Eating Disorder โรคทางใจที่ทำให้หลายคนกลัวอ้วน หรือกินไม่หยุด

17 พ.ย. 66  | ศูนย์สุขภาพใจ ปรึกษาจิตแพทย์
แชร์บทความ      

Eating Disorder โรคทางใจที่ทำให้หลายคนกลัวอ้วน หรือกินไม่หยุด

Eating Disorder หลายคนอาจไม่คุ้นกับชื่อของกลุ่มโรคนี้ แต่หากพูดถึงโรคคลั่งผอมหรือโรคหยุดกินไม่ได้ อาจจะร้องอ๋อ! ขึ้นมาบ้าง ซึ่งทั้ง 2 โรค ดังกล่าวนั้นถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอาการความผิดปกติของพฤติกรรมการกินที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงแค่ 2 โรคนี้เท่านั้น แต่จะมีโรคอะไรบ้าง รวมถึงมีอาการและสาเหตุมาจากอะไร เรามาดูกัน

Eating Disorders คืออะไร ?

Eating Disorder คือพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติไป ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะมีความกังวลต่ออาหารที่จะกินเข้าไปไม่ว่าเรื่องของน้ำหนักตัว หรือรูปร่าง โดยภาวะเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคขาดสารอาหาร โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูก โรคที่เกี่ยวกับต่อมไร้ท่อและฮอร์โมน เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยไว้มีโอกาสที่จะรุนแรงมากขึ้นและอาจร้ายแรงต่อชีวิตได้ โดยภาวะ Eating Disorder หรือความผิดปกติของพฤติกรรมการกินสามารถเกิดขึ้นได้หลายโรค ซึ่งสามารถแบ่งได้จากความผิดปกติของพฤติกรรมการกินดังต่อไปนี้

Eating Disorder ความผิดปกติของพฤติกรรมการกิน สามารถเป็นโรคอะไรได้บ้าง

1. โรคคลั่งผอม (Anorexia Nervosa)

เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะมีภาวะกังวลต่ออาหารที่กินเข้าไป กังวลเรื่องรูปร่างและน้ำหนักว่าจะทำให้ดูอ้วนจึงไม่ยอมกินอาหารใดๆ ปฏิเสธการกินอาหารว่าไม่หิว ทั้งที่จริงๆ ร่างกายหิวและต้องการอาหาร ซึ่งอาการของโรคคลั่งผอมนี้นอกจากพฤติกรรมการไม่ยอมกินอาหารแล้ว ยังสังเกตได้จากร่างกายที่ซูบผอม หนาวง่าย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เวียนหัว ประจำเดือนขาดหรือมาไม่ปกติ เป็นลมได้ง่ายเนื่องจากการขาดน้ำ รวมไปถึงผมร่วง ผิวแห้ง เล็บฉีกขาดได้ง่ายอีกด้วย ซึ่งจะต่อยอดให้ร่างกายเป็นโรคขาดสารอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมอง หรืออวัยวะภายในทำงานล้มเหลวได้

2. โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder (BED)

เป็นโรคที่มีอาการตรงกันข้ามกับโรคคลั่งผม ซึ่งผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดมักจะกินอาหารครั้งละมากๆ กินอย่างรวดเร็ว กินเยอะ กินจุ หากไม่รู้สึกอิ่มหรือไม่แน่นท้องก็จะไม่หยุดกิน แล้วจากนั้นก็จะรู้สึกผิด ซึมเศร้าที่ตัวเองกินมากไป แต่ก็ไม่สามารถสั่งร่างกายให้หยุดกินอาหารได้ ในบางรายอาจล้วงคอเพื่อเอาอาหารออก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคนี้มักเสพติดการลดน้ำหนัก เครียด เคยล้มเหลวในการลดน้ำหนัก หรือพบเจอเรื่องสะเทือนใจมากจึงทำให้มีพฤติกรรมเหล่านี้ สุดท้ายอาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดได้

3. โรคล้วงคอ (Bulimia Nervosa) 

เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้ทั้งโรคคลั่งผอมและโรคกินไม่หยุด ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้มักเป็นกลุ่มคนที่มีความกังวลเรื่องของน้ำหนักและรูปร่าง โดยเป็นภาวะที่เมื่อจิตใจรู้สึกผิดต่อการกินอาหารที่กินเข้าไป ทำให้ทุกครั้งหลังกินอาหารจะต้องไปล้วงคอเพื่อเอาอาหารออกมา หรือบางคนอาจใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ สวนทวารและออกกำลังอย่างหนักเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อระบบการย่อยอาหารให้ทำงานผิดปกติได้ ไม่สามารถกินอะไรได้ตามปกติ ร่างกายต่อต้านการกินอาหาร เป็นกรดไหลย้อน ฟันผุจากกรดในกระเพาะอาหารที่ทำลายผิวเคลือบฟันขณะที่อาเจียนอาหารออกมา ท้องเสีย รวมถึงฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน ซึ่งจะส่งผลต่อทุกระบบในร่างกายให้ทำงานผิดปกติและอาจอันตรายต่อชีวิตได้

4. โรคเลือกกินอาหาร (Avoidant / Restrictive Food Intake Disorder)

โรคนี้เป็นโรคที่มักพบได้บ่อยในเด็ก แต่ในผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้เช่นกัน โดยผู้ป่วยจะหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสชาติ สีสัน เนื้อสัมผัสที่ไม่ชอบ หรืออาหารที่ฝังใจในด้านไม่ดีและแสดงออกด้วยความกลัว สำลัก อาเจียน ท้องเสีย หรือเกิดอาการแพ้อาหารขึ้นมาได้ ซึ่งโรคนี้อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายได้

5. โรคคลั่งกินคลีน (Orthorexia Nervosa)

ในปัจจุบันการดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพในปริมาณที่เหมาะสมถือเป็นเรื่องที่ดีต่อร่างกาย แต่สำหรับผู้ป่วยโรคคลั่งกินคลีนจะมีภาวะที่ต้องกินคลีนตลอดเวลา จะเลือกกินเฉพาะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ต้องอ่านฉลากโภชนาการ เช็กส่วนประกอบ หรือส่วนผสมของอาหารทุกครั้งก่อนกิน และเครียดทุกครั้งเมื่อต้องกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักเป็นโรคขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย จนทำให้ระบบการทำงานของร่างกายทำงานผิดปกติและก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้

จะเห็นได้ว่า Eating Disorders ความผิดปกติของพฤติกรรมการกิน คือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นจากจิตใจและส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้อย่างมากมาย ซึ่งหากใครที่กังวลว่าตัวเอง หรือคนใกล้ตัวอาจมีอาการของโรคดังกล่าว สามารถเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สุขภาพใจ ปรึกษาจิตแพทย์ ชั้น 18 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-18.00 น. โทร. 0-2079-0078

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.เพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
“ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” 2 ข้อควรรู้ สู้ทั้งฝุ่นทั้ง COVID แบบจิตไม่ตก

ในภาวะที่ฝุ่น PM 2.5 กลับมาเข้าขั้นวิกฤตอีกครั้ง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อมรายงานผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 แล้วพบว่าเกินค่ามาตรฐานถึง 70 พื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กอาการ…แบบนี้ใช่ซึมเศร้าไหม กับแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า 9 ข้อ

หากคุณมีอาการเครียด นอนไม่หลับ เศร้า ซึม เบื่อหน่าย ร้องไห้บ่อย หรืออยากฆ่าตัวตาย มาเช็กสุขภาพจิตเบื้องต้นว่าเป็นซึมเศร้าไหม ด้วยแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า 9 ข้อนี้กัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
วิธีสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ เหตุคนไทยเครียดซึมเศร้า ยังไม่ติดโควิดแต่สุขภาพจิตใกล้โคม่า

แต่ไหนแต่ไรมาปัญหาสุขภาพจิตก็ถือเป็นภัยที่คุกคามชีวิตของคนทั่วโลกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในญี่ปุ่นมียอดการฆ่าตัวตายสูงถึง 17,000 ราย หลังจากเผชิญกับโรคไปได้แค่ 4 เดือน ในขณะที่ประเทศไทยก็มีอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นถึง 22% และการระบาดระลอกใหม่นี้เอง จะเห็นได้ว่าผู้คนยิ่งมีความวิตกกังวลเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังไม่มีท่าทีที่จะลดลง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวัน ต้องออกจากบ้านไปทำงาน มีการพบเจอผู้คน ท่ามกลางความหวาดระแวงว่าจะติดเชื้อหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เข้าถึงโลกของผู้สูงอายุด้วยหัวใจ สร้างสุขภาพจิตอย่างไรให้เวิร์ก

ทำไมคนแก่ขี้งอนบ่อย น้อยใจเก่ง อารมณ์แปรปรวนบ่อยๆ ? มาทำความเข้าใจโลกของผู้สูงอายุให้มากขึ้น กับปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุที่คนในครอบครัวต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

อ่านเพิ่มเติม