ยิ่งอายยิ่งไม่หาย ‘ริดสีดวง’ รู้ทันรักษาได้เร็ว

10 ม.ค. 66  | ศูนย์ศัลยกรรม
แชร์บทความ      

รักษาริดสีดวง

ยิ่งอายยิ่งไม่หาย ‘ริดสีดวง’ รู้ทันรักษาได้เร็ว

หากตั้งคำถามว่าโรคใดที่ป่วยแล้วกระทบกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของเรามากที่สุด เชื่อว่าต้องมี ‘ริดสีดวงทวาร’ รวมอยู่ในนั้น เพราะเมื่อเป็นแล้วนอกจากความเจ็บปวดทรมานที่ต้องพบเจอ ยังทำให้คุณภาพชีวิตถดถอย ไม่สะดวกสบาย อีกทั้งหลายคนกลัวการรักษาและอายที่จะมาพบแพทย์ ทำให้การดำเนินโรคเข้าสู่ระยะอันตรายจนแก้ไขได้ยาก แต่แท้ที่จริงแล้วริดสีดวงสามารถรักษาให้หายขาดได้ ก่อนโรคจะลุกลามจนคุกคามการใช้ชีวิต ดังนั้น เรามาดูสาเหตุ อาการสัญญาณเตือนไว้คอยตรวจเช็กตัวเอง รวมถึงการดูแลตัวเองเบื้องต้นและแนวทางการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเรากัน

รู้จักริดสีดวงทวาร คืออะไร

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อบริเวณปลายทวารหนักซึ่งประกอบด้วยหลอดเลือด ซึ่งทำหน้าที่ในการยืดหยุ่น รองรับการเสียดสีและขยายตัวของทวารหนักเวลาขับถ่าย อีกทั้งช่วยให้รูทวารหนักปิดสนิทนั้น มีการเคลื่อนตัวต่ำลงจากตำแหน่งปกติ อาจมีการบวมหรือโป่งพองหลังขับถ่าย ส่งผลให้มีเลือดออกขณะขับถ่ายหรือมีก้อนยื่นที่บริเวณปากทวารหนัก โดยไม่สามารถยุบตัวลงหรือหดกลับเข้าไปได้ดังเดิม สร้างความเจ็บปวดทรมานให้กับผู้ที่เผชิญภาวะนี้เป็นอย่างมาก มากกว่านั้นริดสีดวงทวารยังสามารถเป็นได้หลายอันและหลายตำแหน่งด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือริดสีดวงภายในและภายนอก

  • ริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoids) เกิดจากเนื้อเยื่อภายในทวารหนักซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าหูรูดทวารหนักเกิดการโป่งพอง อาจไม่โผล่หรือยื่นออกมาให้เห็น ในขณะเดียวกันก็ไม่สามารถคลำได้ ซึ่งจะตรวจพบก็ต่อเมื่อส่องกล้องเท่านั้น อีกทั้งไม่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีเส้นประสาทที่รับความรู้สึกน้อยมาก ปัจจุบันแนะนำให้ผ่าตัดตั้งแต่ระยะ 3 ขึ้นไป โดยริดสีดวงชนิดนี้สามารถแบ่งได้ 4 ระยะ ตามระดับความรุนแรงของโรค ดังนี้

ระยะที่ 1 : อาจมีก้อนขนาดเล็กอยู่ภายในรูทวารหนักแต่ไม่ยื่นออกมา

ระยะที่ 2 : พบหัวริดสีดวงที่ยื่นพ้นปากทวารหนักขณะขับถ่ายและสามารถหดกลับเข้าไปได้เอง

ระยะที่ 3 : หัวริดสีดวงยื่นพ้นปากทวารหนักขณะขับถ่ายและต้องใช้นิ้วมือดันกลับเข้าไป

ระยะที่ 4 : หัวริดสีดวงที่ยื่นออกมาตลอดเวลาไม่สามารถดันกลับเข้าที่ได้ มีการอักเสบ บวม อาจมีภาวะการเกิดลิ่มเลือดเฉียบพลัน (เลือดคั่ง) ทำให้เจ็บปวดจนไม่สามารถนั่งได้

  • ริดสีดวงภายนอก (External Hemorrhoids) จะพบก้อนเนื้ออยู่ที่ปากทวารหนักบริเวณทวารหนักส่วนล่างซึ่งไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจเกิดจากการเบ่งถ่ายอุจจาระรุนแรงจนทำให้เส้นเลือดดำบริเวณปากทวารหนักเกิดการแตก เป็นก้อนแข็ง และมีอาการเจ็บร่วมด้วย ส่วนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและขนาดของก้อนเนื้อ อย่างไรก็ตาม ริดสีดวงชนิดภายนอกนี้ไม่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดหากไม่มีอาการปวดหรือมีเลือดออก มักไม่สามารถรักษาให้หายขาดและสามารถกลับมาเป็นอีกได้

 

อาการริดสีดวง

สาเหตุที่ทำให้เกิด “ริดสีดวงทวาร”

  • ภาวะท้องผูกเรื้อรัง
  • ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย
  • เบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ
  • มีพฤติกรรมนั่งเล่นมือถือ อ่านหนังสือขณะขับถ่ายทำให้ใช้เวลานาน
  • ใช้ยาสวน หรือยาระบายเป็นประจำ
  • ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ อาหารรสจัด ดื่มน้ำน้อย
  • การตั้งครรภ์ เพิ่มความดันในช่องท้องทำให้ขับถ่ายอุจจาระไม่สะดวก
  • ภาวะโรคตับแข็ง ทำให้เลือดดำไหลเข้าตับไม่ได้ เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักจึงเกิดอาการโป่งพอง
  • อายุมากขึ้น กล้ามเนื้อหย่อนยานลงจนทำให้เบาะรองเลื่อนจนยื่นออกมาจากทวารหนัก

นอกจากนี้ หากมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นริดสีดวงทวารหนัก ย่อมมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติ

สัญญาณเตือนที่ควรฉุกคิด… ริดสีดวงทวาร

  • มีเลือดออกขณะขับถ่ายแต่ไม่มีอาการเจ็บปวด
  • มีติ่งเนื้อหรือหัวริดสีดวงโผล่ออกมาจากรูทวารหนัก แต่ยุบลงเมื่ออุจจาระเสร็จ
  • ติ่งเนื้อหรือหัวริดสีดวงยังคงอยู่ที่ทวารหนักเมื่อขับถ่ายเสร็จ
  • ติ่งเนื้อหรือก้อนไม่ยุบหายแม้ใช้นิ้วมือดัน และมีอาการเจ็บปวด บางคนอาจมีอาการคันรอบปากทวารหนักร่วมด้วย

ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยสูงอายุเมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดต้องนึกถึงสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของโรค มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งทวารหนัก ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

การดูแลตัวเองเบื้องต้นหากเป็นริดสีดวงทวาร

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม และลูกพรุนซึ่งมีน้ำตาลซอร์บิทอลตามธรรมชาติและมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ จึงช่วยปรับสมดุลทำให้ระบบลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น แก้ปัญหาท้องผูกและช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ขับถ่ายได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงอาหารสจัดรวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะยิ่งกระตุ้นการอักเสบของริดสีดวงที่เป็นอยู่ 
  • ดื่มน้ำให้มากขึ้น ปริมาณ 1.5 - 2 ลิตรต่อวัน (8-10 แก้ว) เพื่อให้สามารถขับถ่ายได้ง่าย
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่าย ควรเข้าห้องน้ำเมื่อรู้สึกปวดหรืออยากถ่ายเท่านั้น และไม่ควรนั่งถ่ายนานๆ เพื่อเบ่งอุจจาระ อ่านหนังสือหรือเล่นมือถือขณะขับถ่าย
  • ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้นหรือเบ่งถ่ายอุจจาระ
  • เมื่อปัสสาวะหรืออุจจาระเสร็จ ควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาด ใช้สบู่เด็กอ่อนและหลีกเลี่ยงการใช้กระดาษชำระเพื่อลดการระคายเคือง อาการบวมของริดสีดวงที่กำลังอักเสบอยู่
  • แช่น้ำอุ่นประมาณ 10-15 นาที เพื่อลดการอักเสบและช่วยให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัว
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

 

หาหมอริดสีดวง

แนวทางการรักษาริดสีดวง

1. การใช้ยาเหน็บ

วิธีการรักษาวิธีนี้มักใช้เพื่อลดอาการอักเสบในผู้ป่วยที่เป็นริดสีดวงทวาร ซึ่งยาจะออกฤทธิ์และให้ผลรักษาเฉพาะที่ ผู้ป่วยสามารถสอดยาเหน็บที่รูทวารหนักด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาควรศึกษาวิธีการใช้อย่างละเอียด และควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

2. การรัดยาง

อีกหนึ่งวิธีการรักษาที่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีก้อนริดสีดวงย้อยออกมาและมีขนาดเหมาะสมในการรัด โดยแพทย์จะใช้ยางที่มีความยืดหยุ่นชนิดพิเศษรัดบริเวณฐานของก้อนริดสีดวงทวาร ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงที่ก้อนริดสีดวงได้ เพื่อทำให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออกมาเองตามธรรมชาติ

3. การผ่าตัด

เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาริดสีดวง ซึ่งโดยส่วนมากแพทย์มักจะใช้กับริดสีดวงตั้งแต่ระยะที่ 3 โดยแพทย์จะให้ยาสลบหรือทำการบล็อกหลังโดยฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง ภายหลังการผ่าตัดแล้วเสร็จผู้ป่วยจะมีอาการปวดเจ็บบ้างเล็กน้อย ซึ่งสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้และใช้เวลาในการพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน

หมดปัญหาริดสีดวงกวนใจกับโปรแกรมผ่าตัดริดสีดวงแบบบล็อกหลัง พร้อมบริการห้องพักฟื้น 2 วัน 1 คืน ในโปรโมชันราคาพิเศษ เป็นโปรแกรมการรักษาริดสีดวงแบบผ่าตัดโดยใช้ยาฉีดบล็อกหลังฉีดเข้าที่ไขสันหลัง ซึ่งดูแลโดยศัลยแพทย์และพยาบาลวิชาชีพ พร้อมเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย ที่จะช่วยให้ผ่าแผลตัดหายเร็วและสามารถฟื้นตัวได้ไว สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก โปรแกรมผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบบล็อกหลัง 2 วัน 1 คืน 

4. เลเซอร์

เป็นเทคนิคการรักษาริดสีดวงแนวทางใหม่ โดยแพทย์จะใช้หัวเลเซอร์จี้ทำลายเส้นเลือดที่มาเลี้ยงติ่งเนื้อริดสีดวง ทำให้ริดสีดวงค่อยๆ ลดขนาดลงจนฝ่อไปเองซึ่งข้อดีคือผู้ป่วยจะไม่มีแผลผ่าตัด เจ็บตัวน้อยและใช้เวลาพักฟื้นน้อยเพียง 1 - 2 วันแต่หลังเข้ารับการรักษาด้วยเลเซอร์ ควรแช่น้ำอุ่นประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อลดอาการปวด ป้องกันการติดเชื้อ และทำให้ริดสีดวงลดขนาดลงและยุบเร็วขึ้นอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าริดสีดวงทวารเป็นอีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่สามารถเกิดได้จากพฤติกรรมเสี่ยงในชีวิตประจำวันของเรา ดังนั้น ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ห่างไกลจากโรคนี้และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีระยะยาว รวมถึงหมั่นสังเกตสัญญาณเตือนที่ไม่ควรนิ่งนอนใจหรือความผิดปกติจากการขับถ่ายอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หากสงสัยว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้โรคดำเนินไปจนถึงภาวะรุนแรงที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ริดสีดวงสามารถเกิดเป็นซ้ำได้อีกถ้ามีสิ่งกระตุ้น

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลวิมุต
ชั้น 4 เวลา 08.00-20.00 น. โทร 0-2079-0040
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ. อิสรวดี จงกิตติรักษ์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมทั่วไป

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เต้านมมีปัญหาเมื่อไหร่ ... ต้องใช้ 3 ตัวช่วย (Triple Assessment)

เต้านมมีปัญหาเมื่อไหร่ ... ต้องใช้ 3 ตัวช่วย (Triple Assessment) ปัญหาคาใจที่คนส่วนใหญ่มักจะกังวลกันก็คือ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วกว่าจะได้การวินิจฉัยนั้นเราจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
2 วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองง่ายๆ ฉบับอยู่บ้านก็ทำได้

เป็นก้อนที่นม หรือจะเป็นมะเร็งเต้านมหรือเปล่า มาเช็กให้ชัวร์ว่าใช่ไหมกับวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองง่ายๆ ที่คุณเองก็สามารถทำได้แม้ตอนอาบน้ำ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ผ่าตัดส่องกล้อง (MIS) ตรงจุด แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

ทำความรู้จักเทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้อง (MIS) กับผลลัพธ์ที่ให้มากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แต่จะเหมาะกับการรักษาโรคใดและมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไปติดตามที่บทความนี้

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
รักษาไส้ติ่งอักเสบด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวไว

ไส้ติ่งแตกไม่รู้ตัว เชื้อโรคอาจลุกลากจนถึงแก่ชีวิตได้! มาทำความรู้จักและดูข้อแตกต่างของการ “ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ” แบบเปิดท้องและส่องกล้อง พร้อมวิธีดูแลแผลหลังผ่าตัดที่บทความนี้

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง