เบาหวานขึ้นตา ตรวจรักษา…ก่อนสูญเสีย

18 พ.ย. 65  | ศูนย์จักษุ
แชร์บทความ      

 

เบาหวานขึ้นตา ตรวจรักษา…ก่อนสูญเสีย

เบาหวานขึ้นตา เป็นภาวะแทรกซ้อนอันดับหนึ่ง ของผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้ เพราะดวงตาก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพียงแต่ผู้ป่วยเองมักไม่รู้สึกถึงความผิดปกติของดวงตาในระยะแรกที่เผชิญกับโรคเบาหวาน ด้วยความไม่รู้ตัวจึงส่งผลให้ขาดการตรวจตาและรับการรักษาอย่างที่ควรเป็น ในกรณีที่เป็นเบาหวานและควบคุมได้ไม่ดีนานกว่า 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นเบาหวานขึ้นตามากถึง 80% เป็นเหตุให้เกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆ ตามมา และอาจถึงขั้นสูญเสียอวัยวะสำคัญได้ในที่สุด

 

เบาหวานขึ้นตา เกิดขึ้นได้อย่างไร? 

เบาหวานขึ้นตาเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อที่สามารถพบได้บ่อย โดยหากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงสะสมเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยทำงานผิดปกติ เส้นเลือดเล็กๆ ทั่วทั้งร่างกายจะเสื่อมสภาพไปทีละนิด รวมทั้งเส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงดวงตาจะมีภาวะโป่งพอง เกิดการรั่วซึมและขับน้ำส่วนเกินออกทางดวงตา ในระยะรุนแรงจะพบเส้นเลือดงอกผิดปกติและมีพังผืดร่วมด้วย ซึ่งก่อให้เกิดภาวะเลือดออกจนถึงจอตาลอก และสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด 

อาการของเบาหวานขึ้นตา แบ่งออกเป็นหลายระยะ ดังนี้ 

  • เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรกถึงระยะกลาง : ระยะแรกผนังของเส้นเลือดที่จอตาจะเริ่มไม่แข็งแรงและเริ่มโป่งพอง มีจุดเลือดออกและการรั่วซึมของเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงลูกตาอยู่บ้าง แต่ยังไม่มากนัก จัดเป็นระยะที่ยังไม่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR) โดยอาการเริ่มต้นของผู้ป่วยมักไม่มีอาการบ่งบอกภาวะของโรคที่เด่นชัด มักไม่รู้สึกระคายเคือง แสบตา หรือเจ็บปวด ลักษณะดวงตาจากภายนอกดูเป็นปกติ แต่หากมีจุดเลือดออกหรือการรั่วซึมบริเวณจุดสำคัญในตา อาจส่งผลให้มีค่าสายตาเปลี่ยนแปลง เห็นภาพบิดเบี้ยว ความสามารถในการแยกแยะสีลดลง หรือมีเงาดำบดบังการมองเห็นบางส่วน นั่นเพราะเบาหวานขึ้นตาเริ่มทำลายจอประสาทตาจากภายในแล้ว
  • เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า : เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงดวงตาเริ่มเสื่อมสภาพและอุดตันจนไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้จอตาขาดเลือด ร่างกายจะสร้างเส้นเลือดฝอยงอกใหม่ขึ้นมาทดแทน (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) แต่มีความเปราะบางอ่อนแอมากกว่าปกติ และอาจมีพังผืดร่วม ผู้ป่วยจะพบอาการของระยะเริ่มต้นจนถึงระยะกลางร่วมกับอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น เลือดที่ออกในวุ้นตาบดบังการมองเห็น จอตาลอก หรือมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มเติมเกิดเป็นต้อหินทุติยภูมิ เป็นต้น ซึ่งภาวะเหล่านี้แก้ไขได้ยาก และมักทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด

 

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะเบาหวานขึ้นตา

จุดภาพชัดบวม : อาจเกิดได้กับเบาหวานทุกระยะ อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ผู้ป่วยอาจเห็นจุดดำบริเวณกลางภาพ สายตาขุ่นมัว แยกสีได้ไม่ชัดเจน ภาวะการมองเห็นผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน เช่น การขับรถ การอ่านหนังสือ และการใช้สายตาจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นต้น

ต้อกระจก : เมื่อภาวะเบาหวานสะสมนานวันน้ำตาลในเลือดจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสารซอร์บิทอล (Sorbitol) และฟรุกโตส (Fructose) สะสมอยู่บริเวณเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตาขุ่นขึ้น และบดบังแสงไม่ให้ผ่านเข้าไปถึงนัยน์ตา ภาวะต้อกระจกนี้จะต้องทำการผ่าตัดเอาเลนส์ที่ขุ่นมัวออก และใส่เลนส์เทียมเข้าไปทดแทน

เลือดออกในวุ้นตาและจอตา : หลอดเลือดที่ไม่แข็งแรงบริเวณดวงตาสามารถปริแตกได้ทุกเมื่อเพราะความเปราะบาง หากเลือดออกไม่มากจะเห็นเป็นจุดสีดำลอยไปมาตามทิศทางที่กรอกตามอง แต่หากมีเลือดออกในปริมาณมากอาจบดบังการมองเห็นได้

เพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อในดวงตาและเบ้าตา : สภาพร่างกายที่ไม่เหมาะสม ทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันทำงานบกพร่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้ตาพร่ามัวเร็วกว่าภาวะของโรค และอาจไม่สามารถกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจน แม้จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ก็ตาม

จอตาลอก : หากเบาหวานขึ้นตาอยู่ในระยะก้าวหน้า จอประสาทตาส่วนที่ขาดเลือดจะถูกกระตุ้นให้สร้างหลอดเลือดใหม่ที่ไม่อยู่ตรงตำแหน่งปกติ มีผนังเปราะแตกง่าย และอาจเกิดเนื้อเยื่อคล้ายพังผืดงอกตามหลอดเลือด จนดึงรั้งจอประสาทตาให้หลุดลอก ผู้ป่วยอาจจะมองเห็นแสงคล้ายฟ้าแลบ หรือจุดดำบังภาพบางส่วนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็นโดยตรง ถึงขั้นตาบอดได้

ต้อหิน : ผู้ป่วยเบาหวานในระยะก้าวหน้าที่มีการสร้างหลอดเลือดผิดปกติอาจเกิดภาวะต้อหินทุติยภูมิขึ้น โดยกลุ่มหลอดเลือดและพังผืดเหล่านี้จะไปรบกวนการระบายน้ำออกจากลูกตา เป็นเหตุให้ความดันลูกตาสูงขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตาเนื่องจากความดันตาสูง หากเป็นนานเข้าโดยไม่ได้รับการรักษาจะเกิดความเสียหายถาวรต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากตาไปยังสมอง  ทำให้ประสาทตาฝ่อและเป็นต้อหินโดยสมบูรณ์

สูญเสียการมองเห็น : ปลายทางของภาวะเบาหวานขึ้นตาที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจรุนแรงกว่าที่คิด เมื่อเบาหวานลุกลามขึ้นจอประสาทตา จะมีการทำลายของเซลล์ประสาทตาและขั้วประสาทตา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เพิ่มเติม หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องถูกวิธี อาจส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร

 

เบาหวานขึ้นตาป้องกันได้ ด้วยการตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

การตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตา ต้องมีการขยายม่านตาเพื่อตรวจจอประสาทตา โดยทีมแพทย์จะหยอดยาขยายม่านตาให้แก่ผู้ป่วย เพื่อให้ม่านตาขยายตัว  เมื่อม่านตาของผู้ป่วยขยายออกจนเต็มที่ จักษุแพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจหาความผิดปกติของจอประสาทตา ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน ให้ผลการตรวจที่ละเอียดและแม่นยำที่สุด ภายหลังจากได้รับยาขยายแล้วม่านตาจะกลับสู่ภาวะปกติใน 3-4 ชั่วโมง แต่ในรายที่เป็นโรคเบาหวานมานาน ม่านตาอาจใช้เวลาหดกลับมาเป็นปกตินานกว่า 4 ชั่วโมงขึ้นไป นอกจากนี้แล้วในกรณีที่พบความผิดปกติ อาจแนะนำให้ถ่ายภาพเฉพาะส่วนเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการติดตามรักษา

ทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน ควรตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นจอตาอย่างละเอียดโดยวิธีข้างต้นทันที เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าภาวะเบาหวานได้สะสมในร่างกายมานานเท่าใดแล้ว หากไม่พบความผิดปกติและควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี อาจตรวจติดตามอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่หากพบความผิดปกติที่จอตา หรืออยู่ในช่วงที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ จำเป็นต้องติดตามผลให้บ่อยขึ้นตามระยะและความรุนแรงของโรค

โรงพยาบาลวิมุตพร้อมให้บริการตรวจรักษาโรคเบาหวานแบบครบวงจร ดูแลเบาหวานขึ้นตาและภาวะแทรกซ้อนที่อาจตามมา โดยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และทีมจักษุแพทย์ ด้วยเครื่องมือทางห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือด ตรวจโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ ตรวจระดับไขมันในเลือดชนิดไม่ดี ตรวจหน้าที่การทำงานของตับ ไต และที่สำคัญตรวจตรวจการไหลเวียนของหลอดเลือด (Vascular Doppler) รวมถึงตรวจเท้าแบบละเอียด (Foot Examinations) ด้วยเครื่องมือเฉพาะ รวมถึงติดตามผลการตรวจตลอด 6 เดือน กับ ‘แพ็กเกจโรคเบาหวาน’ ในราคาโปรโมชั่นเพียง 4,800 บาท เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะเบาค่าใช้จ่าย ห่างไกลจากเบาหวานขึ้นตา ได้รับการดูแลเบาหวานอย่างครอบคลุมคุ้มค่าและมีสุขภาพที่ดี 

ให้ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจที่สดใสไปอีกนาน ด้วยการพบจักษุแพทย์ตรวจหาความเสี่ยงเบาหวานขึ้นตาและตรวจภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานเป็นประจำทุกปี เพราะอาการพร่ามัวไม่ได้เกิดขึ้นในระยะแรกของโรคเสมอไปจึงไม่ควรรอจนมีอาการ การตรวจเบาหวานขึ้นตาที่คุ้มค่าที่สุด คือการตรวจตั้งแต่ยังมองเห็นได้เป็นปกติ อีกทั้งการรักษาจะยังได้ผลดีกว่าหากอยู่ในระยะแรกไปจนถึงระยะกลาง ตัดโอกาสและป้องกันไม่ให้ลุกลามไปถึงเบาหวานระยะก้าวหน้า ห่างไกลภาวะแทรกซ้อนและลดโอกาสเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการมองเห็นได้

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์
เรียบเรียงโดย : พญ. จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน ศูนย์จักษุ ชั้น 5 รพ.วิมุต

ศูนย์จักษุ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต

เวลา 08.00-20.00 น. หรือโทร 0-2079-0058

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
พญ.จิรนันท์
ทรัพย์ทวีผลบุญ
จักษุแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ตรวจตาเด็กก่อนวัยเรียน สิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย

การตรวจตาเด็กก่อนวัยเข้าเรียน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ไม่ควรละเลย เพราะการมองเห็นมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก มาดูกันว่าการตรวจสุขภาพตาของเด็กจะต้องตรวจอะไรบ้าง และตรวจเพื่อหาความผิดปกติอะไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ตาพร่า ตามัว ตาฟาง ต้องระวัง 4 โรคต้อในตานี้!

โรคต้อในตา ทั้งต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน หรือต้อกระจก ต่างมีอาการและสาเหตุการเกิดที่ต่างกัน เราชวนคุณมาสังเกตอาการเพื่อดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะสูญเสียการมองเห็น

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
บอกลาแว่นคู่กาย ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วยการทำเลสิก!

รวมสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจทำเลสิก! เลสิกแก้ปัญหาสายตาแบบใดได้บ้าง เลสิก มีกี่แบบ มีวิธีเตรียมตัวก่อนทำและดูแลตัวเองหลังทำเลสิคอย่างไร ตามมาหาคำตอบได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง