หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยวครึ่งซีก โรคใกล้ตัวที่คุณก็มีโอกาสเป็นได้

27 ก.ย. 66  | ศูนย์สมองและระบบประสาท
แชร์บทความ      

หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยวครึ่งซีก โรคใกล้ตัวที่คุณก็มีโอกาสเป็นได้

หน้าเบี้ยวครึ่งซีกเป็นอาการที่หากเกิดขึ้นกับใครแล้วย่อมสร้างความตื่นตระหนก ตกใจกลัวต่อผู้ป่วยอย่างแน่นอน เพราะเป็นอาการที่แสดงออกผ่านใบหน้า และยังส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตอย่างมากจนอาจต้องหยุดงาน หรือหยุดเรียนเพื่อเข้ารับการรักษาที่ต้องใช้เวลานานพอสมควร วันนี้เราจะพาคุณมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุและอาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก รวมถึงวิธีการดูแลรักษาร่างกายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้อย่างถูกต้อง

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) เกิดจากอะไร

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) หรืออัมพาตเบลล์ เกี่ยวข้องกับการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (Facial Cranial nNerve) ซึ่งในภาวะปกติเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 จะมาเลี้ยงกล้ามเนื้อของใบหน้าทั้งด้านบนและด้านล่าง หากเกิดการอักเสบจะทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก 

สาเหตุของโรคส่วนใหญ่ไม่ทราบที่มาอย่างชัดเจน แต่มีผู้ป่วยบางรายได้รับการสันนิษฐานว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเริม (Herpes simplex) ในช่วงที่ร่างกายทำงานหนัก หรือนอนหลับไม่เพียงพอ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือในช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงจากการทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) มีอาการอย่างไรบ้าง

เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงลง หรือเกิดอัมพาตชั่วขณะ จึงส่งผลให้มีอาการผิดปกติทางใบหน้า โดยอาการในแต่ละคนมีความรุนแรงมากน้อยไม่เท่ากัน แต่อาการจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรงภายใน 24-48 ชั่วโมง ซึ่งโดยรวมมีอาการ ดังนี้

1.   ยักคิ้วไม่ได้

2.   มีอาการปากเบี้ยว มุมปากตก พูดไม่ชัด

3.   เวลาดื่มน้ำ น้ำจะไหลออกจากมุมปากด้านเดียวกับที่เส้นประสาทอักเสบ

4.   หลับตาไม่สนิท เปลือกตาล่างเปิดออกทำให้ตาแห้ง ระคายเคืองตา

5.   มีความรู้สึกเหมือนหน้าบวม ตึงและชาที่ใบหน้าครึ่งซีก

6.   อาจสูญเสียการรับรสของลิ้นด้านที่เกิดอัมพาตไป

7.   ได้ยินเสียงที่ดังมากกว่าปกติของหูข้างเดียวกับเส้นประสาทสมองที่มีการอักเสบ

 

แนวทางการรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) มีวิธีใดบ้าง

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรืออาการปากเบี้ยวชั่วขณะนี้สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ร้ายแรงถึงชีวิตหรือถึงขั้นเป็นอัมพาตแต่อย่างใดหากมาพบแพทย์อย่างรวดเร็ว โดยทั่วไปอาการของโรคจะหายไปภายในระยะเวลา 1-2 เดือน ซึ่งจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปเนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน ดังนี้

1.   วิธีการรักษาโดยการใช้ยาเป็นหลัก เป็นการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นหลัก ในผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรงอาจพิจารณาใช้ยาต้านไวรัสร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่หลังจากได้รับยาอาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ หากได้รับยา 2 เดือน และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมตามขั้นตอนทางการแพทย์แล้วอาการยังแย่ลงเรื่อยๆ หลังจาก 3 สัปดาห์ หรืออาการยังไม่ดีขึ้นนานเกิน 4 เดือน แพทย์จะทำการเอกซเรย์สมองเพื่อตรวจสอบการกดทับหารอยโรคที่เส้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 หรือดูว่ามีเนื้องอกกดเบียดบริเวณเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 หรือไม่

2.   วิธีการใช้เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการใช้เครื่องส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็ก Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) เป็นคลื่นที่เหมาะต่อการกระตุ้นเส้นประสาทด้านนอก ซึ่งจะส่งสัญญาณไปยังเส้นประสาทคู่ที่ 7 โดยตรงเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อใบหน้าแข็งแรงขึ้น

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy)

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรืออาการปากเบี้ยวเป็นอัมพาตชั่วขณะนี้ สามารถเกิดขึ้นได้หากร่างกายเราอ่อนแอ หรือภูมิต้านทานลดลง เชื้อไวรัสก็อาจเข้ามาสร้างความเสียหายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นควรใส่ใจดูแลตัวเองตามคำแนะนำ ดังนี้

1.   พักผ่อนให้เพียงพอ

2.   ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที  3-5 ครั้ง/สัปดาห์

3.   ไม่ทำงานหักโหมและไม่เครียดมากเกินไป

4.   งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ 

โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรืออัมพาตเบลล์ อาการอัมพาตชั่วขณะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย หากร่างกายอ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันยิ่งอ่อนแอตามทำให้มีโอกาสเกิดอาการปากเบี้ยวได้ง่ายขึ้น แม้จะรักษาให้หายได้แต่ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น การใส่ใจดูแลสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรืออาการปากเบี้ยวนี้ได้ดีอย่างยิ่ง 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0068 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง ทุกวัยเสี่ยง ทุกคนเลี่ยงได้

หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว แขนขาก็ไม่มีแรง นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ มาเช็กอาการเบื้องต้นให้ทันเวลา ก่อนเสี่ยงอัมพาตและเสียชีวิตได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ฝึกสมองให้ฟิตอยู่เสมอกับ 5 เคล็ดลับ ลับสมองให้คม

ไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ขี้หลงขี้ลืมตั้งแต่ยังหนุ่มสาว มาฝึกสมอง ออกกำลังกายความคิด กระตุ้นให้สมองฟิต สดชื่นปลอดโปร่งกับ 5 วิธีนี้เลย

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กด่วน! ปวดหัวแบบนี้ ใช่ไมเกรนหรือไม่

ตรวจสอบสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน และวิธีบรรเทาอาการปวดอย่างถูกต้อง พร้อมหาคำตอบว่าปวดไมเกรนต่างจากปวดหัวธรรมดาอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลืมง่าย จำยาก สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ภัยเงียบที่อันตรายมากกว่าการหลงลืม เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง เกี่ยวข้องอย่างไรกับภาวะสมองเสื่อม เช็กอาการบ่งชี้และวิธีการรักษาได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม