แผลเบาหวาน แผลที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องใส่ใจ

25 ก.ย. 66  | ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก
แชร์บทความ      

แผลเบาหวาน แผลที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องใส่ใจ

แผลเบาหวาน ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วยเบาหวานต้องพึงระวังและใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแล หรือลุกลามรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลเบาหวานต้องสูญเสียอวัยวะบริเวณนั้นๆ ได้

แผลเบาหวานคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร

โดยปกติผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีเท่าที่ควร มีระบบประสาททำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือไร้ความรู้สึกบริเวณปลายมือและเท้า จึงทำให้ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นแผลและกว่าจะรู้ตัวแผลก็ลุกลามไปมากแล้ว ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานจะมีไขมันที่ไม่ย่อยสลายไปจับกับเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบและแข็ง เกิดการอุดตันได้ ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดและการรักษาบาดแผลทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เมื่อเป็นแผล แผลจึงหายช้า หรือเกิดเนื้อตายได้เพราะไม่มีเลือดไปไหลเวียน

 5 สัญญาณเตือนและลักษณะของแผลเบาหวานเป็นอย่างไร

  1. สีผิวคล้ำขึ้น 

สัญญาณแรกที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนคือสีผิวบริเวณนิ้วเท้า หรือปลายนิ้วมือนั้นเปลี่ยนไป มีลักษณะคล้ำหรือดำขึ้น ซึ่งเกิดจากการอุดตันและไม่มีเลือดไหลเวียน

  1. ขนน้อยลง 

หากพบว่าขนที่แขน นิ้วเท้า หรือแข้งน้อยลง อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนที่ทำให้เกิดแผลเบาหวานได้ เพราะบริเวณนั้นไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงและส่งสารอาหารให้ขนเติบโตได้

  1. ปลายมือและเท้าแสบร้อน ปวดบวม 

เมื่อสัมผัสบริเวณปลายมือ ปลายเท้าจะพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่น รู้สึกแสบ ปวดร้อน หรือร้อนวูบวาบ และบวมได้จากการคั่งของของเหลวที่ระบบไหลเวียนเลือดทำหน้าที่ได้ลดลง 

  1. ผิวหนังแห้งคัน เล็บหนาขึ้น หรือแตกร่อน 

นอกจากนี้จะสังเกตพบว่าผิวหนังมักจะแห้งคัน หรือแห้งจนปริแตก ร่วมกับเล็บหนาขึ้น หรือแตกร่อน ซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดแผลจากการกดทับ หรือเล็บขบได้ 

  1. มีน้ำเหลืองไหล มีกลิ่นเหม็น 

ในผู้ป่วยที่เป็นแผลโดยไม่รู้ตัวมักพบว่าแผลเบาหวานเป็นหนองแล้ว และมีของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นผิดปกติไหลออกมาจากผิวหนัง ซึ่งหากพบอาการนี้จำเป็นต้องดูแลและรักษาแผลเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงเนื้อตายและต้องตัดอวัยวะออก 

วิธีการดูแลแผลเบาหวาน ต้องดูแลอย่างไรไม่ให้เสี่ยงโดนตัดอวัยวะ

 

ก่อนเป็นแผลเบาหวาน 

  • ควบคุมระดับไขมันและน้ำตาลสะสมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้หลอดเลือดเกิดความเสียหาย
  • ล้างเท้าให้สะอาดทุกวัน และใส่รองเท้าที่พอดีกับเท้าเสมอ 
  • ตัดเล็บสม่ำเสมอ ไม่สั้น หรือยาวเกินไป 
  • หากมีหนังด้าน หนา เป็นตาปลา หรือเป็นเล็บขบ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา 
  • ทาครีมให้ผิวชุ่มชื้นอยู่เสมอ

หลังเป็นแผลเบาหวาน

  • ทำแผลด้วยตนเอง ควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำอุ่นอย่างเบามือทุกวัน และเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อที่ไม่มีฤทธิ์ทำลายเซลล์ และปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่แห้งและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว หลีกเลี่ยงการโดนน้ำหรือทำให้แผลชื้น
  • ทำแผลโดยแพทย์ หากมีแผลเบาหวานเป็นหนอง จะต้องทำการเปิดแผลให้กว้างเพื่อระบายหนองออก และตัดเนื้อเน่าหรือเนื้อตายออก จากนั้นล้างด้วยน้ำเกลืออย่างน้อยวันละ 2-4 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการโดนน้ำหรือทำให้แผลเปียกชื้น

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เริ่มรู้สึกว่าปลายมือปลายเท้าไม่ค่อยมีความรู้สึก ควรหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีแผลหรือไม่ ร่วมกับการดูแลตัวเองและควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม แต่ทั้งนี้หากพบว่ามีแผลเบาหวานที่เท้า หรือบริเวณอื่นๆ มีการหายช้า สีเข้มคล้ำขึ้น มีน้ำหนองไหล และอาการแย่ลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาก่อนแผลลุกลามจนเสี่ยงต้องตัดอวัยวะจากการติดเชื้อได้ในที่สุด

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อและควบคุมน้ำหนัก ชั้น 3  โรงพยาบาลวิมุต

เวลาทำการ เวลา 07.00 - 20.00 น. โทร. 0-2079-0070 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล แพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
13 วิธีดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานในยุค COVID-19

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ covid-19 โดยโรคเบาหวานนั้นจะทำให้ติดเชื้อ covid -19 ได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป และหากติดเชื้อแล้วจะมีผลทำให้เกิดพาวะแทรกซ้อนมากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เป็นเบาหวานตั้งครรภ์ได้ไหม ?

เพราะการสร้างครอบครัวคือหนึ่งในความฝันของผู้หญิงหลายๆ คน แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานคงกังวลไม่น้อยว่าจะมีลูกได้ไหม ปลอดภัยหรือเปล่า เรามาฟังคำตอบกันที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
สายกินต้องระวัง โรคอันตรายจากไขมันที่ต้องรู้ !

สายกินต้องระวัง! อาหารไขมันสูง ของทอดแสนอร่อยที่แฝงไปด้วยโรคไขมันตัวร้าย มาดูความลับทั้งประโยชน์และโทษของไขมัน ที่บั่นทอนสุขภาพคุณจนอาจเป็นโรคร้ายแรงได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
3 สัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังลดน้ำหนักผิดวิธี

เชื่อว่าหลายคนยังมีเป้าหมายในการลดน้ำหนัก แต่ปัญหาที่มักพบ คือ ลดน้ำหนักไม่สำเร็จสักที หรืออาจลดได้แค่ช่วงสั้นๆ แล้วกลับมาน้ำหนักเท่าเดิม ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง