เสี่ยงหรือไม่? ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังเด็กฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ชนิด mRNA

07 ต.ค. 64  | ศูนย์กุมารเวช
แชร์บทความ      

เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนอาจมีความกังวลที่จะให้ลูกหลานวัยรุ่นของท่านเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA เนื่องจากได้ยินเรื่องผลข้างเคียงภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีน ทางรพ.วิมุตจึงได้รวบรวมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวให้ผู้ปกครองได้ทราบ เพื่อช่วยในการตัดสินใจฉีดวัคซีน และคลายความกังวลของทุกคนลงได้

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ในประเทศไทยมีกี่ชนิด

วัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กไทยขณะนี้ (ตุลาคม 2564) คือวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท Pfizer-BioNTech (BNT162b2) หรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่าวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งใช้ฉีดป้องกันในเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป ในอีกไม่นานจะมีการนำวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA อีกยี่ห้อหนึ่งในชื่อโมเดอร์นา (Moderna) มาใช้ในเด็กไทย

ภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนชนิด mRNA พบบ่อยแค่ไหน ?

ภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA พบบ่อยในเด็กวัยรุ่นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้วัคซีนชนิด mRNA ฉีดป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี อย่างแพร่หลาย พบภาวะกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเพียง 6-8 ราย ในจำนวนเด็กที่ฉีด 100,000 ราย และส่วนใหญ่เกิดภายใน 1 สัปดาห์หลังการฉีด โดยเฉพาะเกิดหลังฉีดเข็มที่ 2 บ่อยกว่าเข็มที่ 1 ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีอาการไม่รุนแรง และหายเป็นปกติ

ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (21 กันยายน 2564) ในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ประมาณ 1.3 แสนเข็ม พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพียง 3 ราย

คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ในเด็กวัยรุ่น

แม้การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กวัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรง จะมีอาการไม่มากเท่าในผู้สูงวัยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการรุนแรงได้ และที่สำคัญคือ อาจเกิดภาวะการอักเสบในหลายอวัยวะ ( MISC-C ) ที่เกิดหลังการติดเชื้อโควิด-19 แม้จะรักษาจนหายดีแล้ว ดังนั้นเมื่อพิจารณาด้านประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนในขณะที่ความเสี่ยงกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจากวัคซีนมีต่ำมาก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงแนะนำ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2564) ให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ในเด็กวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปทุกคน ยกเว้นเด็กวัยรุ่นชายที่สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว อายุระหว่าง 12-16 ปี แนะนำให้ฉีดเพียง 1 เข็ม เพื่อหลีกความเสี่ยงกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่พบบ่อยในเพศชายหลังการฉีดเข็ม 2

เด็กควรปฏิบัติตัวอย่างไรหลังฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA

  1. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักเช่น วิ่งแข่ง เล่นฟุตบอล บาสเกตบอล เป็นต้น หรือแข่งกีฬาที่ทำให้หัวใจต้องทำงานมากขึ้น เป็นเวลานาน 1 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน แต่สามารถทำกิจกรรมทั่วไปได้
  2. สังเกตอาการต่างๆ ที่อาจเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อย เป็นลม หรือความผิดปกติอื่นๆ ถ้าบุตรหลานมีอาการดังกล่าวให้รีบพามาพบแพทย์

โรงพยาบาลยินดีให้คำปรึกษาหากผู้ปกครองมีความกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA หรือหากบุตรหลานมีอาการสงสัยโรคหัวใจ โดย สามารติดต่อศูนย์กุมารเวช ชั้น 3 โทร 02-079-0038 เวลาทำการ 08.00 – 20.00 น. เพื่อนัดพบแพทย์โดยตรง หรือปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่านทาง Telemedicine

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 

ผู้เขียน
พญ.อภิญญา พราหมณี กุมารแพทย์โรคหัวใจโรงพยาบาลวิมุต

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้าย-ออทิสติกหรือไม่?

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางโรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก "ขาดการกระตุ้น" เป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เตรียมลูกรักให้ Ready เมื่อเปิดเทอมนี้ Covid มาเยือน

ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลูกนอนกรน…อาการที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงนอนกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเราตีบแคบขณะนอนหลับ ทำให้ลมหายใจไหลผ่านได้อย่างลำบาก โดยสาเหตุการนอนกรนในเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากขนาดต่อมทอนซิลและ/หรือต่อมอะดีนอยด์ที่โต จนเบียดบังทางเดินหายใจส่วนต้นของเด็ก ซึ่งพบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงอายุประมาณ 8 ปี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ส่องสุขภาพเด็กอ้วนที่น่ารัก กับความอันตรายที่แอบแฝง

ในเด็กอ้วนที่ดูน่ารัก อาจกำลังเป็นเด็กที่เสี่ยงกับโรคอ้วนในเด็กได้ ชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูอันตรายแฝงที่แอบซ่อนอยู่ในเด็กอ้วน พร้อมแนวทางการรักษากันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง