โรคไข้หูดับ โรคอันตรายที่คนกินหมูสุกๆ ดิบๆ ต้องระวัง !

23 เม.ย. 67  | ศูนย์หู คอ จมูก
แชร์บทความ      

โรคไข้หูดับ โรคอันตรายที่คนกินหมูสุกๆ ดิบๆ ต้องระวัง !

สายลาบหมูดิบ ชาบูและหมูกระทะเลิฟเวอร์ต้องระวัง ! กินหมูดิบ ลวกไม่สุก ใช้ตะเกียบร่วมหมูดิบอาจเสี่ยงหูดับโดยไม่รู้ตัว… เรียกได้ว่าเมื่อไหร่ที่จัดปาร์ตี้ฉลองด้วยชาบู หมูกระทะ หรือจิ้มจุ่ม ลาบ ก้อยทั้งหลาย อาจมีหลายคนต้องเคยได้ยินประโยคแนวๆ นี้อย่างแน่นอน ซึ่งเชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่เกิดความสงสัยไม่น้อยว่ากินหมูดิบ หมูลวกไม่สุก หรือใช้ตะเกียบร่วมกับคีบหมูดิบแล้วจะทำให้หูดับได้อย่างไร บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกัน

ไข้หูดับ เกิดจากอะไร แล้วเกี่ยวข้องกับหมูดิบอย่างไร ?

ไข้หูดับ มีชื่อที่เป็นทางการเรียกว่า ‘โรคติดเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส (Streptococcus Suis)’ เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีหมูเป็นพาหะ โดยเชื้อโรคชนิดนี้มักฝังอยู่ตามทอนซิล โพรงจมูก ทางเดินอาหารและช่องคลอดของหมู ซึ่งเราสามารถติดเชื้อโรคชนิดนี้ได้ผ่านการกินหมูดิบที่มีเชื้อ หมูที่ปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก สารคัดหลั่งของหมูที่มีเชื้อผ่านแผล หรือเยื่อบุต่างๆ ของร่างกาย

ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคไข้หูดับนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนปลายประสาทอักเสบที่ส่งผลให้เกิดความพิการได้ เช่น สูญเสียการทรงตัว สูญเสียการได้ยิน หรือหูหนวก ซึ่งเป็นอาการสำคัญที่ถูกนำมาใช้เรียกเป็นชื่อโรคที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั่นเอง

อาการไข้หูดับ อาการป่วยที่รู้เร็วเสี่ยงหูหนวกได้น้อยลง

โดยปกติแล้วหลังการรับเชื้อ เชื้อจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วันในการฟักตัวและแสดงอาการ แต่โดยส่วนใหญ่อาการเริ่มต้นจะแสดงให้เห็นได้ตั้งแต่ 1-3 วันแรก ดังนี้

  • ไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดเมื่อยตามข้อและปวดเมื่อยตามตัว
  • คอแข็ง
  • ปวดหัว เวียนหัว ทรงตัวไม่ได้
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ซึม อ่อนเพลีย
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • อาจมีจ้ำเลือดตามตัว

เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมองจะทำให้เกิดข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบ และทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ และเพราะเยื่อหุ้มสมองนั้นอยู่ใกล้กับประสาทของหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง ทำให้เชื้อมีโอกาสลุกลาม เกิดหนองที่ปลายประสาทรับเสียงและการทรงตัว ซึ่งทำให้การได้ยินและการทรงตัวลดลง ส่งผลให้อาจเกิดความพิการ เดินเซ เดินไม่ตรง หูตึง หูหนวกได้ และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน

การรักษาโรคไข้หูดับ

สำหรับการรักษาโรคไข้หูดับแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะผ่านทางหลอดเลือดดำ ร่วมกับการรักษาอื่นๆ แบบประคับประคองเพื่อไม่ให้อาการรุนแรง และให้สารอาหารกับเกลือแร่ผ่านทางน้ำเกลือร่วมด้วย

วิธีป้องกันตัวเองจากโรคไข้หูดับ

เนื่องจากเชื้อมีตัวกลางพาหะคือหมู ดังนั้นการป้องกันตัวเองจากโรคไข้หูดับจึงต้องระวังตัวเองจากหมูที่อาจมีเชื้อ ดังต่อไปนี้

