โรคภายในผู้หญิง ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

07 พ.ย. 66  | ศูนย์สูตินรีเวช
แชร์บทความ      

โรคภายในผู้หญิง ปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม

ร่างกายของผู้หญิงนั้นมีระบบอวัยวะสืบพันธุ์ที่แตกต่างและซับซ้อน ดังนั้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีผู้หญิงเราจึงควรรู้จักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับโรคทางนรีเวชต่างๆ มาทำความรู้จัก 5 โรคที่อาจเป็นภัยเงียบสำหรับผู้หญิง เพื่อเป็นข้อมูลในการสังเกตตัวเองและเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เมื่อสงสัยว่าอาจมีอาการผิดปกติดังกล่าว 

1. เนื้องอกมดลูก

เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ อาการของเนื้องอกในมดลูกมีตั้งแต่ที่ไม่แสดงอาการและมีอาการแต่เราไม่ทันสังเกตเห็น ซึ่งความผิดปกติที่จะแสดงออกมานั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ตำแหน่งและขนาดของเนื้องอกมดลูก

  • สาเหตุของเนื้องอกในมดลูก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กล้ามเนื้อปกติของมดลูกที่มีการแบ่งตัว ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์ยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ โดยสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม และมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน 
  • อาการเนื้องอกในมดลูก 
  1. มีประจำเดือนมากผิดปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกตินอกจากรอบเดือน 
  2. ปัสสาวะบ่อย เพราะเนื้องอกมีขนาดใหญ่และไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ 
  3. ท้องผูก เพราะเนื้องอกไปกดเบียดบริเวณลำไส้ 
  4. ปวดท้องน้อย ปวดประจำเดือนรุนแรง 
  5. อาจคลำพบก้อนที่ท้องได้ด้วยตนเอง 

2. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 

อีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เป็นลักษณะที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตขึ้นบริเวณนอกมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ 

  • สาเหตุเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีอยู่ด้วยกันหลายทฤษฎี เช่น เชื่อว่าเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกในแต่ละรอบเดือน จากนั้นมีการไหลย้อนกลับของประจำเดือนเข้าไปในอุ้งเชิงกรานผ่านท่อนำไข่และฝังตัวในโพรงมดลูก หรือฝังตามอวัยวะต่างๆ โดยบริเวณที่พบบ่อยคืออุ้งเชิงกราน รังไข่ (หรือที่เรียกว่าช็อกโกแลตซีสต์นั่นเอง) ท่อนำไข่ และผนังอุ้งเชิงกราน 
  • อาการของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 
  1. ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ (progressive dysmenorrhea) 
  2. เจ็บในอุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์ (dyspareunia) 
  3. ปวดหน่วงลงทวารหนักช่วงมีประจำเดือน 
  4. ปัสสาวะเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือดช่วงมีประจำเดือน 
  5. มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด หรือประจำเดือนมามากกว่าปกติ 
  6. หากถุงน้ำมีขนาดใหญ่อาจคลำพบก้อนบริเวณท้องน้อยได้  
  7. สัมพันธ์กับอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง และภาวะมีบุตรยาก 

3. ช่องคลอดอักเสบ 

สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกช่วงวัย แต่มักพบมากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์

  • สาเหตุช่องคลอดอักเสบ โดยทั่วไปในช่องคลอดจะมีทั้งแบคทีเรียชนิดที่ดีอย่างแลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) และชนิดที่ไม่ดีอย่างแอนแอโรบส์ (Anaerobes) ซึ่งหากมีแบคทีเรียชนิดที่ไม่ดีมากจนเกินไป หรือแบคทีเรียในช่องคลอดเกิดการเสียสมดุล ก็สามารถเกิดอาการช่องคลอดอักเสบได้ 
  • อาการของช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย มีตกขาวผิดปกติ ซึ่งอาจมีตกขาวสีเขียว สีเทา หรือสีขาวที่มีลักษณะเหมือนนมบูด เป็นฟอง หรือเป็นแผ่นตกตะกอน ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีอาการคันรุนแรงบริเวณช่องคลอด แสบร้อนเวลาปัสสาวะ มีกลิ่นเหม็นคาวปลา อาจมีอาการระคายเคืองบริเวณปากช่องคลอดและเจ็บช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์

4. มะเร็งปากมดลูก 

เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทย เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม 

  • สาเหตุมะเร็งปากมดลูก เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) ซึ่งมักจะติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อ HPV เป็นครั้งแรก ระบบภูมิคุ้มกันจะพยายามปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตามเชื้อ HPV อาจทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกเกิดความผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด 
  • อาการมะเร็งปากมดลูก 
  1. มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ 
  2. ปวดบริเวณท้องน้อยผิดปกติ 
  3. รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ 
  4. มีตกขาวผิดปกติออกจากช่องคลอด 
  5. เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด 
  6. ขาบวม แสดงว่ามะเร็งปากมดลูกได้ลุกลามไปถึงต่อมน้ำเหลืองแล้ว

5. มะเร็งรังไข่ 

น้ำหนักตัวก็ไม่มากแต่ท้องน้อยป่อง ปวดท้องบ่อยๆ แม้ไม่ใช่ช่วงรอบเดือน นี่คือสัญญาณเตือนจากมะเร็งรังไข่ที่ไม่ควรปล่อยไว้

  • สาเหตุมะเร็งรังไข่ เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรังไข่ (Ovary) หรือท่อนําไข่ (Fallopian Tube) ทําให้เกิดก้อนเนื้อบริเวณรังไข่และมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดมีการแพร่กระจาย ซึ่งมักกระจายไปตามเยื่อบุช่องท้องหรือเข้าสู่กระแสเลือดหรือทางเดินนํ้าเหลือง จนไปปรากฏยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น อุ้งเชิงกราน ปอด หรือตับ 
  • อาการมะเร็งรังไข่ ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจนแต่สังเกตได้ตามอาการต่อไปนี้
  1. รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง 
  2. ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดท้อง 
  3. มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด 
  4. คลื่นไส้ เบื่ออาหาร 
  5. ปัสสาวะบ่อย 
  6. รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นเมื่อรับประทานอาหาร 
  7. ท้องโตผิดปกติ 

เป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงหลายคน อาจมีความกังวลหรือกลัวการตรวจภายใน ไม่อยากตรวจคัดกรองโรคภายในผู้หญิง เพราะไม่คิดว่าตนเองมีอาการผิดปกติอะไร… ก็คิดว่าเราไม่เสี่ยง! แต่แท้จริงแล้วโรคนรีเวชต่างๆ อาจกำลังเกิดขึ้นและก่อตัวอย่างช้าๆ หากตรวจพบได้ช้า ทำให้การรักษาอาจทำได้ยากขึ้น แต่ที่จริงแล้ว การตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์นั้น ทำได้ง่ายและใช้เวลาไม่นาน ช่วยให้แพทย์ได้ตรวจพบความผิดปกติต่างๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคในระยะรุนแรงได้ ดังนั้น การตรวจภายในเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญและเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำสม่ำเสมอ

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0066 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.ณัฐณิชา กังวลกิจ สูตินรีแพทย์

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?

ใกล้เวลาได้พบเจอกัน แต่คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง กับสิ่งที่ต้องเจอหลังคลอดลูก ที่นี่เราได้รวมข้อมูลเพื่อคุณแม่มือใหม่มาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้จริงไหม จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
4 มะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง

เช็กให้ชัวร์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคน กับ 4 มะเร็งร้ายทำลายชีวิต ที่สาวๆ ต้องหมั่นสังเกต พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิงปี 2567 ราคาพิเศษจาก รพ. วิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ก้าวสู่ชีวิตคู่อย่างมั่นใจ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน”

เริ่มต้นชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน กับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่และต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง