รู้จัก PTSD คืออะไร ? ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ไม่ควรมองข้าม

30 มิ.ย. 68  | ศูนย์สุขภาพใจ ปรึกษาจิตแพทย์
แชร์บทความ      

เมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น แผ่นดินไหว ภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุรุนแรง แม้ร่างกายจะปลอดภัยแต่จิตใจอาจยังคงเจ็บปวด รู้สึกกลัว หรือหดหู่ใจ ซึ่งหากเวลาผ่านพ้นไปอาการเหล่านั้นไม่ทุเลาลงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาจเป็นสัญญาณของ PTSD ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ควรได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและทันท่วงที 

บทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับ PTSD ภาวะความผิดปกติทางจิตเวชที่อาจเกิดขึ้นหลังประสบเหตุการณ์รุนแรง หรือสะเทือนใจ แม้อาการอาจไม่ปรากฏในทันที แต่สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจและการใช้ชีวิตในระยะยาว การทำความเข้าใจภาวะนี้คือก้าวแรกของการดูแลจิตใจอย่างถูกต้อง 

ภาวะ PTSD คืออะไร ทำไมต้องใส่ใจ ?

PTSD หรือ Post-Traumatic Stress Disorder คือภาวะความผิดปกติทางจิตเวชที่มีสาเหตุเกิดจากการเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง หรือเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักอย่างกะทันหัน อุบัติเหตุร้ายแรง การถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ตลอดจนประสบการณ์ในภาวะสงคราม หรือความรุนแรงในครอบครัว 

ภาวะ PTSD อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบเหตุการณ์ทุกคน แต่ในบางราย การตอบสนองทางจิตใจที่เกิดขึ้นอาจคงอยู่นานและมีความรุนแรงจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยผู้ป่วยมักมีอาการรู้สึกราวกับเหตุการณ์นั้นยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ เมื่อต้องเผชิญสิ่งกระตุ้นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ แม้จะผ่านมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม

อาการที่บ่งบอกว่าเสี่ยงเป็น PTSD คืออะไรบ้าง ?

อาการของ PTSD สามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะหลัก ได้แก่ ระยะเฉียบพลัน (Acute Stress Disorder หรือ ASD) และระยะเรื้อรัง (PTSD) ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานโดยไม่รักษา อาการจะทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้

1. ระยะก่อนเป็น PTSD หรือ Acute Stress Disorder (ASD)

หลังจากเหตุการณ์รุนแรงผ่านไป ผู้ประสบภัยหลายคนจะมีอาการตอบสนองทางจิตใจที่เรียกว่า ASD โดยมักเกิดขึ้นทันทีและคงอยู่ไม่เกิน 1 เดือน อาการที่พบ อาทิเช่น

  • ฝันร้าย หรือภาพเหตุการณ์ซ้ำๆ ทำให้รู้สึกเหมือนเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นหรือสถานที่ที่เตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ เช่น ไม่อยากกลับไปที่บ้านหรือพื้นที่เกิดภัยพิบัติ
  • รู้สึกแยกตัว ห่างเหินจากคนรอบข้าง หรือรู้สึกไร้ความรู้สึก (emotional numbness)
  • ตื่นตัวและวิตกกังวลมากกว่าปกติ เช่น สะดุ้งง่าย นอนไม่หลับ หรือหงุดหงิดง่าย
  • รู้สึกหมดแรงหรือสิ้นหวัง ซึ่งบางครั้งอาจแสดงออกมาในรูปแบบของความไม่มั่นใจในตนเอง

หากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นภายใน 4 สัปดาห์ หรือมีอาการแย่ลง แพทย์อาจวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะ PTSD 

2. อาการสำคัญของ PTSD หลังผ่านช่วง ASD

เมื่อเข้าสู่ระยะ PTSD อาการจะมีลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดใน 4 กลุ่ม ได้แก่

  • การย้อนระลึกเหตุการณ์ (Re-experiencing) เช่น ฝันร้าย ภาพเหตุการณ์ที่รุนแรงผุดขึ้นมาในจิตใจโดยไม่สามารถควบคุมได้ รู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ จนส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวและเครียดอย่างมาก
  • การหลีกเลี่ยง (Avoidance) เช่น ตั้งใจหลีกเลี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ บุคคล หรือสิ่งของที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น รวมถึงปฏิเสธความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ หรือพยายามไม่พูดถึงเหตุการณ์ 
  • การเปลี่ยนแปลงด้านความคิดและอารมณ์ (Negative Mood and Cognition) เช่น มีความคิดลบ เช่น รู้สึกผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น โทษตัวเอง รู้สึกแยกตัว ห่างเหินจากครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมถึงสูญเสียความสนใจ หรือความสุขในกิจกรรมที่เคยชอบ 

ภาวะตื่นตัวสูง (Hyperarousal) เช่น มีอาการหงุดหงิดง่าย โมโหรุนแรง วิตกกังวลตลอดเวลา นอนไม่หลับ สะดุ้งตกใจง่าย สมาธิสั้นและไม่สามารถโฟกัส หรือจดจ่อกับสิ่งไหนได้

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจาก PTSD

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม PTSD อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและร่างกายอื่นๆ ที่รุนแรง อาทิเช่น

  • ภาวะซึมเศร้ารุนแรง เนื่องจากความรู้สึกหมดหวังและโดดเดี่ยว
  • พฤติกรรมอันตราย จากการใช้สารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงอารมณ์และความทรงจำ
  • ปัญหาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ที่ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม
  • ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม เนื่องจากการแยกตัวและอารมณ์ที่ควบคุมได้ยาก
  • โรคเรื้อรังทางกาย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ที่มีสาเหตุจากความเครียดเรื้อรัง

PTSD แตกต่างจากโรคซึมเศร้าและโรคแพนิคอย่างไร ?

แม้ PTSD ซึมเศร้า และแพนิค จะเป็นภาวะทางจิตเวชที่มีอาการบางอย่างคล้ายกัน แต่ทั้ง 3 โรค มีความแตกต่างที่ชัดเจน ดังนี้

  • โรคซึมเศร้า (Depression) เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ผู้ป่วยมีอาการเศร้าใจ สิ้นหวัง ไม่มีแรงจูงใจ ซึ่งความเครียดและสถานการณ์กดดันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการของโรค แต่ไม่ได้เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญโดยตรง
  • โรคแพนิค (Panic Disorder) มีอาการทางกายคล้าย PTSD เช่น หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น เหงื่อออก แน่นหน้าอก มือสั่น ตัวสั่น มือชา หน้ามืด กลัวเสียชีวิตหรือกลัวเป็นโรคร้ายแรง โดยอาการสามารถเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดในช่วงสั้นๆ และตรวจไม่พบพยาธิสภาพทางกาย
  • PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่มีผลกระทบอย่างลึกซึ้ง มีการย้อนรำลึกเหตุการณ์และพฤติกรรมหลีกเลี่ยงเฉพาะอย่างชัดเจน

ความเข้าใจความแตกต่างนี้ช่วยให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดสามารถมองเห็นปัญหาอย่างถูกต้องและหาทางรักษาที่เหมาะสม

โรค PTSD มีวิธีรักษาอย่างไร ?

การรับมือกับโรค PTSD ต้องอาศัยความเข้าใจและการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้ให้คำปรึกษาที่ได้รับการรับรอง โดยมีแนวทางการรักษา ดังนี้

  • การบำบัดด้วยการรับรู้และพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy - CBT) ที่ช่วยปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
  • การบำบัดด้วยการเปิดเผยเหตุการณ์ (Exposure Therapy) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับความทรงจำที่เจ็บปวดอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • การใช้ยารักษา เพื่อช่วยลดความหวาดกลัว ลดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า
  • การสนับสนุนทางสังคม จากครอบครัวและเพื่อน เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ

โดยผู้ป่วยต้องอย่าลืมว่า “การขอความช่วยเหลือไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือความกล้าที่จะก้าวสู่การฟื้นฟู”

สิ่งสำคัญที่ควรเข้าใจคือ PTSD ไม่ได้สะท้อนถึงความเปราะบาง หรือความอ่อนแอทางจิตใจของบุคคล แต่เป็นผลจากกระบวนการทำงานของสมองที่ตอบสนองต่อความเครียดรุนแรง จนทำให้เกิดอาการหวาดกลัว วิตกกังวล หรือเจ็บปวดทางจิตใจซ้ำๆ หากคุณหรือคนที่คุณรักมีอาการเครียด หรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ อย่ารอช้าที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะแม้แผลในใจจะมองไม่เห็น แต่ก็สมควรได้รับการรักษาไม่น้อยไปกว่าบาดแผลทางร่างกาย

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ 

ศูนย์สุขภาพใจ ปรึกษาจิตแพทย์ ชั้น 18 โรงพยาบาลวิมุต

เวลาทำการ 08:00 - 18:00 น. โทร. 0-2079-0078

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
พญ.เพ็ญชาญา
อติวรรณาพัฒน์
จิตแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
“ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” 2 ข้อควรรู้ สู้ทั้งฝุ่นทั้ง COVID แบบจิตไม่ตก ปี 2568

ในภาวะที่ฝุ่น PM 2.5 กลับมาเข้าขั้นวิกฤตอีกครั้ง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อมรายงานผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 แล้วพบว่าเกินค่ามาตรฐานถึง 70 พื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กอาการ…แบบนี้ใช่ซึมเศร้าไหม กับแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า 9 ข้อ

หากคุณมีอาการเครียด นอนไม่หลับ เศร้า ซึม เบื่อหน่าย ร้องไห้บ่อย หรืออยากฆ่าตัวตาย มาเช็กสุขภาพจิตเบื้องต้นว่าเป็นซึมเศร้าไหม ด้วยแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า 9 ข้อนี้กัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
วิธีสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ เหตุคนไทยเครียดซึมเศร้า ยังไม่ติดโควิดแต่สุขภาพจิตใกล้โคม่า

แต่ไหนแต่ไรมาปัญหาสุขภาพจิตก็ถือเป็นภัยที่คุกคามชีวิตของคนทั่วโลกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในญี่ปุ่นมียอดการฆ่าตัวตายสูงถึง 17,000 ราย หลังจากเผชิญกับโรคไปได้แค่ 4 เดือน ในขณะที่ประเทศไทยก็มีอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นถึง 22% และการระบาดระลอกใหม่นี้เอง จะเห็นได้ว่าผู้คนยิ่งมีความวิตกกังวลเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังไม่มีท่าทีที่จะลดลง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวัน ต้องออกจากบ้านไปทำงาน มีการพบเจอผู้คน ท่ามกลางความหวาดระแวงว่าจะติดเชื้อหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เข้าถึงโลกของผู้สูงอายุด้วยหัวใจ สร้างสุขภาพจิตอย่างไรให้เวิร์ก

ทำไมคนแก่ขี้งอนบ่อย น้อยใจเก่ง อารมณ์แปรปรวนบ่อยๆ ? มาทำความเข้าใจโลกของผู้สูงอายุให้มากขึ้น กับปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุที่คนในครอบครัวต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

อ่านเพิ่มเติม