“ไข้เลือดออก” ภัยเงียบจากยุงลายที่คุณมองข้าม

13 มิ.ย. 66  | ศูนย์กุมารเวช
แชร์บทความ      

ไข้เลือดออก” ภัยเงียบจากยุงลายที่คุณมองข้าม

โรคไข้เลือดออกนับว่าเป็นโรคสุดฮิตที่มักจะมาพร้อมกับหน้าฝน ที่มีพาหะสำคัญมาจากยุงลาย โดยเฉพาะหน้าฝนที่มีน้ำขังตามบริเวณต่างๆ ยิ่งทำให้ยุงเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โอกาสในการแพร่ระบาดจึงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการแรกเริ่มของโรคไข้เลือดออกแทบจะเหมือนไข้หวัดทั่วไปจนทำให้แยกอาการได้ยาก แต่โรคนี้หากมีอาการรุนแรงสามารถส่งผลถึงชีวิตได้เช่นกัน การเฝ้าระวังและป้องกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้เรามาทำความเข้าใจโรคนี้ให้มากขึ้นเพื่อหาแนวทางในการรับมือและป้องกันได้อย่างถูกต้อง

Q : สาเหตุของโรคไข้เลือดออกมาจากอะไร ?

A : โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue  Virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์  ติดต่อโดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค โดยการติดเชื้อไวรัสเกิดจากยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดของผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกก่อน หลังจากนั้นยุงลายตัวเดิมบินไปกัดคนที่อยู่ในระยะทางไม่เกิน 400 เมตร เชื้อดังกล่าวก็จะแพร่เข้าสู่คนที่ถูกกัดได้ทันที ซึ่งเชื้อไวรัสเดงกีมีระยะฟักตัวในคน ประมาณ 3-14 วัน

Q : อาการของโรคไข้เลือดออกมีอะไรบ้าง ?

A : 1. ไข้สูงเกิน 38-40 องศาเซลเซียส 

      2. อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดท้อง

      3. มีหน้าแดง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา

      4. คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร 

      5. ถ้ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาการมักจะรุนแรงกว่าคนที่ไม่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ 

      6. อาจมีอาการช็อกตามมาหากอาการรุนแรงมาก 

ทั้งอาการดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการและในผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะอาการหนัก-เบาต่างกันได้ 

Q : มีวิธีการป้องกันโรคไข้เลือดออกไหม ?

A : ปัจจุบันยังไม่มีตัวยาไหนที่สามารถจำกัดเชื้อไวรัสเดงกีได้ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะฆ่าเชื้อเอง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก และป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด รวมกับทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

Q : การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ฉีดแล้วดีอย่างไร ?

A : การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ได้ถึง 80.2% ซึ่งจะช่วยลดการนอนโรงพยาบาลได้ถึง 90.4% อีกทั้งก่อนฉีดไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันและสามารถฉีดได้ทั้งผู้ที่เคยเป็นและไม่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อนได้อีกด้วย

 

โปรโมชันราคาพิเศษ !! 

แพ็กเกจวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก สำหรับผู้อายุ 15 ปีขึ้นไป คลิกที่นี่

 

Q : โรคไข้เลือดออกมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ?

A : แม้จะเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแต่ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อได้ จึงควรรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นและเฝ้าระวัง อาการไข้เลือดออกแบบรุนแรง

Q : โรคไข้เลือดออกมีอาการแบบไหนถึงเรียกว่าอยู่ในระดับรุนแรง

A : มีเกล็ดเลือดต่ำ อาการเลือดออกรุนแรง เลือดกำเดาไหลออกหรือเลือดออกตามไรฟัน และมีการถ่ายอุจจาระดำเนื่องจากเลือดออก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อกตามมาได้  ภาวะช็อกจากไข้เลือดออกเกิดจากเกิดจากการที่สารน้ำในหลอดเลือดรั่วออกไปนอกหลอดเลือด สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำ จนทําให้เกิดภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะไตและตับ ซึ่งส่งผลรุนแรงถึงขั้นทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ 

Q : โรคไข้เลือดออกเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่ ?

A : สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เพราะเชื้อไวรัสสามารถติดซ้ำได้หลายครั้ง และยังมีถึง 4 ชนิดด้วยกัน เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นไปตลอด แต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นเพียงชั่วคราว

Q : อาการไข้เลือดออกต่างจากไข้หวัดธรรมดาอย่างไร ?

A : อาการไข้เลือดออกจะมีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส นานเกิน 2 วัน หรือหน้าแดง คอแดง ปวดศีรษะหรือปวดกระบอกตา อาจมีจุดเล็กๆ ตามแขนขา แต่มักจะไม่มีอาการไอและน้ำมูก

Q : ผู้ป่วยไข้เลือดออกสามารถซื้อยาแก้ปวดรับประทานเองได้หรือไม่ ?

A : หากเป็นพาราเซตามอลสามารถรับประทานเพื่อแก้ปวด ลดไข้ได้ แต่ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน (Aspirin) และไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) มารับประทานเองเพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายมากขึ้น 

โรคไข้เลือดออกนับว่าเป็นภัยอันตรายที่น่ากังวลเพราะอาการสามารถเพิ่มความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ นอกจากจะต้องหมั่นสังเกตและดูแลอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดแล้ว การให้ความสำคัญกับการจัดเก็บบริเวณบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำขังทั้งภายในและภายนอกบ้าน ควรคว่ำภาชนะต่างๆ ที่มีน้ำทิ้งเสียและจัดเก็บให้เข้าที่เข้าทางเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อจากยุงลายอันเป็นพาหะสำคัญของโรคไข้เลือดออก รวมถึงหาแนวทางกำจัดยุงลายให้ออกไปจากบริเวณบ้านก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสได้มากยิ่งขึ้น   

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ 
ศูนย์กุมารเวช ชั้น 3  โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08.00 - 20.00 น. โทร. 0-2079-0030
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.สุธิดา ชินธเนศ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบการหายใจในเด็ก

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้าย-ออทิสติกหรือไม่?

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางโรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก "ขาดการกระตุ้น" เป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เตรียมลูกรักให้ Ready เมื่อเปิดเทอมนี้ Covid มาเยือน

ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลูกนอนกรน…อาการที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงนอนกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเราตีบแคบขณะนอนหลับ ทำให้ลมหายใจไหลผ่านได้อย่างลำบาก โดยสาเหตุการนอนกรนในเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากขนาดต่อมทอนซิลและ/หรือต่อมอะดีนอยด์ที่โต จนเบียดบังทางเดินหายใจส่วนต้นของเด็ก ซึ่งพบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงอายุประมาณ 8 ปี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ส่องสุขภาพเด็กอ้วนที่น่ารัก กับความอันตรายที่แอบแฝง

ในเด็กอ้วนที่ดูน่ารัก อาจกำลังเป็นเด็กที่เสี่ยงกับโรคอ้วนในเด็กได้ ชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูอันตรายแฝงที่แอบซ่อนอยู่ในเด็กอ้วน พร้อมแนวทางการรักษากันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง