เช็คอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง อันตรายที่ไม่ใช่แค่ท้องเสีย

15 พ.ย. 66  | ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แชร์บทความ      

เช็คอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง อันตรายที่ไม่ใช่แค่ท้องเสีย

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease - IBD) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของทางเดินอาหาร สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด โดยอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรม และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ไม่ได้เป็นเพียงโรคท้องเสียธรรมดา แต่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง คืออะไร ?

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease - IBD) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดการอักเสบของทางเดินอาหาร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Ulcerative colitis - UC) และ โรคโครห์น (Crohn’s disease - CD) 

  1. โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis - UC) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบบริเวณลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงเท่านั้น การอักเสบเกิดที่เยื่อบุผิวลำไส้ในชั้นตื้น อาการแสดงขึ้นกับตำแหน่งและความรุนแรงที่เกิดการอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลวเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือดสด หรือมูกปนเลือด นอกจากนี้อาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดข้อ ตรวจพบค่าตับผิดปกติ พบได้ในเพศชายและหญิงใกล้เคียงกัน
  2. โรคโครห์น (Crohn’s disease - CD) เป็นโรคที่พบได้ทุกส่วนของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อาการแสดง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นมูกเลือด เป็นไข้ แบบที่พบในโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง แต่ข้อแตกต่าง คือ โรคโครห์นจะมีการอักเสบเกิดในชั้นลึกของทางเดินอาหาร จึงสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ตีบตัน หรือทะลุได้ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย

ปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้โรคกำเริบ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังที่แน่ชัด โดยอาจเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผิดปกติ โดยมักพบโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังในชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเชีย และด้วยลักษณะของโรคที่เป็นแบบเรื้อรัง เป็นๆหายๆ มีการกำเริบเป็นระยะ พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่กระตุ้นให้โรคกำเริบได้ ดังนี้

  1. สูบบุหรี่ พบว่าการสูบบุรี่สามารถกระตุ้นให้โรคโครห์นกำเริบได้ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในผุ้ป่วยโรคโครห์น เช่น ลำไส้ตีบ หรือทะลุ จนต้องได้รับการผ่าตัด 
  2. อาหาร พบว่าอาหารที่มีไขมันสูง ไขมันจากสัตว์ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง และโรคโครห์น ในขณะที่อาหารที่กากใยอาหารสูงสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคโครห์นได้
  3. การนอนหลับ พบว่าการอดนอนสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังกำเริบได้
  4. การติดเชื้อ การติดเชื้อในทางเดินอาหารสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังได้
  5. ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยาคุมกำเนิด

การวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

  1. การตรวจร่างกาย เน้นการตรวจบริเวณช่องท้องและทวารหนัก
  2. การตรวจเลือด และอุจจาระ เพื่อประเมินค่าการอักเสบ ภาวะโลหิตจาง และการติดเชื้อ
  3. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อ (ฺBiopsy) เป็นการตรวจที่แม่นยำ สามารถประเมินความรุนแรงของโรค และวางแผนการรักษาได้

การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่หายขาด การรักษาหลักจะเป็นการให้ยาเพื่อให้โรคสงบ ดูแลไม่ให้โรคกำเริบ และป้องกันไม่ให้มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ 

  1. การรักษาด้วยยา มีการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน และยาชีววัตถุ (Biologics) เพื่อลดการอักเสบในลำไส้ และเฝ้าระวังการติดเชื้อ
  2. การดูแลเรื่องโภชนาการ และการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
  3. การผ่าตัด กรณีที่ใช้ยาแล้วไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนของโรค อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอาจมีอาการกำเริบเป็นๆ หายๆ ได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และทำให้เกิดการอักเสบต่อเนื่องจนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังมีโอกาสสูงที่จะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย ผู้ป่วยจึงควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่เป็นระยะเพื่อเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ร่วมด้วย 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5  โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0054 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ. สาวินี จิริยะสิน อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ไขมันพอกตับ ภาวะอันตรายที่คุณเสี่ยงแค่ไหน? มาเช็กกัน !

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ ชวนคุณสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร เรามีข้อมูลมาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
“ท้องผูก” ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่…ถ่ายไม่ออก!

ถ่ายไม่ออก อุจจาระแข็ง นานๆ จะถ่ายครั้งหนึ่ง หรือทั้งสัปดาห์ถ่ายครั้งเดียว แบบนี้เป็นโรคท้องผูก ไหม ที่นี่เรารวมคำตอบ สาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก สำหรับคนที่มีปัญหาการขับถ่ายมาฝากให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขมันพอกตับ ภัยเงียบคร่าชีวิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ แต่จะสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ก่อนป้องกันได้ รักษาไว

ปวดท้องบ่อย ท้องผูกบ่อยและมีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ อาการแบบนี้คุณอาจกำลังเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มาเช็กอาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง