ลูกท้องเสียหนัก ต้องระวัง “ไวรัสโรต้า” ที่อาจทำให้ช็อกได้

02 ม.ค. 67  | ศูนย์กุมารเวช
แชร์บทความ      

ลูกท้องเสียหนัก ต้องระวัง “ไวรัสโรต้า” ที่อาจทำให้ช็อกได้

หากพูดถึงอาการท้องเสีย ท้องร่วง หลายคนอาจนึกถึงภาวะอาหารเป็นพิษกันเสียส่วนใหญ่ แต่รู้หรือไม่ ว่าหากมีอาการท้องเสีย ท้องร่วงเฉียบพลันและรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำพุ่ง หรืออาเจียนบ่อยๆ อาจมาจากการได้รับเชื้อ “ไวรัสโรต้า” ก็เป็นได้ ซึ่งแม้จะได้รับเชื้อเพียงเล็กน้อย แต่สามารถทำให้เกิดอุจจาระร่วงอย่างรุนแรงได้ ในผู้ใหญ่อาจมีอาการไม่รุนแรงมาก แต่สำหรับเด็กและเด็กเล็กหากได้รับเชื้อนี้ อาจรุนแรงถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้

ไวรัสโรต้าคืออะไร สามารถติดต่อผ่านกันได้ไหม

ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ โดยเชื้อไวรัสโรต้านี้จะเจริญเติบโตได้ดีและทนต่อสภาพแวดล้อมได้นานในที่แห้งและเย็น จึงมักพบการระบาดได้บ่อยในฤดูหนาว ซึ่งเชื้อโรคนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านการปนเปื้อนบนสิ่งของ ของเล่น น้ำและอาหาร เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสโรต้าเข้าไป เชื้อจะไปเจริญเติบโตอยู่ที่ผนังของลำไส้และทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้ ซึ่งส่งผลให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมน้ำหรือสารอาหารได้ และเกิดเป็นอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเฉียบพลันนั่นเอง 

และเพราะเชื้อไวรัสโรต้ามีความทนต่อสิ่งแวดล้อมได้นานหลายชั่วโมง จึงทำให้มันแพร่กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย เป็นแล้วก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก และโดยส่วนมากมักจะพบได้ในกลุ่มของเด็กเล็ก ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงที่สุด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเล็กต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ติดเชื้อไวรัสโรต้า อาการเป็นอย่างไร

ในการติดเชื้อไวรัสโรต้า หลังเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะทำให้เริ่มมีอาการป่วยได้ภายใน 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง โดยมีความรุนแรงแตกต่างกันไปตามช่วงวัย และหากเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจะมีอาการรุนแรงได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้ดังนี้

  • ซึม ไม่มีแรง มือและเท้าเย็น
  • ในช่วง 1-2 วันแรก อาจพบอาการอาเจียนได้ และอาจอาเจียนบ่อย 7-8 ครั้ง/วัน
  • ท้องร่วงเฉียบพลันอย่างรุนแรง ถ่ายเหลวเป็นน้ำได้บ่อย 7-8 ครั้ง/วัน และสามารถมีอาการได้ถึง 5-7 วัน
  • มีไข้สูงถึง 39 องศาเซลเซียส ในเด็กเล็กอาจทำให้เกิดอาการชักได้
  • ในรายที่มีอาการรุนแรงทั้งท้องร่วงและอาเจียน จนไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ ความดันโลหิตลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

แม้ว่าการติดเชื้อไวรัสโรต้าจะไม่มีอาการที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งทำให้ยากต่อการแยกอาการติดเชื้อนี้กับกลุ่มโรคที่มีอาการอุจจาระร่วงได้ จึงต้องอาศัยการตรวจอุจจาระจากห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาเชื้อไวรัสชนิดนี้เพียงเท่านั้น

ลดความเสี่ยงอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า ที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนโรต้า

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองคนไหนที่กำลังมองหาแนวทางป้องกันอาการอันตราย ลดความรุนแรงของอาการอาเจียนและท้องร่วงที่อาจทำให้ร้ายแรงต่อชีวิตให้กับลูกน้อย ปัจจุบันเราสามารถลดความเสี่ยงและความรุนแรงของอาการจากการติดเชื้อไวรัสโรตานี้ได้ด้วยการเข้ารับวัคซีนโรต้า ซึ่งเป็นวัคซีนในรูปแบบการกิน โดยมี 2 ชนิด คือ 

  • แบบพื้นฐาน Monovalent (Human) ให้กิน 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน และ 4 เดือน 
  • แบบวัคซีนเสริม Pentavalent (Bovine- Human) ให้กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน

คลิกที่นี่เพื่อรับรายละเอียดแพ็กเกจวัคซีนไวรัสโรต้า ในราคาพิเศษ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการรักษาโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรต้านั้น ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกให้งดอาหารที่มีกากใยสูงอย่างผักและผลไม้ รวมถึงนม ยกเว้นในเด็กเล็กที่ดื่มนมแม่ สามารถรับประทานได้ปกติ และเปลี่ยนเป็นอาหารเหลว อาหารอ่อนแทน พร้อมกับดื่มน้ำหรือเกลือแร่มากๆ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปและป้องกันภาวะขาดน้ำ ในบางรายที่มีไข้สามารถรับประทานยาลดไข้ได้ และหากพบว่ามีไข้ขึ้นสูง ถ่ายเป็นมูกเลือด ซึมลง ไม่มีแรง ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์กุมารเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 

ให้บริการ 24 ชั่วโมง โทร. 0-2079-0038 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.สุธิดา ชินธเนศ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจในเด็ก

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้าย-ออทิสติกหรือไม่?

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางโรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก "ขาดการกระตุ้น" เป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เตรียมลูกรักให้ Ready เมื่อเปิดเทอมนี้ Covid มาเยือน

ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลูกนอนกรน…อาการที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงนอนกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเราตีบแคบขณะนอนหลับ ทำให้ลมหายใจไหลผ่านได้อย่างลำบาก โดยสาเหตุการนอนกรนในเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากขนาดต่อมทอนซิลและ/หรือต่อมอะดีนอยด์ที่โต จนเบียดบังทางเดินหายใจส่วนต้นของเด็ก ซึ่งพบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงอายุประมาณ 8 ปี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ส่องสุขภาพเด็กอ้วนที่น่ารัก กับความอันตรายที่แอบแฝง

ในเด็กอ้วนที่ดูน่ารัก อาจกำลังเป็นเด็กที่เสี่ยงกับโรคอ้วนในเด็กได้ ชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูอันตรายแฝงที่แอบซ่อนอยู่ในเด็กอ้วน พร้อมแนวทางการรักษากันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง