ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ภัยเงียบช่วงหน้าร้อนที่ต้องระวัง

03 พ.ค. 66  | ศูนย์ฉุกเฉิน
แชร์บทความ      

ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ภัยเงียบช่วงหน้าร้อนที่ต้องระวัง

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “โรคลมแดด” กันมามากแล้ว แต่ทราบหรือไม่อาการลมแดดมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ฮีทสโตรก” เป็นอาการที่พบได้มากในหน้าร้อน เพราะอากาศร้อนจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ผู้ใดที่หลีกเลี่ยงการออกแดดเป็นเวลานานไม่ได้มักจะมีอาการเป็นลมแดดหรือฮีทสโตรกได้ง่าย อาทิ คนงานก่อสร้าง, เกษตรกร, นักกีฬา ควรระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษ เพราะสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที วันนี้เรามาทำความรู้จักอาการฮีทสโตรก พร้อมหาวิธีป้องกันและปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อจะได้ปฏิบัติตัวถูกต้อง และลดความเสี่ยงในการเกิดฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด

ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดมีอาการอย่างไร?

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก คือ 

  • หน้ามืด 
  • วิงเวียน 
  • ปวดศีรษะ 
  • ชัก หมดสติ  
  • ไตวาย  
  • ช็อก ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ  

หากปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ถ้าไม่รีบปฐมพยาบาลให้ทันท่วงที อย่าลืมสังเกตอาการของตนเองอย่างสม่ำเสมอ และควรรู้ขีดจำกัดของร่างกาย หากไม่สามารถทนความร้อนได้ ควรออกมาอยู่ที่โลงและอากาศถ่ายเทโดยเร็ว

สาเหตุของฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด

ฮีทสโตรกเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่อันตราย มักเกิดในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยอยู่กลางแดดจัด หรือมีความชื้นสูงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในหน้าร้อน หรือช่วงระยะเวลาที่เกิดคลื่นความร้อนสูง นอกจากนั้นการออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันโดยไม่พัก ก็สามารถทำให้เกิดฮีทสโตรกได้เช่นกัน  

โดยปกติร่างกายจะขับความร้อนออกทางเหงื่อ แต่หากอยู่กลางแดดเป็นเวลานานเกินไป ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายทั้งสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรหรือเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกำลังกาย หรือเมื่อต้องออกแดดเป็นเวลานาน
  • สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม ที่สามารถระบายความชื้น ความร้อน และดูดซับเหงื่อได้เพื่อลดความร้อนในร่างกาย
  • หลบเข้าร่มโดยเฉพาะในช่วงใกล้ๆ เที่ยง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดของวัน
  • ไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักหรือหักโหมติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรเผื่อเวลาพักด้วย
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีนก่อนออกแดด

วิธีการปฐมพยาบาลโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก

  1. รีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่มและมีอากาศถ่ายเท
  2. นอนหงาย จัดท่าให้ยกขาขึ้นสูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนมาสู่สมอง
  3. ดื่มน้ำเย็นระบายความร้อนภายในร่างกาย
  4. คลายเสื้อผ้าให้หลวมเพื่อระบายความร้อน
  5. ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือประคบเย็นเพื่อระบายความร้อน 
  6. ถ้าคนไข้ซึม ไม่รู้สึกตัวให้รีบเรียกพยาบาลโดยทันที

จะเห็นได้ว่าโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกไม่ใช่โรคที่ไกลตัว โดยเฉพาะประเทศไทยเราขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองร้อน และมีหน้าร้อนที่ร้อนมากเป็นพิเศษ อาจทำให้มีผู้ที่พบเจอกับโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกมากกว่าปกติ หากปฐมพยาบาลได้ถูกต้องและทันท่วงทีสามารถหายเป็นปกติได้ แต่ไม่ควรประมาท เพราะหากไม่ทราบวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นก็อาจทำให้อันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นควรป้องกันตัวเองด้วยการหมั่นสังเกตอาการเมื่อออกแดด และปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวไปเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก

เรียบเรียงโดย นพ. ราม บรรพพงษ์ เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
แผนกฉุกเฉิน ชั้น 1 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลา 08.00-20.00 น. หรือ โทร. 0-2079-0191

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.ราม
บรรพพงษ์
เวชศาสตร์ฉุกเฉิน
Card Image
พญ.ปิยะวรรณ
รุ่งเกียรติอาภรณ์
เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
หน้ามืด เป็นลม หมดสติ อาการอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม !

ใครที่มักมีอาการหน้ามืด วูบ เป็นลม หมดสติบ่อยๆ ต้องระวัง! เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าสุขภาพคุณกำลังมีปัญหาที่ต้องรีบดูแล ชวนคุณมาดูอาการหน้ามืดเป็นลมเกิดจากอะไรได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม