ขยับไหล่แล้วเจ็บ หรือขยับไหล่ได้น้อยลงจนหลายคนใช้ชีวิตลำบาก วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสาเหตุ อาการและวิธีรักษาข้อไหล่ติดโดยไม่ต้องผ่าตัดมาฝากกัน

อ่านเพิ่มเติม