ส่องสุขภาพเด็กอ้วนที่น่ารัก กับความอันตรายที่แอบแฝง

24 ก.ย. 64  | ศูนย์กุมารเวช
แชร์บทความ      

ส่องสุขภาพเด็กอ้วนที่น่ารัก กับความอันตรายที่แอบแฝง

คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปเมื่อเห็นเด็กอ้วนจะมองว่าน่ารัก ดังนั้นพ่อแม่บางท่านจึงอยากให้ลูกอ้วนเพื่อจะได้ดูน่ารัก แต่ในความเป็นจริง เราอาจไม่ทราบว่ามีอันตรายที่แอบซ่อนในความน่ารักของเด็กอ้วน ซึ่งอาจแฝงโรคอันตรายกับสุขภาพอย่างโรคอ้วนไว้โดยไม่รู้ตัว

ทำไมเด็กจึงอ้วน

สาเหตุสำคัญเกิดจากพฤติกรรมของเด็กที่รับประทานอาหารมากเกินไป และขาดการเคลื่อนไหว ออกกำลังกาย อีกทั้งยังมีสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุน เช่น การับประทานอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดอย่างพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ซึ่งมีไขมันสูง การดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมประเภทคุกกี้ เค้ก ที่จำหน่ายและโฆษณาอย่างแพร่หลาย รวมทั้งพฤติกรรมการนั่งดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ เล่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้เด็กไม่สนใจกิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปัจจุบันเด็กใช้เวลากับการเรียนค่อนข้างมากจึงมีเวลาออกกำลังกายน้อยลง โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ที่เด็กไม่สามารถทำกิจกรรมกับเพื่อนที่โรงเรียนได้ ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน ถูกจำกัดสถานที่ อาจทำให้เกิดภาวะเครียด จึงผ่อนคลายด้วยการกินขนมจุบจิบมากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมในบ้าน ก็เป็นปัจจัยทำให้เด็กอ้วนได้ เช่น พ่อแม่เป็นโรคอ้วน คนในครอบครัวรับประทานอาหารไม่เป็นมื้อ ชอบรับประทานจุบจิบ เป็นต้น

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกเข้าข่ายเป็นโรคอ้วนในเด็ก

โดยทั่วไปพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าลูกเริ่มอ้วน แต่จะรู้ได้ว่าอ้วนอย่างชัดเจนเมื่อเห็นรูปร่างของเด็ก ซึ่งพ่อแม่สามารถรู้ว่าลูกเริ่มเข้าข่ายอ้วนได้โดยการชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับความสูงตามค่ามาตรฐานเด็กไทย ซึ่งเมื่อใดที่น้ำหนักตัวมากกว่าส่วนสูงของเด็กให้ระวังว่าลูก หรือเด็กเริ่มเข้าข่ายภาวะอ้วน ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครองสามารถตรวจสอบและเฝ้าระวังภาวะอ้วนได้ด้วยตนเองจากน้ำหนักและความสูงของลูกโดยตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ https://nutstatcal.kiddiary.in.th  

ยกตัวอย่างการกรอกข้อมูล เพื่อประเมินภาวะเด็กอ้วน

ตัวอย่างที่ 1 ด.ญ. แดง สกุลสมมติ อายุ 10 ปี น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ส่วนสูง 160 เซนติเมตร

ผลการประเมินภาวะโภชนาการ : เริ่มอ้วน

ตัวอย่างที่ 2 ด.ช. โจ สกุลสมมติ อายุ 8 ปี น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ส่วนสูง 157 เซนติเมตร

ผลการประเมินภาวะโภชนาการ : อ้วน

ทำไมภาวะอ้วน หรือโรคอ้วนในเด็กจึงอันตราย

ภาวะอ้วนส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ ได้แก่

  1. ไขมันในเลือดสูง ทั้งคอเลสเตอรอล (cholesterol) ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) และไขมันแอลดีแอล (LDL) ซึ่งเป็นไขมันประเภทไม่ดี อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจเมื่ออายุมากขึ้น
  2. ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ และกลายเป็นโรคตับแข็งถ้าไม่ลดน้ำหนัก
  3. ความดันโลหิตสูง
  4. นอนกรน หยุดหายใจขณะนอนหลับ เนื่องจากไขมันที่สะสมรอบคอทำให้ขวางทางเดินหายใจ การนอนไม่เพียงพอทำให้เด็กปวดศีรษะหรือง่วงนอนเวลากลางวัน และส่งผลต่อผลการเรียนได้
  5. ภาวะเบาหวาน เนื่องจากระดับอินซูลินในเลือดสูง เกิดภาวะร่างกายดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) ซึ่งเด็กอ้วนที่มีภาวะนี้จะมีผิวหนังเป็นผื่นสีน้ำตาลดำ นูนหนา ไม่คัน ที่บริเวณลำคอ รักแร้ ข้อพับ และขาหนีบทั้ง 2 ข้าง
  6. มีผลต่อกระดูกขา และ ข้อเข่า เพราะต้องรับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปวดเข่า ขาโก่ง หัวกระดูกสะโพกเคลื่อน ขาฉิ่ง หรือขาโก่งเข้าหากัน และเกิดกระดูกหักได้ง่ายเมื่อหกล้ม
  7. โรคกรดไหลย้อน
  8. โตก่อนวัย หรือเป็นหนุ่มสาวเร็วกว่าเด็กวัยเดียวกัน
  9. เหนื่อยง่ายเวลาทำกิจกรรม ออกกำลังกาย
  10. มีผลต่อจิตใจเพราะถูกเพื่อนล้อเลียน ขาดความมั่นใจในตัวเอง จึงไม่ค่อยอยากเข้าสังคม และอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้
  11. เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในวัยผู้ใหญ่ เช่น มะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก เต้านม ลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

จะรักษาเด็กอ้วน หรือโรคอ้วนในเด็กได้อย่างไร

ในการรักษาโรคอ้วนในเด็กจะไม่ใช้ยาลดน้ำหนัก แต่เน้นการลดน้ำหนักโดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่

  1. การควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน งดของทอดของมัน เน้นอาหารจำพวกต้ม นึ่ง ตุ๋น อบ แทนการทอด ดื่มนมรสจืด ไขมันต่ำ งดของหวาน ขนมขบเคี้ยว จุบจิบ แนะนำรับประทานผัก ผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน เช่น ชมพู่ ฝรั่ง เป็นต้น
  2. เพิ่มกิจกรรมที่ต้องออกแรง เช่น การช่วยทำงานบ้าน การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์หรือบันไดเลื่อน เป็นต้น และควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30-60 นาที
  3. ปรับพฤติกรรม ขยับตัวเพิ่มขึ้น ลดเวลานั่งดูทีวี เล่นเกม หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ
  4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในครอบครัว เช่น ให้ชวนกันออกกำลังกายร่วมกันมากขึ้น เปลี่ยนลักษณะของอาหารที่รับประทานในบ้าน ผู้ปกครองต้องไม่รับประทานอาหารจุบจิบ พยายามลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน หรืออาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด

เพื่อสุขภาพของลูกหรือเด็กอ้วนที่คุณรัก ปกป้องเขาให้ห่างไกลจากโรคอ้วนในเด็ก 

ด้วยแพ็กเกจควบคุมน้ำหนักเพื่อสุขภาพของลูกรัก (Healthy Smart Kid) 

ที่ดูแลโดยกุมารเวช นักโภชนาการและนักกายภาพบำบัด 

ซึ่งจะออกแบบและช่วยควบคุมน้ำหนักให้เด็กมีสุขภาพดีขึ้นได้อย่างตรงจุด

เนื่องจากกระบวนการลดน้ำหนักในเด็กต้องใช้เวลาในการรักษาค่อนข้างนาน ดังนั้นต้องอาศัยความตั้งใจและความพยายามของทั้งเด็กและผู้ปกครองอย่างมาก นอกจากนี้อาจต้องมีการรักษาเป็นกรณีเฉพาะในเด็กอ้วนที่มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในอนาคตอีกด้วย และสุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองเปลี่ยนมุมมองไม่อยากให้ลูกอ้วนอีกต่อไป เพราะเห็นภัยอันตรายที่แอบซ่อนอยู่

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์กุมารเวช ชั้น 3  โรงพยาบาลวิมุต 
ให้บริการ 24 ชั่วโมง โทร. 0-2079-0038
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์
 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.วรรัตน์ โกวิทจินดาชัย กุมารแพทย์

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้าย-ออทิสติกหรือไม่?

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางโรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก "ขาดการกระตุ้น" เป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เตรียมลูกรักให้ Ready เมื่อเปิดเทอมนี้ Covid มาเยือน

ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลูกนอนกรน…อาการที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงนอนกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเราตีบแคบขณะนอนหลับ ทำให้ลมหายใจไหลผ่านได้อย่างลำบาก โดยสาเหตุการนอนกรนในเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากขนาดต่อมทอนซิลและ/หรือต่อมอะดีนอยด์ที่โต จนเบียดบังทางเดินหายใจส่วนต้นของเด็ก ซึ่งพบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงอายุประมาณ 8 ปี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ทวงคืนคุณภาพชีวิตเจ้าตัวเล็ก How to ดูแลสุขภาพเด็กยุค New Normal

เพราะ COVID-19 ที่ระบาดมานานนับปี ลูกๆ ของเราสูญเสียโอกาสในการใช้ชีวิตไปมาก ทั้งจากการไม่ได้ไปเรียนหนังสือแบบครบวงจรที่โรงเรียน ได้เจอเด็กๆ รุ่นเดียวกันน้อย ขาดการเรียนรู้จากโลกภายนอกแทบจะสิ้นเชิง ไม่นับรวมการต้องมาคอยใส่หน้ากากอนามัยและระมัดระวังอะไรที่มากเกินวัย

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง