โรคถุงน้ำในรังไข่ โรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง

25 ก.ย. 66  | ศูนย์สูตินรีเวช
แชร์บทความ      

โรคถุงน้ำในรังไข่ โรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง

ซีสต์ หรือถุงน้ำรังไข่ โรคภายในของผู้หญิงที่ต้องตื่นตัว เพราะอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงสามารถเกิดความผิดปกติได้ โดยอาจไม่แสดงอาการใดๆ หนึ่งในความผิดปกติที่พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ ได้แก่ ซีสต์ หรือถุงน้ำรังไข่นั่นเอง เราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองและรับการตรวจภายในจากสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี 

ทำความรู้จักโรคถุงน้ำในรังไข่

รังไข่เป็นอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่มีโอกาสเกิดความผิดปกติได้เช่นเดียวกับอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ความผิดปกติของรังไข่ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ถุงน้ำรังไข่ หรือซีสต์ในรังไข่ ซึ่งจะมีทั้งประเภทที่หายไปเองได้ไม่ต้องรับการผ่าตัด และประเภทที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือถุงน้ำเกิดการแตก รั่ว บิดขั้ว จนอาจมีอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้ 

ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ มีหลายชนิด

โรคถุงน้ำหรือซีสต์ในรังไข่มีหลายชนิด จำเป็นต้องได้รับการตรวจภายในอย่างละเอียด และอาจต้องตรวจเพิ่มเติมทางรังสีวิทยา เพื่อดูว่าลักษณะภายในของถุงน้ำรังไข่ เช่น ถ้าภายในเป็นน้ำใสๆ มักไม่ใช่เนื้อร้าย หรือถ้ามีก้อนเนื้อรวมอยู่ด้วย อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งได้ ลักษณะของน้ำภายในถุงน้ำรังไข่ก็มีหลายแบบทั้งน้ำเหลวใส น้ำที่มีลักษณะเป็นวุ้น หรือน้ำที่มีลักษณะหนืด เป็นต้น ซึ่งสามารถช่วยแยกชนิดของโรคได้เช่นกัน นอกจากนี้การตรวจเลือดเพื่อตรวจระดับสารบ่งชี้มะเร็งยังช่วยคาดการณ์ความเสี่ยงที่ถุงน้ำ หรือซีสต์นั้นจะเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ได้อีกด้วย 

สัญญาณอาการแสดงของโรคถุงน้ำในรังไข่เป็นอย่างไร?

ถุงน้ำในรังไข่ส่วนใหญ่มักจะไม่มีสัญญาณเตือนชัดเจน ผู้ป่วยมักตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปีหรือตรวจภายใน แต่อาการเบื้องต้นสามารถสังเกตได้ ดังนี้

  1. มีอาการปวดท้องน้อย หรือรู้สึกหน่วงๆ บริเวณท้องน้อย 
  2. ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือมามากผิดปกติ
  3. ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน อาจเกิดจากถุงน้ำรังไข่แตก รั่ว บิดขั้ว หรือติดเชื้อ 
  4. คลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อย และก้อนเนื้อนั้นไม่ยุบลง ท้องอืด แน่นท้อง
  5. อาจมีปัสสาวะบ่อย ท้องผูก จากการกดเบียดของก้อน 

แนวทางการรักษาถุงน้ำในรังไข่

การรักษาซีสต์ในรังไข่ หรือถุงน้ำในรังไข่มีหลายวิธีด้วยกัน บางรายอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่บางรายอาจทำเพียงแค่ติดตามอาการเท่านั้น

  • การรักษาโดยการติดตามอาการ หากเป็นถุงน้ำรังไข่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตามรอบเดือน ถุงน้ำอาจหายไปเองได้ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดหรือให้ยา แต่ต้องตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
  • การรักษาด้วยยา ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและชนิดของถุงน้ำ อาจมีทั้งการใช้ยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมน และยาฮอร์โมนแบบรับประทานหรือแบบฉีด ร่วมกับการตรวจติดตามอาการ และตรวจอัลตราซาวนด์ติดตามการเปลี่ยนแปลงของถุงน้ำอย่างใกล้ชิด
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด มีทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเมื่อมีข้อบ่งชี้ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของถุงน้ำรังไข่ ความเสี่ยงการเป็นเนื้อร้าย และอาการของผู้ป่วย มักทำการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีถุงน้ำขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงสูงในการเป็นเนื้อร้าย หรือรักษาด้วยยาไม่สำเร็จ สำหรับในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะถุงน้ำรั่ว แตก หรือบิดขั้วอาจต้องทำการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน 

ถึงแม้ว่าคุณจะไม่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดถุงน้ำในรังไข่ หรือไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น แนะนำเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมตรวจภายในและตรวจอัลตราซาวนด์ร่วมด้วย เพื่อเป็นการประเมินว่าคุณมีโอกาสเป็นโรคถุงน้ำหรือซีสต์ที่รังไข่หรือไม่

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3  โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0066 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?

ใกล้เวลาได้พบเจอกัน แต่คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง กับสิ่งที่ต้องเจอหลังคลอดลูก ที่นี่เราได้รวมข้อมูลเพื่อคุณแม่มือใหม่มาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้จริงไหม จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
4 มะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง

เช็กให้ชัวร์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคน กับ 4 มะเร็งร้ายทำลายชีวิต ที่สาวๆ ต้องหมั่นสังเกต พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิงปี 2567 ราคาพิเศษจาก รพ. วิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ก้าวสู่ชีวิตคู่อย่างมั่นใจ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน”

เริ่มต้นชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน กับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่และต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง