โรคลมชัก โรคอันตรายที่อาจไม่ได้จบแค่การชักเกร็ง !

05 พ.ย. 67  | ศูนย์สมองและระบบประสาท
แชร์บทความ      

แค่รู้สึกมีอาการเกร็งมือ เกร็งเท้า อาจเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่น่าไว้วางใจและไม่ควรมองข้าม หากปล่อยให้เกิดอาการแบบนี้ขึ้นบ่อยครั้งสามารถนำไปสู่ “โรคลมชัก” หรือที่รู้จักกันว่าเป็นโรคลมบ้าหมูได้! ซึ่งโรคนี้สามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก การมีความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติและปลอดภัย รู้จักโรคลมชักให้มากขึ้นในบทความนี้ 

โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากอะไร

โรคลมชัก หรือลมบ้าหมู สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เป็นภาวะที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งมีการส่งสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน ทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติชั่วคราว ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการชัก เกร็ง หรือกระตุก โดยระยะเวลาในการชักมักจะเป็นช่วงสั้นๆ และหลังจากนั้นผู้ป่วยจะกลับสู่ภาวะปกติ 

อาการโรคลมชักเป็นอย่างไร

เนื่องจากโรคลมชักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง อาการลมชักจึงมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรง และบริเวณที่เกิดความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง โดยสามารถแบ่งอาการตามพฤติกรรมของผู้ป่วยที่สังเกตได้ดังนี้ 

  1. อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized tonic–clonic seizure): ผู้ป่วยจะสูญเสียสติและล้มลงทันที ร่างกายเกร็งแข็ง (tonic phase) ตาเหลือก กัดฟัน อาจหยุดหายใจชั่วคราว จากนั้นแขนขาจะกระตุกอย่างแรง (clonic phase) และอาจกัดลิ้นตัวเอง หลังจากชัก ผู้ป่วยจะเริ่มหายใจได้เอง มีอาการสับสน อ่อนเพลีย และอาจมีปัสสาวะ อุจจาระราด 
  2. อาการลมชักแบบเหม่อ (Absence seizures): มักพบในเด็กอายุ 6-14 ปี โดยจะมีอาการเหม่อลอยประมาณ 5-10 วินาที และสูญเสียการรับรู้และการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนไป
  3. อาการชักแบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Atonic seizures): ผู้ป่วยจะสูญเสียสติทันทีและกล้ามเนื้อที่คอยพยุงร่างกายจะอ่อนแรงลงอย่างฉับพลัน ทำให้ล้มพับหรือล้มหมดสติลงอย่างรวดเร็ว

แนวทางการรักษาโรคลมชัก

ในอดีต การรักษาโรคลมชักมีเพียงการใช้ยากันชักเท่านั้น แต่ปัจจุบันวงการแพทย์ได้พัฒนาแนวทางการรักษาหลากหลายมากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมและบรรเทาอาการชักได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์จะเน้นการรักษาตามสาเหตุเพื่อลดความถี่ของการชักและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น เนื้อสมองเสียหายถาวรหรือปัญหาด้านความจำ แนวทางการรักษาหลักๆ ในปัจจุบันมีดังนี้

การใช้ยากันชัก (Antiepileptic Drugs, AEDs): แพทย์จะให้ผู้ป่วยโรคลมชักรับประทานยากันชัก เพื่อควบคุมอาการชัก อย่างไรก็ตาม การใช้ยากันชักอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ง่วงนอน คลื่นไส้ เกล็ดเลือดต่ำ หรือเหงือกโต ในบางรายอาจเกิดอาการผมร่วงหรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หากใช้ยาเป็นระยะเวลานานแล้วไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ แพทย์จะพิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่นแทน

  • การผ่าตัดสมอง (Surgery): อาการชักที่ควบคุมไม่ได้ด้วยยากันชัก รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล และตรวจพบว่ามีจุดกำเนิดอาการชักที่ชัดเจน แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดสมองเพื่อนำส่วนที่เป็นรอยโรคออก
  • การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus Nerve Stimulation, VNS): การฝังอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสที่คอ ช่วยลดความถี่ของการชักในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดสมองได้

 

โรคลมชักรักษาหายไหม ? 

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้ในปัจจุบันโรคลมชักส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากผู้ป่วยตรวจพบรอยโรคได้เร็วและเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม 

 

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโรคลมชัก

หากคุณมีคนใกล้ชิดหรือพบเห็นผู้ป่วยโรคลมชัก สามารถนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นนี้ไปใช้เพื่อช่วยเหลือบรรเทาอาการชักอย่างถูกต้องได้ ดังนี้ 

  • ห้ามเอาช้อนหรือวัตถุสิ่งของยัดเข้าไปในปากของผู้ป่วย
  • เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศถ่ายเท ห่างไกลจากของมีคม มุมเหลี่ยมที่อาจเป็นอันตรายได้ 
  • เปิดทางหายใจให้ผู้ป่วยด้วยการจับผู้ป่วยให้ค่อยๆ นอนลงในท่าตะแคง ปลดกระดุมคลายเสื้อผ้าให้หลวม
  • หลังจากที่ผู้ป่วยหยุดชักแล้วให้รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

ถึงแม้ว่าโรคลมชักจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยผู้ป่วยไม่สามารถคาดการณ์หรือเตรียมตัวรับมือได้ แต่การรักษาและดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยลดความถี่ของอาการชักได้ การรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ การรับประทานยาอย่างถูกต้อง และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เกิดอาการชัก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญ อีกทั้งครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญในการใส่ใจดูแลผู้ป่วยลมชักอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้นได้ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08:00 - 17:00 น. โทร. 0-2079-0068 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ.กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.กฤตวิทย์
รุ่งแจ้ง
อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท
ประสาทวิทยา

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ระวัง! สัญญาณเตือน สโตรก (Storke) ของหลุดมือบ่อย น้ำลายไหลมุมปาก

สโตรก(stroke) หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก หรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดอาการแขนขาไม่มีแรงเฉียบพลัน หน้าเบี้ยว น้ำลายไหลมุมปาก หยิบจับของแล้วหล่น สัญญาณเตือนให้เข้ารับการรักษาด่วนที่สุด เพราะอาจทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ฝึกสมองให้ฟิตอยู่เสมอกับ 5 เคล็ดลับ ลับสมองให้คม

ไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ขี้หลงขี้ลืมตั้งแต่ยังหนุ่มสาว มาฝึกสมอง ออกกำลังกายความคิด กระตุ้นให้สมองฟิต สดชื่นปลอดโปร่งกับ 5 วิธีนี้เลย

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กด่วน! ปวดหัวข้างเดียวแบบนี้ ใช่ไมเกรนหรือไม่

ชวนคุณมารู้ให้ลึกเรื่องของหัวจะปวด กับปวดหัวไมเกรน สาเหตุกระตุ้นเกิดจากอะไร ไมเกรนมีกี่แบบ วิธีบรรเทาอาการปวดอย่างถูกต้อง และคำตอบว่าปวดไมเกรนต่างจากปวดหัวธรรมดาอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลืมง่าย จำยาก สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ภัยเงียบที่อันตรายมากกว่าการหลงลืม เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง เกี่ยวข้องอย่างไรกับภาวะสมองเสื่อม เช็กอาการบ่งชี้และวิธีการรักษาได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม