ถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ โรค PCOS คืออะไร อันตรายกับผู้หญิงแค่ไหนกัน ?

28 มี.ค. 68  | ศูนย์สูตินรีเวช
แชร์บทความ      

โรค PCOS

ทั้งที่รู้ตัวว่าประจำเดือนมาไม่ปกติ แต่ยังมีสาวๆ อีกหลายคนที่คิดว่าไม่เป็นไร อาจเป็นเพราะว่ารู้สึกแบบนี้มานานแล้ว แต่หารู้ไม่! ว่าแท้จริงแล้วอาจกำลังเสี่ยงกับโรค PCOS โดยไม่รู้ตัว นานวันเข้าอาจกลายเป็นภาวะแทรกซ้อน เพิ่มความเสี่ยงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เบาหวานและโรคอ้วน อีกทั้งยังเป็น 1 ในสาเหตุของภาวะมีบุตรยากอีกด้วย มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าโรค PCOS คืออะไร และกระทบกับสุขภาพโดยรวมอย่างไร บทความนี้รวมทุกประเด็นที่สาวๆ อยากรู้ พร้อมคำตอบที่ช่วยไขข้อสงสัยให้แล้วที่นี่

รวมคำถาม-ตอบเกี่ยวกับโรค PCOS โรคที่คุณผู้หญิงมีประจำเดือนผิดปกติอยากรู้!

1. โรค PCOS คืออะไร ?

โรค PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) หรือโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือฮอร์โมนในร่างกาย พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเกิดจากถุงน้ำรังไข่ขนาดเล็กๆ หลายใบในรังไข่ ไม่สามารถเจริญเติบโตจนกลายเป็นไข่ที่ตกตามปกติ ส่งผลให้มีการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่มีการตกไข่ ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์น้อยลง 
ซึ่งภาวะนี้ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะทรกซ้อนอีกมากมายหากไม่ได้รับการรักษา เช่น โรคเบาหวาน มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก และโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น

2. สาเหตุของโรค PCOS เกิดจากอะไร ?

ในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุ แต่พบว่ามีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกัน ดังนี้

  • ภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง (Hyperandrogenism) คือ ภาวะที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) มากเกิน อาจมีอาการ เช่น สิวขึ้นเยอะ ขนดก ผมร่วงมาก ซึ่งฮอร์โมนนี้จะรบกวนกระบวนการตกไข่ของร่างกาย ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินลดลง ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจึงต้องผลิตอินซูลินให้มากขึ้นตาม เมื่อระดับอินซูลินในร่างกายสูงกว่าปกติ รังไข่จะถูกกระตุ้นและผลิตฮอร์โมนเพศชายที่มากเกินพอดี และทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และเกิดการสะสมไขมันมากขึ้น เสี่ยงต่อโรคอ้วนอีกด้วย

3. โรค PCOS มีอาการเป็นอย่างไรบ้าง ?

โรค PCOS มีอาการเป็นอย่างไร

  1. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วัน หรือปีหนึ่งมีประจำเดือนไม่ถึง 8 ครั้ง
  2. เข้าข่ายภาวะมีบุตรยาก รอบประจำเดือนขาดนานเกิน 90 วัน หรือ 3 รอบ อาจแสดงถึงภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง
  3. สิว หน้ามัน ขนดก ในบางรายมักมีสิวขึ้นเยอะมากกว่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณกรอบหน้า รอบปาก ผิวมันมาก และมักมีขนดก ผมร่วงผมบาง ศีรษะล้าน ซึ่งเป็นอาการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายในร่างกายสูง
  4. น้ำหนักมากขึ้น มีภาวะอ้วน ทำให้ดื้อต่ออินซูลิน หรือตรวจพบเบาหวาน 

4. ใครมีความเสี่ยงเป็นโรค PCOS ได้บ้าง ?

โรค PCOS มักพบได้ประมาณร้อยละ 5-20 ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์และพบได้มากขึ้นในผู้หญิงที่มีภาวะอ้วนร่วมด้วย 

5. โรค PCOS ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ไหม ?

โรค PCOS ได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัยโดยอาจเกี่ยวข้องกับยีนส์หลายตัว รวมไปถึงสภาพแวดล้อมด้วย

6. จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรค PCOS มีวิธีตรวจหาอย่างไร ?

แพทย์มักวินิจฉัยภาวะ PCOS โดยพิจารณาจากการซักประวัติเพื่อหาความผิดปกติของรอบประจำเดือน ตรวจร่างกายว่ามีอาการแสดงของฮอร์โมนเพศชายสูง เช่น สิว ขนดก ผมบาง รวมถึงภาวะบ่งชี้ว่าร่างกายดื้อต่ออินซูลิน จำพวกรอยดำบริเวณข้อพับ และจะทำการอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อดูลักษณะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ 
นอกจากนี้แพทย์อาจสั่งตรวจเลือด เพื่อดูระดับฮอร์โมนเพศ ระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงตรวจวัดระดับไขมันว่าสูงผิดปกติหรือไม่

7. โรค PCOS อันตรายแค่ไหน ?

หากเป็นโรค PCOS แล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุมดลูกหนา และมีโอกาสเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในอนาคต เนื่องจากไม่มีการลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกออก หรือการเป็นประจำเดือนอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้มีภาวะมีบุตรยาก วิตกกังวลและซึมเศร้า อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เพิ่มโอกาสเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ระดับไขมันสูงผิดปกติ ความดันโลหิตสูงและกลุ่มอาการอ้วนลงพุง อันเป็นความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต

8. เป็น PCOS สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ?

เป็น PCOS สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่

แม้โรค PCOS จะส่งผลต่อการตกไข่ของผู้หญิง ทำให้เกิดภาวะไม่ตกไข่เรื้อรังและมีบุตรยาก แต่อาจสามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้โดยเฉพาะหากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้ในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำการใช้เทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ เช่น ยากระตุ้นให้ไข่ตก หรือวิธีการปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization หรือ IVF) 

9. วิธีการรักษา PCOS เป็นอย่างไร หายเองได้ไหม ?

  1. การรักษาโดยการไม่ใช้ยา เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก และออกกำลังกาย จะช่วยลดความเสี่ยงของกลุ่มอาการทางเมตาบอลิก และมีการตกไข่ที่สม่ำเสมอมากขึ้น
  2. การรักษาโดยการใช้ยา เช่น จำพวกยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาเม็ดโปรเจสติน (Progestins) หรือห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมน เพื่อควบคุมรอบประจำเดือนให้มาสม่ำเสมอ รวมถึงใช้ยาเพื่อลดการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชาย และรักษาภาวะมีบุตรยาก 

โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) จัดเป็นโรคเรื้อรัง การแสดงออกและระยะเวลาในการรักษาโรคมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผู้ป่วยจึงต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หรือขาดการรักษาต่อเนื่อง เพราะในรายที่เข้ารับการรักษาแล้วยังคงมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นกัน

10. มีวิธีป้องกันการเกิดโรค PCOS ได้อย่างไรบ้าง ?

การดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงความเครียด และการรับประทานอาหารที่ดี หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้งและไขมันที่มากเกินไป จะช่วยสร้างสมดุลให้ฮอร์โมน และลดโอกาสการเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบได้

สุขภาพภายในเป็นสิ่งที่สาวๆ ต้องใส่ใจ ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติที่หลายคนกำลังเผชิญอาจเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด แม้ปัจจุบันโรค PCOS ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคที่แน่ชัด และไม่ถูกระบุว่าเป็นโรคที่ควรคัดกรองทุกปี แต่หากพบความผิดปกติที่คล้ายกับอาการ  PCOS หรือถุงน้ำรังไข่หลายใบตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ประเมินความเสี่ยง และวางแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3  โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0066 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.ณัฐณิชา กังวลกิจ สูตินรีแพทย์

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?

ใกล้เวลาได้พบเจอกัน แต่คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง กับสิ่งที่ต้องเจอหลังคลอดลูก ที่นี่เราได้รวมข้อมูลเพื่อคุณแม่มือใหม่มาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้จริงไหม จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
4 มะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง

เช็กให้ชัวร์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคน กับ 4 มะเร็งร้ายทำลายชีวิต ที่สาวๆ ต้องหมั่นสังเกต พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิงปี 2567 ราคาพิเศษจาก รพ. วิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ก้าวสู่ชีวิตคู่อย่างมั่นใจ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน”

เริ่มต้นชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน กับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่และต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม