ทำความรู้จัก รากฟันเทียม นวัตกรรมทดแทนฟันแท้ที่หายไป

22 มิ.ย. 66  | ศูนย์ทันตกรรม
แชร์บทความ      

ทำความรู้จัก รากฟันเทียม นวัตกรรมทดแทนฟันแท้ที่หายไป

การสูญเสียฟันแท้ไปจากการถอนฟัน อุบัติเหตุ ฟันผุ ฟันหัก เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องการเคี้ยวอาหารและบุคลิกภาพ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อฟันซี่ข้างเคียงซี่อื่นๆ ในปาก และเกิดเป็นปัญหาแทรกซ้อนตามมาได้ การสูญเสียฟันแท้โดยส่วนมากมักเกิดจากฟันผุ การรักษาความสะอาดช่องปากที่ไม่ดีเพียงพอ หรือแม้แต่ละเลยการตรวจสุขภาพช่องปากประจำปี หากใครกำลังหาทางออกในการทดแทนฟันที่สูญเสียไป วันนี้เราอยากพาคุณมาทำความรู้จัก การใส่รากฟันเทียม การใส่ฟันทดแทนที่ดีที่สุด เหมือนฟันธรรมชาติที่สุด จะเหมาะกับใครบ้าง กลับมาเคี้ยวอาหารได้ดีอย่างเดิมและยิ้มสวยได้อย่างมั่นใจจริงหรือไม่ มาหาคำตอบไปพร้อมกัน 

การใส่รากฟันเทียม (Dental implant) คืออะไร ?

เป็นการรักษาเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่ถูกถอนออกไปด้วยการฝังรากฟันเทียมที่ทำจาก Titanium ที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายรากฟันไว้กับกระดูก เพื่อรองรับครอบฟันที่จะใส่บนรากฟันเทียม เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมรากฟันเทียมจะยึดติดกับกระดูกขากรรไกรและเนื้อเยื่อเหงือกรอบๆ ซึ่งจุดเด่นของการใส่รากฟันเทียมจะเป็นการใส่ฟันทดแทนที่ให้ประสิทธิภาพการบดเคี้ยวที่ดีที่สุดและใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากที่สุด ไม่รู้สึกเจ็บเหงือกเมื่อออกแรงเคี้ยวเหมือนกับฟันปลอมแบบถอดได้ 

ส่วนประกอบของรากฟันเทียมมีอะไรบ้าง ?

ส่วนประกอบที่ทันตแพทย์ใช้ฝังลงไปในการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม มีดังนี้  

  1. รากเทียม (Fixture) ส่วนที่อยู่ในกระดูกขากรรไกร ฝังอยู่ใต้เหงือกทำจาก Titanium alloy ที่พัฒนาปรับปรุงพื้นผิวมาอย่างดี สามารถยึดติดกับกระดูกขากรรไกรและเข้ากับร่างกายได้อย่างดี มีความแข็งแรง ทนทาน 
  2. ตัวฐานรองรับ (Abutment) ทำหน้าที่เป็นแกนต่อเชื่อมระหว่างรากฟันเทียมและครอบฟัน ซึ่งเป็นส่วนกระจายและส่งต่อแรงเคี้ยวจากครอบฟันไปที่รากฟันเทียม 
  3. ครอบฟัน (Crown) ส่วนของตัวฟันด้านบน เป็นวัสดุที่ทำเลียนแบบสีและรูปร่างของฟันธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้รับบดเคี้ยวอาหารโดยตรง นิยมทำเป็น Zirconia เซรามิก เพราะมีความสวยงามและแข็งแรงมาก

ประโยชน์ของการทำรากฟันเทียม

การใช้ชีวิตประจำวันของคุณอาจสะดุดได้หากเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับฟัน การทำรากฟันเทียมจึงเป็นทางเลือกที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ 

  • ทดแทนฟันแท้ที่ถอนออกไป พร้อมการใช้งานที่ทนทานและสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ
  • ทนแทนการใส่ฟันปลอมถอดได้แบบในอดีต ที่มักจะกดเหงือกเป็นแผล หรือหลวมหลุด
  • ป้องกันฟันล้มหรือฟันเอียงที่เกิดจากการสูญเสียฟัน
  • มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ช่วยลดการเสื่อมสลายของกระดูกฟัน 
  • ไม่ต้องกรอฟันข้างเคียงเพื่อใส่สะพานฟัน
  • เสริมสร้างบุคลิกที่ดีและเพิ่มความมั่นใจให้กับรอยยิ้มของคุณ 
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหาร รับประทานอาหารได้อร่อยยิ่งขึ้น

การทำรากฟันเทียมเหมาะกับใคร ?

ถึงแม้การทำรากฟันเทียมจะเหมาะกับการแก้ปัญหาช่องปากของทุกเพศทุกวัย ในบางกรณีหากกระดูกขากรรไกรเหลือน้อย หรือบาง อาจจะต้องเสริมปลูกกระดูก และยกไซนัสเพิ่มเติม ดังนี้ 

  • ฟันแตกหัก ผุ จนไม่สามารถรักษาไว้ได้ ทันตแพทย์แนะนำให้ถอนฟันออก 
  • สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกที่จะใช้ฟันปลอมแบบถอดได้ หลวมหลุด เคี้ยวเจ็บ 
  • ผู้ที่สูญเสียฟันตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไป หรือบางส่วนบริเวณขากรรไกร 
  • ผู้ที่กระดูกขากรรไกรหยุดการเจริญเติบโตแล้ว 
  • ผู้ที่ไม่ต้องการกรอฟันในการทำสะพานฟันติดแน่น

ขั้นตอนการทำรากฟันเทียม

กระบวนการผ่าตัดฝังรากเทียมขึ้นอยู่กับชนิดของรากฟันเทียมและลักษณะของกระดูกสันเหงือกของคนไข้ โดยทันตแพทย์จะเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละบุคคล โดยขั้นตอนมีดังนี้ 

  1. ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อวางแผนในการรักษาเบื้องต้น พร้อมตรวจสภาพช่องปาก 
  2. แพทย์อาจจำเป็นต้องทำ CBCT Scan เพื่อวินิจฉัยปริมาณของกระดูกขากรรไกร ความกว้าง ความหนา รวมถึงไซนัส และบริเวณใกล้เคียง 
  3. ทำการฝังรากเทียมภายใต้ยาชาเฉพาะที่ และการรักษาในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง กรณีที่มีการศัลยกรรมอื่นๆ ร่วมด้วยจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 
  4. รอรากฟันเทียมยึดผสานกับกระดูกโดยสมบูรณ์ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 3 - 4 เดือน 
  5. เมื่อรากฟันเทียมยึดติดดีแล้ว จึงเริ่มทำครอบฟันบนรากฟันเทียม และมีฟันใช้งานได้ใน 1-2 สัปดาห์
  6. ดูแลและติดตามการรักษา พบทันตแพทย์รับการตรวจสุขภาพฟันตามเวลานัด 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา

ก่อนทำการรักษาควรเข้ารับคำปรึกษาจากทันตแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาและ x-ray โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ เว้นแต่มีการรักษาฟันในบริเวณใกล้เคียงแต่เกี่ยวข้องกับการใส่รากฟันเทียม แนะนำให้รักษาให้เสร็จก่อน 

การดูแลตัวเองหลังเข้ารับการทำรากฟันเทียม

การดูแลตัวเองหลังเข้ารับการผ่าตัดฝังรากฟันเทียมก็ควรให้ความสำคัญมากเช่นกัน เพราะเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการรอแผลหาย จึงควรปฏิบัติให้ถูกต้องเพื่อผลสำเร็จที่ดีที่สุด ดังนี้ 

  1. ทำความสะอาดช่องปากได้ตามปกติ โดยให้ระวังแผลผ่าตัดในช่วงอาทิตย์แรก
  2. ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมในช่วง 1-2 วันแรก หลังฝังรากเทียม
  3. หากยังมีอาการปวดสามารถใช้ยาแก้ปวด และทานยาฆ่าเชื้อตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
  4. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่แข็งเกินไป เช่น น้ำแข็งหรือกระดูกอ่อน เพราะสามารถทำให้ครอบฟันแตกบิ่นได้ 
  5. พบทันตแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อตรวจสภาพฟัน และสภาวะของรากฟันเทียม
  6. หากมีพฤติกรรมการนอนกัดฟัน ควรใส่เครื่องมือป้องกันฟันสึก หรือเฝือกสบฟัน

การดูแลรักษารากฟันเทียมในระยะยาว

ถึงแม้รากฟันเทียมจะมีความทนทาน แต่อายุการใช้งานก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาเช่นกัน โดยวิธีการรักษารากฟันเทียม จำเป็นต้องทำเช่นเดียวกับการรักษาฟันธรรมชาติทุกอย่าง หากใส่ใจดูแลก็สามารถใช้งานได้นานไม่ต่างจากฟันธรรมชาติ

ปัญหาช่องปากไม่ใช่เรื่องเล็กแน่นอน หากวันหนึ่งคุณต้องสูญเสียฟันแท้ไป ผลกระทบมักตามมาเสมอ อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาฟันที่ซับซ้อนและใช้เวลานานมากขึ้น ส่งผลต่อการเคี้ยวอาหารได้ไม่ดี จนเป็นผลเสียต่อระบบย่อยอาหารของร่างกาย การทำรากฟันเทียมจึงเป็นอีกทางออกหนึ่งสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันแท้ไป เพราะสามารถทดแทนฟันแท้ได้ในระดับที่ใกล้เคียงธรรมชาติมาก ดีกว่าการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ที่มักหลวมหลุด และกดเหงือกให้เจ็บ แต่ถึงแม้การรักษาทางทันตกรรมจะมีเทคนิคแก้ไขปัญหาฟันที่ครบถ้วนและล้ำสมัยแค่ไหน การดูแลรักษาความสะอาดช่องปากก็ยังคงมีความสำคัญ เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี ยืดอายุการใช้งานฟันธรรมชาติให้ได้นานที่สุด 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ทันตกรรม ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 09.00 - 18.00 น. โทร 0-2079-0026 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ.ทพ.สุรัตน์ แสงจินดา ศัลยศาสตร์ช่องปากและใบหน้าขากรรไกร, รากฟันเทียม

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เรื่องน่ารู้ของการ “ขูดหินปูน” จำเป็นต้องทำหรือไม่ หลังขูดดูแลตัวเองอย่างไร

เคยสงสัยไหมว่าทำไมต้องขูดหินปูนเป็นประจำ ขูดหินปูนแล้วช่วยอะไร ถ้าจะขูดหินปูนต้องเตรียมตัวอย่างไร เจ็บ หรือเลือดออกไหม หลังทำกินอะไรได้บ้าง บทความนี้พร้อมตอบให้คุณทุกคำถาม

อ่านเพิ่มเติม