  • เลี่ยงการสัมผัสหมูสดและหมูดิบ เพราะหมูสดหรือหมูดิบอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน ก่อนการสัมผัสหมูสดหรือหมูดิบ หมูที่ยังปรุงไม่สุก ควรสวมถุงมือหรือใช้ที่คีบแทนการใช้มือเปล่าๆ สัมผัสโดยตรง
  • ปรุงหมูให้สุก เพื่อฆ่าเชื้อที่แฝงตัวในเนื้อหมูจึงควรปรุงหมูให้สุกก่อนรับประทาน โดยใช้ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที 
  • ไม่ใช้ตะเกียบ หรือช้อนร่วมกับการตักหมูดิบ หรืออุปกรณ์ที่ใช้คีบหมูดิบเดียวกันในการรับประทานอาหาร เพราะเชื้อโรคอาจตกค้างอยู่ที่อุปกรณ์นั้นๆ ได้
  • เลี่ยงการสัมผัสหมูโดยตรง สำหรับผู้ที่ต้องดูแลหมู ควรป้องกันตัวเองจากโรคด้วยการสวมใส่ถุงมือ หน้ากากอนามัย รองเท้าบูททุกครั้งที่ต้องสัมผัสหรือดูแลหมู และหลังสัมผัสหมูควรล้างมือล้างเท้าให้สะอาด และหากมีแผลสดบนร่างกายต้องระวังและป้องกันในการสัมผัสกับหมูเป็นพิเศษมากยิ่งขึ้น
  • ฆ่าเชื้อโรคในฟาร์ม สำหรับฟาร์มหมูที่พบหมูป่วย ควรแยกหมูและทำการกำจัดเชื้อตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

โรคไข้หูดับแม้จะดูเป็นเรื่องไกลตัว พบเจอได้ไม่บ่อย แต่ทว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ง่ายๆ และไม่ระมัดระวังของคนไทย ร่วมกับเมนูอาหารสุกๆ ดิบๆ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคได้ง่ายมากขึ้น อีกทั้งปลายประสาทรับเสียงและการทรงตัวมีเพียงชุดเดียวและไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้หากเกิดความเสียงหาย ทำให้เมื่อติดเชื้อและไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พิการด้านการได้ยินหรือหูหนวกได้ ดังนั้น หากมีไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หลังรับประทานหมูดิบ ควรรีบพบแพทย์ทันที 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08.00-20.00  น. โทร. 0-2079-0050 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางหู คอ จมูก

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ผศ.พญ.กวินญรัตน์
จิตรอรุณฑ์
โสต ศอ นาสิก (Otolaryngology)
นาสิกวิทยาและโรคภูมิแพ้

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เวียนหัว บ้านหมุน เหมือนจะอาเจียน ใช่อาการหินปูนในหูเคลื่อนหรือไม่

โรคหินปูนในหูเคลื่อน อีกหนึ่งสาเหตุยอดฮิตของผู้ที่มักมีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน เสียการทรงตัว เช็กพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคพร้อมวิธีดูแลเมื่อเกิดอาการที่ถูกต้องได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เปลี่ยนท่านอนให้ถูกต้อง ลดปัญหาสุขภาพ หลับสบาย

การนอนท่านอนที่ถูกต้องช่วยเสริมการนอนหลับให้ดีขึ้น ช่วยลดความเจ็บปวดของร่างกายและทำให้หลับลึก หลับสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เช็กท่านอนที่เหมาะสมพร้อมกันที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ภูมิแพ้อากาศ คันจมูก คันตา จามบ่อย มีวิธีรักษายังไงบ้าง?

ตรวจเช็กอาการภูมิแพ้อากาศต่างจากหวัดยังไง คุณกำลังมีอาการภูมิแพ้อากาศหรือไม่? สิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
บ้านหมุน เวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม วิธีแก้ได้อย่างไร?

บ้านหมุน หรืออาการเวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม ทรงตัวไม่อยู่ มีสาเหตุการเกิดได้หลายปัจจัย แต่จะมีวิธีการดูแลหรือแก้ให้รู้สึกดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เรามีคำตอบ

อ่านเพิ่มเติม