สลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก ทางเลือกรักษานิ่วที่ไม่ต้องผ่าตัด

12 มี.ค. 68  | ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
แชร์บทความ      

สลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก ทางเลือกรักษานิ่วที่ไม่ต้องผ่าตัด

ปวดหลัง ปวดท้องข้างๆ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะปนเลือด ? นี่อาจเป็นสัญญาณของ "นิ่ว" ภัยเงียบแสนทรมาน ที่เกิดจากการสะสมและจับตัวกันเป็นก้อนของตะกอนของเสีย ไม่ว่าจะเป็นนิ่วที่ไต นิ่วที่ท่อไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะเองก็ตาม แต่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่ช่วยกำจัดนิ่วด้วยวิธีการ "สลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก" อีกหนึ่งทางเลือกการรักษานิ่วที่ให้ผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องผ่าตัด!

สลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (ESWL) คืออะไร?

การสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy หรือ ESWL) เป็นเทคโนโลยีการรักษานิ่วโดยไม่ต้องใช้วิธีการลุกล้ำ ผ่าตัดให้เจ็บตัว หรือต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานๆ โดยหลักการการสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียง คือการนำคลื่นเสียงที่มีความถี่ต่ำแต่ให้พลังงานสูง ส่งผ่านทางผิวหนังบริเวณตำแหน่งของนิ่ว โดยมีการควบคุมตำแหน่งให้ตรงเข้าไปกระแทกยังก้อนนิ่วให้นิ่วแตกตัวมีขนาดเล็กลง หรือกลายเป็นผง เพื่อให้ถูกขับออกมาทางปัสสาวะได้ง่ายขึ้น ซึ่งวิธีการรักษานี้เป็ฯการรักษาที่ไม่ทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงถูกทำลาย จึงทำให้ไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลหลังทำนั่นเอง 

ข้อจำกัดและใครบ้างที่สามารถสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกได้บ้าง ?

สำหรับการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทกเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับคนมีปัญหาตรวจพบว่าเป็นนิ่วในไต นิ่วท่อไต หรือนิ่วกระเพาะปัสสาวะโดยเฉพาะ และแม้ว่าวิธีนี้จะมีข้อดีที่ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่ต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน แถมยังฟื้นตัวเร็วและปลอดภัย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการรักษา ดังนี้

  • ผู้ป่วยต้องสุขภาพดี ไม่มีโรคร้ายแรง สำหรับผู้ป่วยที่ต้องกำจัดนิ่วด้วยการใช้คลื่นกระแทกนั้นจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคเลือด หรือผู้ที่มีภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ 
  • ต้องไม่มีภาวะเหล่านี้ หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน, ผู้ที่มีปัญหาความดันไม่คงที่, ผู้ที่มีเส้นเลือดโป่งพองในช่องท้อง, ผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ, ผู้ที่มีการอุดตันของนิ่วในตำแหน่งที่ตำกว่านั้น และผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้
  • ขนาดนิ่วต้องไม่เกิน 2 ซม. โดยนิ่วในไตไม่ควรเกิน 2 ซม. และนิ่วในท่อไตไม่ควรโตเกิน 1-1.5 ซม. ถึงจะสามารถทำได้
  • ไม่สามารถรักษากับนิ่วบางประเภทได้ นิ่วบางชนิดมีความแข็งมาก เช่น นิ่วแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) หรือนิ่วไซสทีน (cystine stone) อาจทำให้สลายนิ่วได้ยาก หรือไม่ได้ผล
  • อาจต้องทำซ้ำ ในบางกรณี อาจต้องสลายนิ่วมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
  • อาจมีผลข้างเคียง เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดหลัง หรือมีรอยช้ำบริเวณผิวหนังที่ทำการรักษา ซึ่งมักเป็นอาการชั่วคราว แต่ในบางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ หรือการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ

เตรียมตัวก่อนการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

การเตรียมตัวก่อนการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

  • ปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความเหมาะสมและรับคำแนะนำในการเตรียมตัว โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์, อัลตราซาวด์, CT Scan หรือตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
  • งดน้ำงดอาหาร ก่อนวันเข้ารับการรักษาควรงดน้ำ งดอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง แต่สามารถรับประทานยาโรคประจำตัวได้ตามปกติ
  • งดยาที่มีฤทธิ์ห้ามการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน วาฟาริน เป็นต้น
  • แจ้งประวัติการแพ้ยา และโรคประจำตัว: ในวันที่ทำการรักษา ก่อนเข้ารับการรักษาแจ้งแพทย์ หรือพยาบาลประวัติการแพ้ยา และโรคประจำตัวอีกครั้ง
  • พักผ่อนให้เพียง ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ

ขั้นตอนการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

  1. ผู้ป่วยจะต้องวัดความดันโลหิต วัดชีพจรและระดับออกซิเจนในเลือดก่อน รวมถึงรับประทานยาที่ช่วยให้รู้สึกสงบ บางรายอาจมีการให้ยาชาเฉพาะที่
  2. หลังจากนั้นแพทย์จะให้นอนบนเตียงโดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดท่าให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสม โดยอาจมีการวางแผ่นเจล หรือใช้อ่างน้ำ เพื่อช่วยในการส่งผ่านคลื่นกระแทก
  3. แพทย์จะเริ่มทำการรักษาโดยใช้เครื่องเอกซเรย์และจอภาพที่ช่วยให้สามารถระบุตำแหน่งของนิ่วได้แบบ real-time จากนั้นจะใช้เครื่องสร้างและส่งคลื่นพลังงานเข้าไปสลายก้อนนิ่ว โดยจะเริ่มจากเบาๆ ก่อนและค่อยๆ ไต่ระดับพลังงานมากขึ้นจนทำให้ก้อนนิ่วแตกตัวเล็กลง
  4. ในระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจะรู้สึกถึงแรงสะเทือนเล็กน้อย และอาจได้ยินเสียงดังจากเครื่อง ในระหว่างนั้นหากมีปวด เวียนหัว หรือคลื่นไส้ ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที 
  5. การรักษาใช้เวลาประมาณ 45 - 60 นาที โดยไม่ต้องใช้ยาสลบ 
  6. หลังจากนั้นเมื่อแพทย์รักษาเรียบร้อย ผู้ป่วยจะต้องเฝ้าดูอาการหลังทำประมาณ 1-2 ชั่วโมง โดยจะมีการวัดความดันโลหิต วัดชีพจรและระดับออกซิเจนในเลือดอีกครั้ง และอาจรอจนกว่าจะสามารถปัสสาวะได้ จึงสามารถกลับบ้านได้ทันที

การดูแลตัวเองหลังการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

การดูแลตัวเองหลังการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก

  • อาการข้างเคียง หลังทำอาจมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง และอาจมีฉี่ปนเลือดได้ในช่วงหลังทำ 24 ชม. ร่วมไปถึงอาจมีไข้ที่เกิดจากการอักเสบ และติดเชื้อภายในจากแบคทีเรียที่แตกตัวออกมาจากก้อนนิ่วได้ แต่หากมีไข้สูง หนาวสั่น หรือปัสสาวเป็นเลือดเกิน 1 สัปดาห์ ให้รีบพบแพทย์ทันที
  • ดื่มน้ำเยอะๆ หลังการรักษาแนะนำให้ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อขับให้นิ่วที่ถูกกระแทกมาให้ออกมากับปัสสาวะได้มากที่สุด
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดนิ่ว เช่น อาหารที่มี oxalate สูง เช่น ผักโขม, ช็อกโกแลต, น้ำอัดลม และอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารแปรรูป เป็นต้น
  • รับประทานยาตามที่แพทย์ระบุ ส่วนมากแพทย์จะให้รับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการอักเสบหลังทำการรักษาควรรับประทานยานี้ให้ครบในการป้องกันการดื้อยา รวมถึงยาอื่นๆ ตามที่แพทย์สั่ง
  • พบแพทย์ตามนัด เมื่อครบกำหนดหลังการรักษาควรไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผลและวางแผนการรักษาต่อไป

สลายนิ่ว... ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัยดั่งเช่นการสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy หรือ ESWL) ถือเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย เจ็บตัวน้อย ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สะดวกสบายและช่วยให้คุณกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย สำหรับท่านใดที่สนใจทางเลือกการรักษานี้ สามารถติดต่อสอบถามเพื่อขอรับคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะโรงพยาบาลวิมุต 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0040 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ.ดนัยพันธ์ อัครสกุล ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินปัสสาวะ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ขลิบหนังหุ้มปลายเพศชาย ไม่อันตรายและเจ็บปวดอย่างที่คิด

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ทำแล้วมีประโยชน์ยังไง ปลอดภัย เจ็บน้อย ไร้เลือดได้จริงไหม และหลังขลิบปลาย ต้องดูแลตัวเองอย่างไร วันนี้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญจะมาให้คำตอบทุกข้อสงสัย

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)

จะให้กล่าวถึงสาเหตุของภาวะองคชาติไม่แข็งตัว ส่วนใหญ่สาเหตุการเกิดปัญหาเหล่านี้จะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ โดยหากเป็นในช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ส่วนใหญ่เกือบจะ 100%

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคฮิต! มนุษย์ออฟฟิศต้องรู้

ฉี่ไม่ออก แสบขัด กลั้นไม่อยู่ อาการแบบนี้ต้องระวังกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะอักเสบ บทความนี้ชวนคุณมาดูอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พร้อมวิธีดูแลและป้องกันให้ถูกวิธี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจพบเร็ว ก็รักษาให้หายได้

มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายในคุณผู้ชายที่ตรวจพบเร็วสามารถรักษาให้หายได้! มาทำความเข้าใจและเช็กอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากกัน พร้อมแพ็กเกจตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากในราคาพิเศษได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม