สมองเสื่อม โรคทางสมองที่รู้ทันสามารถป้องกันและชะลออาการได้

05 พ.ย. 67  | ศูนย์สมองและระบบประสาท
แชร์บทความ      

เมื่อความทรงจำเริ่มเลือนราง... สิ่งที่คุณรักอาจหายไป สำหรับเรื่องของการหลงลืมเล็กๆ น้อยๆ ฟังดูอาจเป็นเรื่องธรรมดาของวัยที่เพิ่มขึ้น แต่หากความทรงจำเริ่มเลือนหายไปอย่างต่อเนื่อง การคิดอ่านและแก้ไขปัญหาลดลง หลงทิศหลงทางมากขึ้นเรื่อยๆ หลงลืมแม้กระทั่งวิถีชีวิตจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของ "สมองเสื่อม" โรคที่สร้างความทุกข์ใจให้ทั้งผู้ป่วยและคนรอบข้าง ในบทความนี้เราชวนคุณมาทำความรู้จักกับโรคสมองเสื่อม ทั้งสาเหตุเกิดจากอะไร อาการสัญญาณเตือนเริ่มต้นและการรักษาเป็นอย่างไร เพราะหากรู้เร็วก็จะช่วยให้คุณชะลอรอยโรคและรักษาคุณภาพในการใช้ชีวิตได้

สมองเสื่อมคืออะไร ?

สมองเสื่อม (Dementia) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลง อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ จนส่งผลกระทบต่อความจำ ความคิด การตัดสินใจและพฤติกรรม โดยอาการจะไม่ใช่เพียงแค่การหลงๆ ลืมๆ ตามวัยเพียงเท่านั้น แต่เป็นความผิดปกติที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

สาเหตุของสมองเสื่อม

สำหรับปัญหาสมองเสื่อมนั้นเกิดขึ้นจากเซลล์สมองที่ทำงานได้มีจำนวนลดลง ทั้งจากการเสื่อมสภาพจนตาย หรือ เหี่ยวและฟ่อลง โดยอาจมีสาเหตุมาจากหลายโรค ทั้งที่รักษาได้และรักษาไม่ได้

สาเหตุของสมองเสื่อม ที่เกิดจากโรคที่รักษาได้

  • ภาวะขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินบี 12
  • ภาวะพร่องไทรอยด์
  • ภาวะซึมเศร้า
  • เนื้องอกในสมอง, ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง
  • ติดเชื้อในสมอง เช่น ไวรัสเอดส์ ซิฟิลิส
  • ได้รับยาบางชนิด หรือสารเสพติด
  • ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ

สาเหตุของสมองเสื่อม ที่เกิดจากโรคที่รักษาไม่ได้

  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)
  • สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง (Vascular dementia)
  • โรคสมองเสื่อมจากภาวะอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคฮันติงตัน

 

สมองเสื่อม VS โรคอัลไซเมอร์

มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าโรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์คือโรคเดียวกัน เพราะด้วยอาการหลงลืม จำไม่ได้ที่เหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วโรคอัลไซเมอร์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการภายใต้โรคสมองเสื่อมเพียงเท่านั้น ไม่ใช่โรคเดียวกัน

 

อาการของสมองเสื่อมเป็นอย่างไร มีกี่ระยะ?

ในการสังเกตอาการของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่ระยะแรกจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการได้เร็วและรับการรักษาได้อย่างทันถ่วงที โดยอาการแรกเริ่มและอาการในระยะต่างๆ ของสมองเสื่อมมีอาการ ดังนี้

อาการสมองเสื่อมแรกเริ่ม หรือระยะแรกกับความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ

  • หลงลืมบ่อยครั้ง เริ่มลืมสิ่งของวางไว้ที่ไหน ลืมนัดหมาย หรือเหตุการณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้น
  • มีปัญหาในการหาคำพูด พูดติดขัด หาคำพูดไม่เจอ หรือใช้คำผิดๆ
  • สับสนกับเส้นทางที่คุ้นเคย หลงทางในสถานที่ที่เคยไปเป็นประจำ
  • ตัดสินใจผิดพลาด ตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ได้ยากขึ้น หรือตัดสินใจผิดพลาดบ่อยครั้ง
  • ความสนใจลดลง ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ หรือปลีกตัวจากสังคม
  • เปลี่ยนแปลงอารมณ์และบุคลิกภาพ ซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

อาการสมองเสื่อมทั่วไป ที่เริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวัน

  • หลงลืมรุนแรงขึ้น เริ่มลืมคนใกล้ตัว ลืมเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น วันเกิดคนใกล้ชิด หรือลืมวิธีทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ การแต่งตัว การแปรงฟัน หรือวิธีการใช้รีโมท
  • สับสนเรื่องเวลาและสถานที่ จำวัน เวลา หรือสถานที่ไม่ได้ หรือหลงทางแม้ในสถานที่คุ้นเคย
  • ปัญหาในการสื่อสาร พูดจาไม่รู้เรื่อง เขียนหนังสือไม่ได้ หรือเข้าใจภาษาพูดได้ยาก
  • มีปัญหาในการคิดและวางแผน ทำงานที่เคยทำได้ยากขึ้น หรือจัดการเรื่องเงินไม่ได้
  • มีพฤติกรรมซ้ำๆ ทำสิ่งเดิมซ้ำๆ หรือพูดเรื่องเดิมซ้ำๆ
  • มีปัญหาในการมองเห็นหรือการรับรู้ มองเห็นภาพบิดเบือน หรือมีปัญหาในการแยกแยะสิ่งของ

อาการสมองเสื่อมระยะสุดท้าย อาการสมองเสื่อมขั้นรุนแรง ที่ต้องเข้ารับการรักษาและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

  • สูญเสียความทรงจำระยะยาว จำเรื่องราวในอดีต หรือจำคนใกล้ชิดไม่ได้
  • พึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง เช่น การรับประทานอาหาร การอาบน้ำ หรือการแต่งตัว
  • มีปัญหาในการเคลื่อนไหว เดินเซ ล้มบ่อย หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • มีปัญหาในการกลืน สำลักอาหาร หรือน้ำบ่อยครั้ง
  • มีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมที่รุนแรง ก้าวร้าว หวาดระแวง หรือมีภาพหลอน

การวินิจฉัยและรักษาสมองเสื่อม

ในการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม แพทย์จะทำการซักประวัติเพื่อตรวจหาความผิดปกติของอาการป่วย ซึ่งโดยส่วนมากแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยร่วมกับญาติที่คอยดูแล และจะมีการตรวจสมรรถภาพของสมอง (Neuropsychological Tests) ตรวจร่างกายทางระบบประสาท ตรวจเลือด รวมถึงการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเครื่อง PET (Positron emission tomography) เพื่อค้นหาสาเหตุที่แน่ชัดของโรคสมองเสื่อมที่เกิดขึ้น

ซึ่งหากพบสาเหตุมาจากการขาดฮอร์โมน แพทย์ก็จะสั่งยาทดแทนฮอร์โมนให้ หรือหากตรวจพบภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง เนื้องอกในสมอง อาจจะต้องมีการผ่าตัดสมองเพื่อระบายน้ำที่คั่ง หรือนำเนื้องอกออก แต่หากภาวะสมองเสื่อมเกิดจากเซลล์สมองเสื่อม จะได้รับยาชะลออาการร่วมกับการปรับพฤติกรรม ซึ่งญาติหรือผู้ดูแลต้องให้ความร่วมมือในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาผู้ป่วย

เพราะทุกความทรงจำมีค่า... ที่ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลวิมุต เราพร้อมเคียงข้างคุณในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัย วางแผนการรักษา และดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอย่างครบวงจร เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งหากคุณ หรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม ยิ่งเริ่มต้นดูแลเร็วยิ่งมีโอกาสชะลอการดำเนินโรคและรักษาคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0068 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์  

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.กฤตวิทย์
รุ่งแจ้ง
อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท
ประสาทวิทยา

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ระวัง! สัญญาณเตือน สโตรก (Storke) ของหลุดมือบ่อย น้ำลายไหลมุมปาก

สโตรก(stroke) หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก หรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดอาการแขนขาไม่มีแรงเฉียบพลัน หน้าเบี้ยว น้ำลายไหลมุมปาก หยิบจับของแล้วหล่น สัญญาณเตือนให้เข้ารับการรักษาด่วนที่สุด เพราะอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ฝึกสมองให้ฟิตอยู่เสมอกับ 5 เคล็ดลับ ลับสมองให้คม

ไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ขี้หลงขี้ลืมตั้งแต่ยังหนุ่มสาว มาฝึกสมอง ออกกำลังกายความคิด กระตุ้นให้สมองฟิต สดชื่นปลอดโปร่งกับ 5 วิธีนี้เลย

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กด่วน! ปวดหัวข้างเดียวแบบนี้ ใช่ไมเกรนหรือไม่

ชวนคุณมารู้ให้ลึกเรื่องของหัวจะปวด กับปวดหัวไมเกรน สาเหตุกระตุ้นเกิดจากอะไร ไมเกรนมีกี่แบบ วิธีบรรเทาอาการปวดอย่างถูกต้อง และคำตอบว่าปวดไมเกรนต่างจากปวดหัวธรรมดาอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลืมง่าย จำยาก สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ภัยเงียบที่อันตรายมากกว่าการหลงลืม เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง เกี่ยวข้องอย่างไรกับภาวะสมองเสื่อม เช็กอาการบ่งชี้และวิธีการรักษาได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม