วิธีการตรวจหัวใจมีกี่แบบ ร่างกายเราเหมาะกับวิธีใด

04 ก.ค. 66  | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
แชร์บทความ      

วิธีการตรวจหัวใจมีกี่แบบ ร่างกายเราเหมาะกับวิธีใด

โรคหัวใจเป็นอีกหนึ่งโรคที่คร่าชีวิตคนไทยไปจำนวนไม่น้อยในปีที่ผ่านๆ มา ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคเผยว่า การเสียชีวิตทั่วโลกมีสาเหตุสำคัญจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงร้อยละ 32 หรือประมาณ 17.9 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 70,000 ราย ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจเช็กสุขภาพหัวใจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันโรคหัวใจและสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที วันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักกับวิธีการตรวจหัวใจมีกี่แบบ แต่ละแบบมีวิธีการและข้อดีอย่างไร และใครบ้างที่ควรตรวจ!

ทำไมร่างกายต้องได้รับการตรวจหัวใจ?

หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญมากของร่างกาย ประกอบไปด้วยหลายส่วนสำคัญ ทั้งลิ้นหัวใจ ห้องหัวใจทั้ง 4 หลอดเลือดต่างๆ มากมาย ทำงานอย่างสัมพันธ์กันในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาวะที่ปกติ หากส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดความเสี่ยงหรือมีการทำงานที่ผิดปกติไป อาจนำไปสู่โรคหัวใจที่ร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ การตรวจสุขภาพหัวใจเป็นหนึ่งในวิธีการที่ช่วยประเมินและแสดงความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจได้ จึงเป็นทางเลือกในการป้องกันอีกทั้งสามารถเข้ารับการรักษาก่อนโรคจะเข้าสู่ระยะอาการที่รุนแรง

วิธีการตรวจหัวใจมีกี่แบบ?

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาวิธีการตรวจหัวใจหลายประเภท ทั้งนี้จะใช้วิธีการแบบไหนนั้นขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งเครื่องมือและวิธีการตรวจสุขภาพหัวใจที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีดังนี้

1. ตรวจสมรรถภาพหัวใจ EST (Exercise Stress Test)

การตรวจหัวใจขณะออกกําลังกาย  หรือการวิ่งสายพานตรวจหัวใจ (Exercise Treadmill Test) เป็นการตรวจหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือตรวจหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่เกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย ผู้ป่วยเหล่านี้อาจไม่มีอาการ และไม่มีความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก แต่เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยได้ 

ข้อดี : ใช้ระยะเวลาในการตรวจ 15-20 นาที ทราบผลทันทีหลังตรวจ

ข้อบ่งชี้ที่ควรตรวจ : รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่ายกว่าปกติ เมื่อออกกำลังกาย หรือออกแรง

ประโยชน์ : ใช้ทดสอบเพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเรื่องหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด นอกจากนี้การทดสอบวิ่งสายพานยังสามารถช่วยบอกสมรรถภาพของร่างกายได้อีกด้วย

2. ตรวจหาแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (CT calcium score)

การตรวจคัดกรองระดับแคลเซียม หรือหินปูนที่เกาะบริเวณหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อประเมินภาวะการอุดตันของหลอดเลือด ก่อนที่กล้ามเนื้อหัวใจจะตายจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง

ข้อดี : การตรวจ CT calcium score เป็นการตรวจเส้นเลือดหัวใจโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ซึ่งใช้ปริมาณรังสีเอกซเรย์ที่น้อยมาก ไม่มีการฉีดสารทึบรังสี ใช้เวลาในการตรวจ 15-20 นาที

ข้อบ่งชี้ที่ควรตรวจ : มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ อายุมากกว่า 45 ปีขึ้น และเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วนลงพุง สูบบุหรี่

ประโยชน์ : ประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม

3. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram (ECG/EKG)

เป็นวิธีตรวจหัวใจที่ผู้ป่วยโรคหัวใจคุ้นเคยเป็นอย่างดี นั่นคือการตรวจความสมบูรณ์ของการทํางานไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นไปแล้ว 

ข้อดี : สามารถตรวจหาความเสี่ยงต่อโรคที่มีผลกับการทํางานของหัวใจได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอก การตรวจหัวใจด้วยวิธีนี้ สามารถทําได้ทุกเพศทุกวัย และไม่มีอาการเจ็บปวดระหว่างตรวจ

ข้อบ่งชี้ที่ควรตรวจ : มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย

ประโยชน์ : สามารถตรวจหาความเสี่ยงต่อโรคที่มีผลกับการทํางานของหัวใจได้ 

4. ตรวจเอคโคหัวใจทางหน้าอก (Transthoracic Echocardiogram)

เป็นการตรวจเพื่อดูขนาดของหัวใจในแต่ละห้อง ทั้งลักษณะการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ ลักษณะลิ้นหัวใจตีบและรั่ว และยังสามารถวัดความดันในห้องหัวใจได้อีกด้วย

ข้อดี : ใช้เวลาไม่นาน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง เนื่องจากไม่ได้ใช้รังสี X-ray ในการตรวจ แพทย์สามารถแจ้งผลหลังการตรวจได้ทันที 

ข้อบ่งชี้ที่ควรตรวจ : เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ขาบวม นอนราบไม่ได้ 

ประโยชน์ : เพื่อประเมินการทํางานของหัวใจ ขนาดหัวใจ ลิ้นหัวใจ เส้นเลือดแดงใหญ่ เยื่อหุ้มหัวใจ และภาวะผิดปกติในหัวใจทั้งหมด 

ทั้งนี้ก่อนเข้ารับการตรวจหัวใจด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมา ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย อีกทั้งเพื่อให้ผลการตรวจสามารถนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการวินิจฉัยโรคที่มีผลต่อหัวใจ และวางแผนการรักษาต่อไปได้อย่างตรงจุด

อย่างไรก็ตาม ใครที่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาโรคหัวใจ ในผู้ที่ออกกำลังกายหนัก หัวใจเต้นแรงขณะออกกำลังกายเป็นเวลานาน หรือเจ็บหน้าอก เหนื่อยมากขณะออกกำลังกาย เหล่านี้เป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งชี้ว่าคุณอาจจะกำลังเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ อย่ารอให้อาการเด่นชัดขึ้นจนเข้าสู่ระยะรุนแรง แนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจโดยเร็วจะดีที่สุด ที่โรงพยาบาลวิมุต เรามีโปรแกรมการตรวจหัวใจสำหรับผู้ออกกำลังกายอย่างครบครัน หลากหลายและแม่นยำ เพื่อให้เหมาะสมกับอาการของคนไข้แต่ละรายและเป็นประโยชน์ต่อการตรวจรักษามากที่สุด

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00 - 17.00 น. โทร. 0-2079-0042

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

อาการแน่นหน้าอก เจ็บหัวใจ เหนื่อยง่าย อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งโรคหัวใจต่างก็ถูกแบ่งออกไปได้อีกหลายโรคและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่จะมีอะไรบ้างไปดูกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ท่าออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี หัวใจแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

มาดูแลหัวใจให้แข็งแรง ด้วย 5 ท่าออกกำลังกายบริหารหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจของคุณมีสุขภาพแข็งแรง รับรองว่าดีต่อร่างกายและดีต่อใจอย่างแน่นอ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ชวนเช็กอาการ เจ็บหน้าอกแบบนี้… อาจเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

เจ็บหน้าอก ใจสั่น อย่าวางใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ” ได้ มาสังเกตอาการพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อการดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธีกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อย่าปล่อยไขมันในเลือดสูงปรี๊ด ถ้าไม่อยากเสี่ยงสารพัดโรค

ไขมันในเลือดสูง ภาวะอันตรายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังได้ในอนาคต มาเริ่มต้นทำความรู้จักและปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเกิดไขมันในเลือดสูงไปพร้อมกันในบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง