เตือน! สังคมก้มหน้า อาจเสี่ยงปวดคอจากกระดูกคอเสื่อม

20 ต.ค. 66  | ศูนย์กระดูกและข้อ
แชร์บทความ      

เตือน! สังคมก้มหน้า อาจเสี่ยงปวดคอจากกระดูกคอเสื่อม

ใครกำลังใช้งานคอผิดวิธีอยู่ ไม่ว่าจะนั่งก้มหน้า เล่นโทรศัพท์มือถือนานๆ นั่งหลังค่อม ขับรถ นอนคว่ำ หรืออ่านหนังสือ เกร็งคอในท่าทางที่ผิดจากปกติเป็นเวลานาน ซึ่งพฤติกรรมการใช้งานคอผิดวิธีเหล่านี้นำมาสู่โรคกระดูกคอเสื่อมได้ โดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยทำงานที่เสี่ยงต่ออาการ Text Neck Syndrome โรคฮิตของสังคมก้มหน้า เป็นอาการปวดคอเรื้อรังของคนติดมือถือที่อาจส่งผลอันตรายร้ายแรงในอนาคต ชวนคุณมาทำความรู้จักกระดูกคอเสื่อมให้มากยิ่งขึ้นในบทความนี้

กระดูกคอเสื่อม โรคฮิตที่ไม่ต้องสูงวัยก็เป็นได้

ปัจจุบันพบว่าผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้นแม้คุณไม่ได้อยู่ในวัยผู้สูงอายุก็อาจพบว่าป่วยเป็นโรคนี้ได้ เพราะพฤติกรรมการใช้คอแบบหักโหมในแต่ละวันส่งผลให้กระดูกคอเกิดอาการเจ็บปวด และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หมอนรองกระดูกคอเสื่อมลงเร็วกว่าปกติ โดยเฉพาะคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือนานเกินไป มักจะเสี่ยงต่อ Text Neck Syndrome หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ เป็นสาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ส่งผลให้คนยุคนี้เกิดโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมได้ง่ายยิ่งขึ้น

Text Neck Syndrome โรคฮิตที่ควรระวังจากสังคมติดจอ

อาการ Text Neck Syndrome หรือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนคอ เป็นอาการปวดคอเรื้อรังที่อันตรายจนอาจเสี่ยงเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมได้ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการก้มหน้าจ้องมือถือแทบจะตลอดเวลา หรือที่เราเรียกกันว่าสังคมก้มหน้า ทำให้หมอนรองกระดูกคอต้องรับแรงที่มากกว่าปกติเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกคอเสื่อมและเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทส่วนคอนั่นเอง

นอกจากพฤติกรรมแล้วโรคกระดูกคอเสื่อม เกิดจากสาเหตุใดอีก ?

  1. อายุ ข้อกระดูกเริ่มเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น ข้อต่อต่างๆ ได้รับแรงกระแทกนานๆ ทำให้เปลี่ยนโครงสร้างไปตามเวลา 
  2. อุบัติเหตุ กระดูกคอเกิดการกระแทก ทำให้หมอนรองกระดูกเสียหาย 
  3. บุหรี่ เป็นปัจจัยทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูกสันหลัง

อาการที่สามารถสังเกตได้ของโรคกระดูกคอเสื่อม

  1. มีอาการปวดคอเป็นๆ หายๆ 
  2. ปวดคอเรื้อรังจนต้องกินยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ เมื่อดีขึ้นแล้วก็กลับมาปวดคออีก
  3. มีอาการชาหรืออ่อนแรงของมือและแขน บางรายจะมีอาการเหลียวหลังไม่สะดวก
  4. ปวดหลังคอร้าวไปเเขนหรือมือ 
  5. เดินเซ กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง มีการกดทับเส้นประสาทอย่างรุนแรงทำให้เดินไม่ได้ หรือควบคุมการอุจจาระ ปัสสาวะไม่ได้

วิธีการรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม

สำหรับวิธีการรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม แพทย์จะเริ่มการวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดเป็นลำดับแรก ว่ามาจากข้อต่อกระดูกสันหลังคอ กล้ามเนื้อ หมอนรองกระดูกหรือเส้นประสาท และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับอาการของแต่ละบุคคล 


การรักษาแบบประคับประคอง

การรักษาแบบผ่าตัด

ใช้การประคับประคองอาการในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงมาก หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ 

  • การรับประทานยา หรือฉีดยา เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ
  • การใส่เฝือกอ่อนพยุงคอ
  • การทำกายภาพบำบัด
  • ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ

ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดไม่ตอบสนองกับการรักษาแบบประคับประคอง หรือมีอาการอ่อนแรงและหรือร่วมกับปัสสาวะไม่ออก กลั้นอุจจาระไม่ได้ โดยแพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทอยู่ออก

 

ถ้าไม่อยากกระดูกคอเสื่อมต้องทำอย่างไร ?

เพราะความเสื่อมของกระดูกคอสามารถเป็นได้ทุกวัย จึงควรให้ความสำคัญกับการใส่ใจดูแลตัวเอง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ก่อนที่โรคกระดูกคอเสื่อมจะแวะเวียนมารบกวนการใช้ชีวิต ดังนี้ 

  • ขยับเปลี่ยนท่าทางบ่อยๆ ไม่นั่งก้มหน้า หรือยื่นคอออกไปมองจอมากเกินไปขณะทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ และงดเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ 
  • หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอหรือสะบัดคอบ่อยๆ 
  • ไม่ควรนอนหมอนที่สูงหรือต่ำเกินไป ควรเลือกหมอนให้รองรับกับสรีระคอพอดี 
  • ฝึกบริหารกล้ามเนื้อต้นคออย่างสม่ำเสมอ 

อย่างไรก็ตามโรคกระดูกคอเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก และสามารถเป็นได้ตั้งแต่อายุไม่มาก จึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพกระดูกคออย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกคอเสื่อมโดยเฉพาะการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่มากเกินไป รักษาสุขภาพกระดูกให้สมวัยช่วยให้คุณมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกวัน 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นายแพทย์กิจพัฒน์ ติรชาญวุฒิ์ แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ เฉพาะทางด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ข้อเท้าแพลง รับมืออย่างไร

ข้อเท้าแพลง คือการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ที่เกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกเกินช่วงการเคลื่อนไหวปกติ ทำให้เอ็นบริเวณข้อเท้าเกิดการยืดออกมากจนเกินไป การบาดเจ็บมักเกิดบริเวณข้อเท้าด้านนอก หากรุนแรงมาก อาจส่งผลให้เอ็นเกิดการฉีดขาด มีอาการปวด บวม และสูญเสียความมั่นคงของข้อเท้า

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ปัจจัยทำ ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

คุณเคยไหม ที่รู้สึกปวดเข่า เมื่อต้องขึ้นลงบันได หรือ มีเสียงดังก๊อบแก๊บที่เข่าเวลาเดิน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมมีอยู่มากมาย แต่วันนี้ขอนำเอาปัจจัย 5 ข้อสำคัญๆ ที่มีผลมากที่สุด มาให้ความรู้กันครับ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ระวังภัยร้ายจาก Work from home syndrome ถามหา

ถึงสถานการณ์จะกลับมาคลี่คลายแล้ว แต่หลายบริษัทยังคงให้ Work From Home อยู่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการทำงานจากบ้านที่ดูเหมือนจะสบายนั้น อาจสร้างปัญหาสุขภาพได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ทำอย่างไร เมื่อข้อไหล่ติด รบกวนชีวิตประจำวัน

ข้อไหล่ติด ปวดไหล่ ขยับไหล่แล้วเจ็บ หรือขยับไหล่ได้น้อยลงจนหลายคนใช้ชีวิตลำบาก วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสาเหตุ อาการและวิธีรักษาข้อไหล่ติดโดยไม่ต้องผ่าตัดมาฝากกัน

อ่านเพิ่มเติม