ติดหวานทำไงดี? แก้ได้ด้วย 5 สารให้ความหวานจากธรรมชาติ

23 ก.พ. 66  | ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก
แชร์บทความ      

 

ติดหวานทำไงดี? แก้ได้ด้วย 5 สารให้ความหวานจากธรรมชาติ

‘น้ำตาล’ สารให้ความหวานที่สาวกสายหวานโปรดปราน และมักต้องหาเวลาเบรกเติมความหวานเพื่อให้ร่างกายได้มีแรง แต่ทั้งนี้หากบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ตัวเลขน้ำหนักบนตาชั่งเพิ่มรัวๆ แบบไม่รู้ตัว แถมยังเสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานอีกด้วย ดังนั้นการลดน้ำตาลจึงไม่เพียงเป็นที่ต้องการในกลุ่มคนที่รักสุขภาพเท่านั้น แต่กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของคนที่ต้องการลดน้ำหนัก รวมถึงคนที่อยากลดความอ้วน ลดหุ่น ดูแลสุขภาพ แต่ติดหวานทำไงดี ? วันนี้เราได้รวบรวมสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจากธรรมชาติ ที่ปลอดภัยกับสุขภาพมาฝากกัน ซึ่งจะมีตัวไหนบ้าง สายติดหวานต้องห้ามพลาด !

 

5 สารให้ความหวานแทนน้ำตาลจากธรรมชาติ ปลอดภัย

กลุ่มผู้รักสุขภาพคงรู้กันดีกว่าหนึ่งในเทรนด์อาหารสุขภาพที่ไม่ขาดไม่ได้ คงหนีไม่พ้นการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sugar substitute) แต่จะรักสุขภาพทั้งทีต้องเลือกที่มาของความหวานที่ดีต่อสุขภาพ หรือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งกลุ่มสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลแบบให้พลังงาน และไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีกว่ามาดูกันว่า 5 สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลจากธรรมชาติมีอะไรบ้าง

กลุ่มสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล แบบไม่ให้พลังงาน

1. หล่อฮังก๊วย (Monk Fruit)

เป็นหนึ่งในสมุนไพรจีนที่ขึ้นชื่อเรื่องสรรพคุณทางยา และได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้ในฐานะสารทดแทนความหวานที่ใช้แทนน้ำตาล เพราะมีสารโมโกรไซด์ (Mogrosides) ซึ่งให้ระดับความหวานที่มากกว่าน้ำตาลประมาณ 150-300 เท่า หากแต่ความหวานนี้ปราศจากแคลอรี่ ดีต่อสุขภาพ แถมไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงเป็นมิตรกับผู้เป็นเบาหวาน เนื่องจากอยู่ในกลุ่มสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลแบบไม่ให้พลังงาน จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการจำกัดปริมาณน้ำตาล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และยังช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วย มากกว่านั้นหล่อฮังก๊วยยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญอย่างไกลโคไซด์ (Glycosides) และซาโปนิน (Saponins) ซึ่งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตและป้องกันการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง อีกทั้งช่วยป้องกันการหลั่งฮีสตามีนซึ่งเป็นสาเหตุของอาการแพ้อีกด้วย และยังได้รับการรับรองโดย USFDA หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ว่าสามารถใช้เป็นสารให้ความหวานได้อย่างปลอดภัย 

2. หญ้าหวาน (Stevia)

พืชพื้นเมืองดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้ที่ถูกใช้เป็นสมุนไพรมายาวนานกว่า 500 ปี เป็นสารแทนความหวานจากธรรมชาติที่ดีที่สุด และเป็นหนึ่งแหล่งความหวานยอดนิยมในปัจจุบันที่ได้รับการตอบรับที่ดีที่สุดอีกด้วย การันตีคุณภาพความหวานที่ไร้พิษภัยจาก USFDA เช่นเดียวกับหล่อฮังก๊วย อีกทั้งผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้นำสารสกัด Stevioside ซึ่งเป็นสารประกอบในหญ้าหวานมาขึ้นทะเบียนเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่แม้จะให้ระดับความหวานที่มากกว่าน้ำตาลถึง 250-300 เท่า แต่เป็นความหวานที่ไร้ซึ่งแคลอรี่ และไม่ถูกย่อยให้เกิดพลังงานกับร่างกาย เนื่องจากอยู่ในกลุ่มสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลแบบไม่ให้พลังงานนั่นเอง จึงเป็นจุดเด่นและทางเลือกใหม่ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจและความดันโลหิตสูงในการใช้แทนน้ำตาล รวมถึงสายหวานที่กำลังอยากปฏิวัติตัวเองด้วยการลดปริมาณน้ำตาล และกำลังมองหาสารทดแทนความหวานจากธรรมชาติไม่ควรพลาด  

3. ชะเอมเทศ (Albizia myriophylla Benth)

ถัดมาที่สมุนไพรที่เชื่อว่าหลายคนรู้จักดีและเป็นที่นิยมในหลายประเทศแถบเอเชีย ชะเอมเทศมาพร้อมสรรพคุณโดดเด่นไม่แพ้ใคร ทั้งแก้คอแห้ง ช่วยให้ชุ่มคอ แก้น้ำลายเหนียว บรรเทาอาการไอและเจ็บคอ อีกทั้งชะเอมเทศยังมีชื่อเสียงในด้านเป็นยาขับเสมหะชั้นยอดอีกด้วย แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ส่วนรากของชะเอมเทศมีสาร Glycyrrhizin และ 24-hydroxyglyrrhizin ซึ่งสารเหล่านี้เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 50-100 เท่า โดยถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มรสชาติอาหาร แต่งรสหวานในลูกอมและขนมต่างๆ แต่ในข้อดีย่อมมีข้อห้ามนั่นคือไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานๆ เพราะอาจส่งผลต่อความดันโลหิตได้
 

กลุ่มสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล แบบให้พลังงาน

4. น้ำผึ้ง (Honey)

ความหอมหวาน รสชาติละมุนลิ้นที่แตกต่าง ทำให้หลายคนไม่อาจปฏิเสธความหวานซึ่งเป็นผลผลิตจากผึ้ง โดยมีน้ำหวานจากเกสรดอกไม้หลายชนิดที่เป็นต้นทางของความหวานนี้ได้ ทั้งในแง่ของการใช้น้ำผึ้งมาปรุงรสในอาหาร หรือแทนน้ำตาลในเครื่องดื่มเพียงเท่านั้น น้ำผึ้งยังช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ช่วยบำรุงสมองและความงาม อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ น้ำผึ้งจึงถือเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ดีชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสารประกอบหลักที่เหมือนกันกับน้ำตาลทราย คือ “กลูโคส” และ “ฟรุกโตส” ต่างกันตรงที่น้ำผึ้งมีน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ร่างกายจึงสามารถดูดซึมไปใช้ได้เร็ว 
แต่ด้วยปริมาณแคลอรี่ที่ค่อนข้างสูง (น้ำผึ้ง 1 ช้อนชา ให้พลังงานประมาณ 20 กิโลแคลอรี่) บวกกับน้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลแบบให้พลังงาน จึงควรระวังปริมาณในการรับประทานสักหน่อย โดยเฉพาะผู้เป็นโรคเบาหวานและสาวๆ ที่ต้องการลดน้ำหนัก 

5. น้ำตาลมะพร้าว (Coconut sugar)

ชื่อนี้ทำให้สาวกสายหวานหลายคนนึกถึงเมนูขนมไทย ตามด้วยกลิ่นและรสชาติหอมมัน กลมกล่อมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะบ้านไหนเป็นครัวไทยรับรองว่าขาดไม่ได้ น้ำตาลมะพร้าวเป็นน้ำตาลที่ได้จากน้ำตาลสดที่รองมาจากงวงมะพร้าว หรือช่อดอกของต้นมะพร้าว แล้วนำมาเคี่ยวจนเดือด เป็นอีกหนึ่งสารให้ความหวานที่สามารถทดแทนน้ำตาลจากธรรมชาติที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำคือ 35 และยังมีโพแทสเซียมที่มีบทบาทในการควบคุมความดันและน้ำตาลในเลือด แถมช่วยให้รู้สึกอิ่มนานและให้ความหวานแบบสดชื่นที่ช่วยลดอาการอ่อนเพลียให้ร่างกายได้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้จะชื่นชอบรสหวานมันกลมกล่อมจากน้ำตาลมะพร้าวแค่ไหน แต่น้ำตาลมะพร้าวถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลแบบให้พลังงานเช่นกัน ดังนั้นผู้เป็นเบาหวาน หรือสายหวานที่ต้องการควบคุมน้ำหนักยังคงต้องจำกัดปริมาณการใช้

 

และนี่คือสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลจากธรรมชาติที่เราได้นำมาฝากสำหรับผู้ที่อยากลดหวาน ลดน้ำตาล เป็นความหวานทางเลือกในขณะที่ยังชื่นชอบรสชาติความหวานอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รักสุขภาพ ต้องการลดน้ำหนัก ลดความอ้วนซึ่งปลอดภัยต่อสุขภาพ ทั้งนี้แม้ว่าสารให้ความหวานแบบไม่ให้พลังงานจะช่วยลดพลังงานที่ก่อให้เกิดความอ้วนได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารอื่นๆ และไลฟ์สไตล์ของเราด้วย แนะนำให้ในแต่ละวัน ไม่ควรบริโภคน้ำตาลที่เติมในอาหารและเครื่องดื่มเกิน 4 - 6 ช้อนชา เลือกรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย ให้พลังงานเพียงพอต่อร่างกาย จะได้ไม่ต้องรู้สึกหิวโหย กินเยอะขึ้นกว่าเดิม และอาจทำให้อ้วนมากขึ้นได้จากการลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลนั่นเอง

ที่โรงพยาบาลวิมุต เรามีศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อและควบคุมน้ำหนัก ให้บริการการตรวจรักษาโดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน พร้อมนักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร นักกายภาพและพยาบาลวิชาชีพ ที่พร้อมใส่ใจการรักษาและให้บริการ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและลดโอกาสเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 

ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก ชั้น 9 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลา 07.00-19.00 น. หรือโทร 0-2079-0070 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

เรียบเรียงโดย เกวลิน วัฒนะวิรุณ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ รพ.วิมุต

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
13 วิธีดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานในยุค COVID-19

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ covid-19 โดยโรคเบาหวานนั้นจะทำให้ติดเชื้อ covid -19 ได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป และหากติดเชื้อแล้วจะมีผลทำให้เกิดพาวะแทรกซ้อนมากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เป็นเบาหวานตั้งครรภ์ได้ไหม ?

เพราะการสร้างครอบครัวคือหนึ่งในความฝันของผู้หญิงหลายๆ คน แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานคงกังวลไม่น้อยว่าจะมีลูกได้ไหม ปลอดภัยหรือเปล่า เรามาฟังคำตอบกันที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
สายกินต้องระวัง โรคอันตรายจากไขมันที่ต้องรู้ !

สายกินต้องระวัง! อาหารไขมันสูง ของทอดแสนอร่อยที่แฝงไปด้วยโรคไขมันตัวร้าย มาดูความลับทั้งประโยชน์และโทษของไขมัน ที่บั่นทอนสุขภาพคุณจนอาจเป็นโรคร้ายแรงได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
3 สัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังลดน้ำหนักผิดวิธี

เชื่อว่าหลายคนยังมีเป้าหมายในการลดน้ำหนัก แต่ปัญหาที่มักพบ คือ ลดน้ำหนักไม่สำเร็จสักที หรืออาจลดได้แค่ช่วงสั้นๆ แล้วกลับมาน้ำหนักเท่าเดิม ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง