กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคฮิต! มนุษย์ออฟฟิศต้องรู้

16 พ.ย. 65  | ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
แชร์บทความ      

กระเพราปัสสาวะอักเสบ

‘กระเพาะปัสสาวะอักเสบ’ และโรคท่อปัสสาวะอักเสบเป็นอีกโรคยอดฮิตตลอดกาลของสาวๆ โดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศและเหล่าแบ็กแพ็กเกอร์สายท่องเที่ยว มักพบกับเหตุสุดวิสัยจนกลายเป็นพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะไว้นานๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการถ่ายเบา ทั้งแสบ ขัด เจ็บ จนถึงกับกลั้นไม่ได้ สร้างความทรมานให้ร่างกายและใช้ชีวิตได้ยากลำบาก วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบให้มากขึ้นถึงที่มาที่ไป สัญญาณเตือนหรืออาการส่อโรคแบบไหนที่เห็นได้ชัดเจน พฤติกรรมใดที่ทำให้
ร่างกายตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ไปจนถึงฮาวทูรักษาดูแลตัวเองอย่างไรให้ถูกวิธี มาศึกษาก่อนสาย… ทำความเข้าใจโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบไปพร้อมกัน

กระเพาะปัสสาวะอักเสบเกิดจากอะไร

สาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis) ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งพบได้มากถึง 75-95% โดยเจ้าเชื้อโรคเหล่านี้มักจะลักลอบเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของเราโดยไม่รู้ตัว ก่อนจะถูกขับออกโดยการถ่ายปัสสาวะ การกลั้นปัสสาวะไว้นานๆ จึงเป็นการเพิ่มระยะเวลาให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้มากขึ้น และเข้าไปฝังตัวอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนเกิดการอักเสบได้ในที่สุด

ทั้งนี้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือท่อปัสสาวะอักเสบมักพบในเพศหญิงได้ง่าย เนื่องจากผู้หญิงมีท่อปัสสาวะที่สั้นกว่าเพศชาย และพบได้มากขึ้นในผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว (ช่วงอายุ 20-40 ปี) เนื่องจากช่องคลอดอาจเกิดการเสียดสีจากเพศสัมพันธ์ ทำให้มีการอักเสบของท่อปัสสาวะที่อยู่ข้างๆได้ง่ายขึ้น จึงนำไปสู่การติดเชื้อแบคทีเรียได้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวานและโรคไตก็จัดอยู่ในกลุ่มผู้เสี่ยงสูงต่อโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเช่นกัน

กระเพาะปัสสวะอักเสบในมนุษย์ออฟฟิศ

ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและท่อปัสสาวะอักเสบ

  • กลั้นปัสสาวะนานๆ การกลั้นปัสสาวะจัดเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงสุดในการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและท่อปัสสาวะอักเสบ โดยเฉพาะสาวๆ ออฟฟิศที่มักกลั้นปัสสาวะอยู่เป็นประจำเพราะต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือการเดินทางระยะไกลที่ห้องน้ำสาธารณะไม่เอื้ออำนวย
  • ดื่มน้ำน้อย การดื่มน้ำปริมาณน้อยเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้เชื้อแบคทีเรียที่ค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเจริญเติบโตและก่อโรคได้อย่างรวดเร็ว 
  • ทำความสะอาดไม่ถูกสุขอนามัย ไม่ใช่เพียงแต่การกลั้นปัสสาวะเท่านั้น หากขาดการดูแลสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศอย่างถูกวิธี ทำความสะอาดทวารหนักก่อนทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังขับถ่ายซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ก็สามารถนำพาเชื้อโรคเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเพศหญิงทั้งที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน ใช้ผ้าอนามัยแบบสอด 
  • การมีเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดการเสียดสีบริเวณช่องคลอดและท่อปัสสาวะ จนทำให้เกิดการอักเสบได้หลังการมีเพศสัมพันธ์ อีกทั้งหากมีการตกขาวร่วมด้วยก็ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียกระจายไปสู่กระเพาะปัสสาวะได้ง่ายขึ้นด้วย 

เช็ก 5 อาการ สัญญาณเตือนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

1. กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบมักจะเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าปกติ และเมื่อปวดในครั้งต่อไปกลับรู้สึกต้องการปลดทุกข์ทันทีที่มีอาการปวด กลั้นไม่อยู่จนปัสสาวะเล็ดหรือราดออกมาบ่อยครั้ง

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาการธรรมดาที่ไม่ควรมองข้าม

2. แสบ ขัดที่ปลายหลอดปัสสาวะ

หลังเสร็จสิ้นจากการปัสสาวะมักมีอาการ แสบ ขัด เจ็บบริเวณปลายหลอดปัสสาวะ หรือรู้สึกปวดปัสสาวะแต่ไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้ตามปกติ เจ็บ ทรมาน

3. ปัสสาวะบ่อยแบบกะปริบกะปรอย

อาการปัสสาวะแบบกะปริบกะปรอย ขับถ่ายต่อครั้งได้ปริมาณน้อย ปวดปัสสาวะบ่อยแทบทุกชั่วโมง และปัสสาวะไม่สุด

สัญญาณกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

4. ปวดท้องน้อย

ขณะปัสสาวะจนสุดจะรู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย อาจปวดมากแบบบิดเกร็ง หรือปวดแบบหน่วงๆ ในบางครั้งอาจปวดเป็นระยะแล้วหายไป หรือบางครั้งอาจปวดเกร็งตลอดเวลาก็ได้เช่นกัน

5. ปัสสาวะมีสีขุ่น

เริ่มตั้งแต่สีเหลืองขุ่นไล่ระดับความเข้มขึ้นหากมีอาการมาก และอาจมีเลือดปนมาด้วยในรายที่มีอาการรุนแรง หรืออาจมีกลิ่นเหม็นและมีอาการไข้ร่วมด้วยได้

แนวทางการตรวจและการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ

เมื่อเช็กอาการข้างต้นจนแน่ใจแล้วว่ากำลังเผชิญกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หลายคนอาจสงสัยว่าหากเป็นแล้วสามารถรักษาให้หายเองได้ไหม เบื้องต้นเมื่อพบอาการแรกเริ่มของโรคแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับแบคทีเรียออกไปพร้อมปัสสาวะและเข้าพบแพทย์ เนื่องจากอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมีความชัดเจน โดยแพทย์จะทำการซักประวัติการเจ็บป่วยและตรวจร่างกายพื้นฐาน จึงมักบอกได้อย่างชัดเจนแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อดังกล่าวหรือไม่ แต่การตรวจปัสสาวะเพื่อหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจเจือปน จำพวกเชื้อแบคทีเรียหรือเม็ดเลือดขาว แล้วจึงส่งเพาะเชื้อก็จะช่วยให้การวินิจฉัยมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น

เป็นแล้วอย่าปล่อยให้เป็นซ้ำ ค้นหาสาเหตุ เพื่อการรักษาที่ตรงจุด

>> แพ็กเกจตรวจวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ในโปรโมชันราคาสุดพิเศษ <<

แพ็กเกจตรวจวินิจฉัยกระเพาะปัสสาวะอักเสบโดยเฉพาะ ตรวจให้ครบทุกมิติ เพื่อค้นหาสาเหตุแท้จริงได้อย่างแม่นยำ

แนวทางการรักษาเบื้องต้นทำได้โดยรับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 3-5 วัน ในผู้ป่วยที่มีอาการหนักเข้าขั้นรุนแรง หรือเรื้อรัง อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะนานประมาณ 7-10 วัน ผู้ที่เคยมีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบแล้ว ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก และหากมีอาการมากกว่า 2 ครั้ง ภายในระยะเวลาใน 6 เดือน แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม อาทิ การส่องกล่องระบบทางเดินปัสสาวะ การถ่ายภาพรังสี หรืออัลตราซาวน์ เพื่อหาความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับการติดเชื้อ เช่น ภาวะนิ่วในไต หรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

ป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

ดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธี ถอยหนีจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

แม้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะพบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้หญิง หากแต่เราสามารถละและลดทุกปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรครวมถึงวิธีป้องกันได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะนานๆ โดยไม่จำเป็น สละเวลาสักนิดจากโต๊ะทำงานไปปล่อยเบาเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย นอกจากดีต่อสุขภาพกายแล้ว ยังได้ละสายตาออกจากงานชั่วครู่เป็นการรีแล็กซ์ไปในคราวเดียว ในระหว่างการท่องเที่ยวหรือเดินทางระยะไกลที่ห้องน้ำไม่เป็นใจการพกถุงซึมซับปัสสาวะ หรือกระดาษรองนั่งก็ช่วยให้การปล่อยเบาเป็นเรื่องง่ายดายแม้เป็นสถานที่ไม่คุ้นชิน 
  • เพื่อลดความเสี่ยงของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือท่อปัสสาวะอักเสบ หลังมีเพศสัมพันธ์ให้ชำระร่างกายและปัสสาวะทิ้งทันที 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อช่วยเร่งการขับเชื้อโรคออกจากท่อปัสสาวะ 
  • ดูแลรักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศจากด้านหน้าไปด้านหลังเสมอ ใช้ฝักบัวอาบน้ำทดแทนการแช่ในอ่าง 
  • สวมชุดชั้นในเนื้อผ้านิ่ม โปร่ง เพื่อช่วยระบายอากาศและลดความอับชื้นบริเวณจุดซ่อนเร้น 

แม้ว่าโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบและท่อปัสสาวะอักเสบจะไม่ได้มีความรุนแรง แต่ก็สามารถสร้างความหงุดหงิดใจและพบได้บ่อยครั้ง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมตามที่ได้แนะนำไว้ข้างต้น ร่วมกับการออกกำลังกาย จะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคืออย่ามองข้ามเมื่อเจ็บป่วยแล้วปล่อยให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นเวลานาน หากอาการแสบขัดไม่ดีขึ้น มีไข้ หนาวสั่น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาเพิ่มเติมอย่างตรงจุด เพราะเชื้อแบคทีเรียอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนเข้าสู่กรวยไตทำให้เกิดสภาวะไตวาย และกลายเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสเลือด ที่อาจส่งผลร้ายอันตรายถึงแก่ชีวิต
ที่โรงพยาบาลวิมุตเรามีศูนย์บริการโรคระบบปัสสาวะ ที่ประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคระบบปัสสาวะรวมถึงทีมสหสาขาวิชาชีพ ที่พร้อมให้บริการดูแลรักษา ให้คำปรึกษาเพื่อการปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง และส่งต่อการรักษาอย่างสอดคล้องเป็นทีมเดียวกัน โดยมีเครื่องมือที่ทันสมัยและวิธีการรักษาที่สะดวก สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคระบบปัสสาวะอย่างครบวงจรตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูร่างกายกลับมาทำกิจวัตรตามปกติได้อย่างรวดเร็ว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต
เวลา 08.00-20.00 น. หรือโทร 0-2079-0040
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. วิชญะ ปริพัฒนานนท์ ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินปัสสาวะ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ขลิบหนังหุ้มปลายเพศชาย ไม่อันตรายและเจ็บปวดอย่างที่คิด

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ทำแล้วมีประโยชน์ยังไง ปลอดภัย เจ็บน้อย ไร้เลือดได้จริงไหม และหลังขลิบปลาย ต้องดูแลตัวเองอย่างไร วันนี้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญจะมาให้คำตอบทุกข้อสงสัย

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)

จะให้กล่าวถึงสาเหตุของภาวะองคชาติไม่แข็งตัว ส่วนใหญ่สาเหตุการเกิดปัญหาเหล่านี้จะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ โดยหากเป็นในช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ส่วนใหญ่เกือบจะ 100%

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจพบเร็ว ก็รักษาให้หายได้

มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายในคุณผู้ชายที่ตรวจพบเร็วสามารถรักษาให้หายได้! มาทำความเข้าใจและเช็กอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากกัน พร้อมแพ็กเกจตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากในราคาพิเศษได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ต่อมลูกหมากโต สาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษา

ต่อมลูกหมากโต มักพบได้ในผู้ชายวัย 50+ เป็นภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ มาทำความรู้จักโรคนี้ พร้อมแนวทางการดูแลรักษาอย่างไร เรารวมข้อมูลไว้ให้คุณแล้ว

อ่านเพิ่มเติม