ลูกรักโตก่อนวัย… เป็นภัยต่อสุขภาพในอนาคตได้

11 ม.ค. 66  | ศูนย์กุมารเวช
แชร์บทความ      

ลูกรักโตก่อนวัย… เป็นภัยต่อสุขภาพในอนาคตได้

การเฝ้ามองพัฒนาการของลูกรักเติบโตไปตามวัยเป็นความสุขใจของพ่อแม่ แต่หากแนวโน้มเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย จากการมีฮอร์โมนเพศมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกาย และความปรวนแปรในจิตใจเมื่อต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก วันนี้เราจึงชวนพ่อแม่ยุคใหม่มาทำความเข้าใจลูกรัก “โตก่อนวัย” เพื่อคลายความว้าวุ่นและข้ามผ่านไปด้วยกัน 

โตก่อนวัย หรือ เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย คืออะไร ?

ภาวะเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย คือ ภาวะที่เด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์และเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอย่างรวดเร็ว ในช่วงอายุก่อน 8 ปี ทั้งที่ปกติเด็กหญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยสาวเมื่ออายุ 8-13 ปี และเด็กชายเริ่มแตกเนื้อหนุ่มเมื่ออายุ 9-14 ปี ส่งผลให้มีอายุกระดูกล้ำหน้าอายุจริง และส่งผลเสียต่อความสูงสุดท้ายที่สามารถมีได้ ปัญหาดังกล่าวพบในเด็กหญิงมากกว่าเด็กชายถึง 10 เท่า ซึ่งสาเหตุนั้นอาจเกิดได้จาก

  • ปัจจัยภายใน ทั้งด้านพันธุกรรม ที่แม่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12 ปี และพ่อเคยอยู่ในภาวะเป็นหนุ่มเร็วก่อนวัย หรือ อาการเจ็บป่วยจากเนื้องอก รวมถึงความผิดปกติในการทำงานของรังไข่หรืออัณฑะก็ส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าวเช่นกัน 
  • ปัจจัยภายนอก เช่น การได้รับเอสโตรเจนในปริมาณที่มากกว่าปกติจากการรับประทานอาหาร ได้รับโภชนาการมากเกินพอดีจนมีภาวะอ้วน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะโตก่อนวัยมากกว่าเด็กที่มีรูปร่างผอมนั่นเอง

สัญญาณเตือน โตก่อนวัย ที่ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง

สัญญาณเตือนโตก่อนวัยในเด็กหญิง : อาจคลำพบไตเต้านม หรือมีเต้านมขึ้นก่อนอายุ 8 ปี มีสิว หน้ามันคล้ายวัยรุ่น มีขนหัวหน่าว เริ่มมีกลิ่นตัว สะโพกผาย มีประจำเดือนเร็วก่อนอายุ 9 ปี และมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดูโตเร็วกว่าเพื่อนในวัยเดียวกัน

สัญญาณเตือนโตก่อนวัยในเด็กชาย : อวัยวะเพศโตขึ้นก่อน 9 ปี มีขนหัวหน่าว มีสิว หน้ามัน เสียงแตกหนุ่ม มีกลิ่นตัว ที่สำคัญคือ ส่วนสูงเพิ่มเร็วมากกว่า 5-6 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งเป็นสัญญาณหลักให้คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน



ผลกระทบจากภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย 

ด้านร่างกาย : ฮอร์โมนเพศที่มากกว่าปกติทำให้เด็กเติบโต และมีส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันภาวะโตก่อนวัยมักทำให้เด็กมีอายุกระดูกที่มากกว่าอายุจริง ไม่นานเด็กจะหยุดสูงเนื่องจากกระดูกปิดก่อนวัย ส่งผลเสียต่อส่วนสูงสุดท้ายที่ได้น้อยกว่าศักยภาพทางพันธุกรรม

ด้านจิตใจ : เมื่อร่างกายเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ขณะที่พฤติกรรมและจิตใจยังเป็นเด็ก ไม่เข้าใจภาวะที่เป็นและคิดว่าการเติบโตที่รวดเร็วเป็นปมด้อย นำไปสู่การมีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง และมีอารมณ์ทางเพศก่อนวัย ในเด็กหญิงอาจมีปัญหาในการดูแลสุขอนามัยเนื่องจากประจำเดือนที่มาถึงแบบไม่ทันตั้งตัว จนทำให้รู้สึกแปลกกว่าเพื่อนวัยเดียวกันและกลายเป็นคนเก็บตัว  


รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย ?

สิ่งแรกคือการสังเกตความผิดปกติและเมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นถึงความผิดปกติ แนะนำว่าควรพาลูกรักเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย โดยมีทางเลือกในการตรวจสอบได้ดังนี้

1. ถ่ายภาพรังสีอายุกระดูก (Bone age) 

โดยปกติกระดูกจะมีรูปร่างและการเชื่อมติดที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ จึงสามารถประเมินอายุจากภาพเอกซเรย์กระดูกข้อมือข้างที่ไม่ถนัด และนำมาเทียบกับขนาดของกระดูกในเด็กปกติว่าล้ำหน้าเกินกว่าอายุจริง และอยู่ในภาวะโตก่อนวัยหรือไม่ 

2. การตรวจอัลตราซาวด์บริเวณเชิงกราน (Pelvic Ultrasonography) 

สามารถวินิจฉัยภาวะโตก่อนวัยที่เกิดจากถุงน้ำหรือเนื้องอกรังไข่ และเนื้องอกต่อมหมวกไตได้ ในเด็กที่โตกว่าวัยจะพบมดลูกที่มีขนาดยาวกว่า 34 มิลิเมตร และมีเยื้อบุโพรงมดลูกที่หนา

3. ตรวจวัดระดับฮอร์โมนเพศในเลือด 

ในเด็กที่มีภาวะโตก่อนวัย ด้วยการทดสอบฮอร์โมน GnRH Stimulation Test ซึ่งจะตรวจพบว่ามีระดับฮอร์โมนเพศสูงกว่าเกณฑ์ 

หลังประเมินผลการตรวจหากพบว่ามีภาวะโตก่อนวัย และยังอยู่ในช่วงที่รักษาได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยายับยั้งฮอร์โมนเข้าที่กล้ามเนื้อทุกๆ 1-3 เดือน จนกว่าจะมีอายุ 11-12 ปี และมีการตรวจติดตามอายุกระดูกทุก 6-12 เดือน เพื่อช่วยชะลอการปิดของกระดูก เด็กที่มีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยจะกลับมามีส่วนสูงเติบโตตามเกณฑ์แบบค่อยเป็นค่อยไป ในเด็กหญิงจะเห็นได้ชัดเจนจากขนาดเต้านมที่ยุบลง และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกหลังจากวันที่ได้รับยายับยั้งฮอร์โมนครั้งสุดท้ายไปอีกประมาณ 1 ปี ไปแล้ว


รับมือแบบพ่อแม่ยุคใหม่ เข้าใจและรู้ทันถึงภาวะโตก่อนวัย 

โรงพยาบาลวิมุตใส่ใจการเติบโตทุกช่วงวัยของลูกรักด้วย “โปรแกรมตรวจภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย” ตรวจเช็กอายุกระดูกได้อย่างแม่นยำ ทำได้ตั้งแต่อายุ 6 ปีขึ้นไปและหากพบภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยก็คลายกังวลได้ เพราะเราสามารถช่วยยับยั้งและชะลอความเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยให้ลูกรักปลอดภัยได้ในที่เดียว

รู้ก่อนรับมือได้ ลูกน้อยโตก่อนวัยอาจไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะส่งผลร้ายทั้งทางร่างกายและอารมณ์ พ่อแม่และคนใกล้ตัวจึงควรใส่ใจรอบด้าน หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกรัก หากพบความผิดปกติได้เร็ว การปรึกษากุมารแพทย์เพื่อช่วยชะลอวัยเด็กไว้จึงเป็นทางออกที่ชัดเจนและปลอดภัย และแม้ว่ายังไม่พบภาวะโตก่อนวัยก็ยังต้องป้องกันความเสี่ยงด้วยการควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามมาตรฐาน ดูแลด้านโภชนาการและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกรักเติบโตสมวัย และใช้ชีวิตวัยใสได้อย่างมีคุณภาพ

เรียบเรียงโดย นพ. ฐากูร วิริยะชัย กุมารแพทย์ ผู้ชำนาญการโรคติดเชื้อในเด็ก

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 

ศูนย์กุมารเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 

ให้บริการ 24 ชั่วโมง โทร 02-079-0038

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้าย-ออทิสติกหรือไม่?

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางโรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก "ขาดการกระตุ้น" เป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เตรียมลูกรักให้ Ready เมื่อเปิดเทอมนี้ Covid มาเยือน

ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลูกนอนกรน…อาการที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงนอนกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเราตีบแคบขณะนอนหลับ ทำให้ลมหายใจไหลผ่านได้อย่างลำบาก โดยสาเหตุการนอนกรนในเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากขนาดต่อมทอนซิลและ/หรือต่อมอะดีนอยด์ที่โต จนเบียดบังทางเดินหายใจส่วนต้นของเด็ก ซึ่งพบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงอายุประมาณ 8 ปี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ส่องสุขภาพเด็กอ้วนที่น่ารัก กับความอันตรายที่แอบแฝง

ในเด็กอ้วนที่ดูน่ารัก อาจกำลังเป็นเด็กที่เสี่ยงกับโรคอ้วนในเด็กได้ ชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูอันตรายแฝงที่แอบซ่อนอยู่ในเด็กอ้วน พร้อมแนวทางการรักษากันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง