เต้านมมีปัญหาเมื่อไหร่ ... ต้องใช้ 3 ตัวช่วย (Triple Assessment)

27 พ.ค. 65  | ศูนย์ศัลยกรรม
แชร์บทความ      

เต้านมมีปัญหาเมื่อไหร่ ... ต้องใช้ 3 ตัวช่วย (Triple Assessment)
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในทุกวันนี้ปัญหาเรื่องเต้านมไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายสักครั้งหนึ่งในชีวิตน่าจะต้องเคยประสบกับปัญหาของเต้านมไม่มากก็น้อย แน่นอนว่าเมื่อเรามีอาการผิดปรกติเกิดขึ้นในเต้านม สิ่งแรกที่ควรทำก็คือการไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล ปัญหาคาใจที่คนส่วนใหญ่มักจะกังวลกันก็คือ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วกว่าจะได้การวินิจฉัยนั้นเราจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง?


สำหรับชีวิตการทำงานของแพทย์นั้น จะว่าไปแล้วในทางปฏิบัติก็คงไม่แตกต่างจากการเป็นนักสืบเท่าไรนัก เนื่องจากคนไข้ทุกรายไม่ได้มาพร้อมกับ tag กระเป๋าระบุโรคที่เป็นแต่อย่างใด กว่าจะได้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องก็ต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูล การตรวจพิสูจน์ข้อสันนิษฐานต่างๆมากมายมาประกอบกัน แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีเครื่องมือใดที่จะสามารถสแกนเพียงครั้งเดียวก็ระบุตัวโรคได้ทันที 
ว่าแต่ ... คุณหมอเขาใช้วิธีการอะไรกันล่ะ? 


ในที่สุดเราก็เข้ามาถึงประเด็นที่จะสื่อสารกันในวันนี้เสียที นั่นก็คือ “Triple assessment” 
แล้ว … มันคืออะไร? มีประโยชน์อย่างไร? ... วันนี้เราจะมาไล่เรียงเป็นข้อๆกันครับ 
ขึ้นชื่อว่า triple แน่นอนว่ามันต้องมี 3 อย่างแน่นอน ... สำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคของเต้านมในทางการแพทย์นั้นเราอาศัยข้อมูลจาก 3 อย่าง นั่นก็คือ ข้อมูลทางคลินิก (หรือการซักประวัติ และการตรวจร่างกายนั่นเอง) การตรวจทางรังสีวิทยา (หรือการตรวจเอกซเรย์นั่นล่ะครับ) และการตรวจทางพยาธิวิทยา (เรียกง่ายๆว่าการตรวจชิ้นเนื้อนั่นเอง) 


ข้อมูลทางคลินิก
ประวัติสำคัญอย่างไร? ทำไมต้องตรวจเต้านม? ทำไมข้อมูลเหล่านี้ถึงจำเป็นนัก ในยุคที่ความละเอียดของเครื่องมือการตรวจแทบจะเรียกได้ว่า ถึงไม่มีอาการอะไรก็ไปขุดคุ้ยโรคขึ้นมาจนเจอได้ ... แน่นอนครับสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะดีเลิศปานใด ก็ย่อมต้องมีจุดอ่อนด้วยกันทั้งสิ้น ความผิดปกติหลายๆชนิด เช่น ฝีหนอง เลือดคั่งจากการบาดเจ็บ หรือแม้แต่แผลเป็นจากการผ่าตัดครั้งก่อนนั้น อาจจะมีหน้าตาที่เห็นจากเอกซเรย์ที่เหมือนกับโรคมะเร็งเต้านมแบบไม่ผิดเพี้ยน หรือ รอยโรคของมะเร็งระยะเริ่มต้นบริเวณหัวนมก็อาจไม่เห็นความผิดปกติใดๆในเอกซเรย์ รวมไปถึงรอยโรคที่อยู่ในตำแหน่งที่ลึก หรือชายขอบของเต้านม หากไม่ระวังก็อาจหลุดไม่เห็นอยู่ในฟิล์มเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวด์เต้านมได้ ในกรณีดังกล่าวที่ว่ามา ข้อมูลจากประวัติ และการตรวจร่างกายที่ละเอียดถี่ถ้วนนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง


การตรวจทางรังสีวิทยา
เอกซเรย์นั้นเปรียบเสมือนตาที่สามของศัลยแพทย์ แทบจะเป็นพระเอก (หรือนางเอก) ของเรื่องราวการวินิจฉัยโรคในยุคปัจจุบัน สำหรับการตรวจทางรังสีวิทยาของเต้านมนั้นโดยมาตรฐานแล้วจะประกอบด้วย การตรวจเอกซเรย์ด้วยดิจิทัลแมมโมแกรม และการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม 


ทำไมต้องทำทั้ง 2 อย่าง? แล้วทั้ง 2 อย่างแตกต่างกันอย่างไร?
สำหรับแมมโมแกรมนั้นคือภาพถ่ายรังสี โดยอาศัยหลักการแบบเดียวกับเอกซเรย์ปอดที่เราคุ้นเคย แต่เป็นการฉายภาพรังสีโดยละเอียดเฉพาะในบริเวณเต้านมโดยตรง ซึ่งสามารถให้รายละเอียดภาพรวมของเต้านมทั้งหมด รอยโรคในเต้านม และรักแร้ เช่น เนื้องอกต่างๆ รวมไปถึงหินปูน และผลึกแคลเซียมต่างๆที่มีความผิดปกติได้ โดยปริมาณรังสีที่ใช้นั้นไม่แตกต่างจากการเอกซเรย์ปอดทั่วไป และมีผลการศึกษาทางการวิจัยมากมายว่ามีความปลอดภัย และไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติในมนุษย์ 
ส่วนอัลตราซาวด์เต้านมนั้น คือการใช้คลื่นความถี่เหนือเสียงในการตรวจ ซึ่งปราศจากรังสีสามารถใช้ในเด็ก และสตรีมีครรภ์ได้ โดยอัลตราซาวด์สามารถให้รายละเอียดของความผิดปกติในเต้านมได้เป็นอย่างดี สามารถแยกลักษณะของก้อน หรือถุงน้ำ ดูขอบเขต ความหนาแน่นของก้อน หรือความผิดปกติของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับผลึกหินปูนในเต้านม หรือการดูภาพรวมของเต้านมทั้งหมดนั้น อาจไม่สามารถให้รายละเอียดเทียบเท่าแมมโมแกรมได้
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 อย่างนั้นสามารถกลบจุดด้อยของกันและกันได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นในสตรีที่อายุน้อย โดยเฉพาะชาวเอเชียซึ่งมีความหนาแน่นของเนื้อเต้านมที่สูง (extremely dense breast) ซึ่งการตรวจแมมโมแกรมอาจไม่สามารถให้รายละเอียดที่ดีนัก ในทางปฏิบัติจึงอาจใช้เพียงการตรวจอัลตราซาวด์เต้านมก็เพียงพอ


สำหรับการตรวจที่มีความละเอียดสูงกว่านี้ อาทิเช่น การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI นั้นแม้จะมีความไวของการตรวจที่สูง แต่ก็ไม่ได้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่เหนือกว่าดิจิทัลแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์แต่อย่างใด จึงแนะนำให้ใช้ในรายที่มีปัญหาในการตรวจวินิจฉัย หรือใช้ตรวจคัดกรองในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมของโรคมะเร็งเต้านมเป็นหลัก


การตรวจทางพยาธิวิทยา
ในรายที่ตรวจพบรอยโรคในเต้านมที่มีความสงสัย การตรวจชิ้นเนื้อก็เปรียบเสมือนกรรมการตัดสินชี้ขาดว่ารอยโรคที่เห็นนั้นคืออะไร? ใช่หรือไม่ใช่มะเร็งกันแน่ สำหรับการตรวจชิ้นเนื้อของเต้านมในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่เป็นมาตรฐาน และเป็นที่นิยมก็คือ การใช้เข็มเจาะตรวจชิ้นเนื้อ (core needle biopsy) หรือการเจาะดูดเซลล์ด้วยเข็มขนาดเล็ก (fine needle aspiration) ซึ่งทั้ง 2 วิธีสามารถทำได้ง่าย และมีการบาดเจ็บน้อย สามารถใช้ร่วมกับเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวน์เต้านมเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการเจาะตรวจชิ้นเนื้อที่สงสัยได้ หรือในรอยโรคบางอย่างที่ลักษณะทางพยาธิวิทยามีความคล้ายคลึงกัน แพทย์ผู้รักษาอาจพิจารณาการส่งตรวจย้อมสีชิ้นเนื้อเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยได้


จะเห็นได้ว่าการตรวจทั้ง 3 อย่างนั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และไม่ได้อาศัยขั้นตอนมากมายในการตรวจเลย หากท่านมีความผิดปกติของเต้านม หรือต้องการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ก็ควรที่จะไปพบแพทย์ เนื่องจากการตรวจพบโรคแต่เนิ่นๆ นำไปสู่ผลการรักษาที่ดี และหวังผลการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้นครับ

 

นพ.ปัญญา ทวีปวรเดช
รศ.นพ.ประกาศิต จิรัปปภา

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
รศ.นพ.ประกาศิต
จิรัปปภา
ศัลยแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านมะเร็งเต้านม

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เช็กอาการ ' ริดสีดวง' รู้ทัน รักษาไว หายได้

ริดสีดวงไม่ใช่เรื่องน่าอาย หากรู้ทันเพื่อรักษาริดสีดวงได้อย่างเหมาะสม ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพื่อให้คุณกลับมามีสุขภาพที่ดีและชีวิตประจำวันที่สบายขึ้น!

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
2 วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองง่ายๆ ฉบับอยู่บ้านก็ทำได้

เป็นก้อนที่นม หรือจะเป็นมะเร็งเต้านมหรือเปล่า มาเช็กให้ชัวร์ว่าใช่ไหมกับวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองง่ายๆ ที่คุณเองก็สามารถทำได้แม้ตอนอาบน้ำ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ผ่าตัดส่องกล้อง (MIS) ตรงจุด แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

ทำความรู้จักเทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้อง (MIS) กับผลลัพธ์ที่ให้มากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แต่จะเหมาะกับการรักษาโรคใดและมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไปติดตามที่บทความนี้

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ด้วยวิธีการส่องกล้อง ฟื้นตัวไว แผลเล็ก เจ็บน้อย

ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบด้วยการส่องกล้อง เจ็บน้อย แผลเล็ก หลังการผ่าตัดจะฟื้นตัวได้ไว และการดูแลหลังผ่าตัดไม่ยุ่งยาก แถมยังมีประสิทธิภาพการรักษาที่ดี

อ่านเพิ่มเติม