อาหารเป็นพิษ โรคฮิตที่มาพร้อมกับหน้าร้อน

16 มิ.ย. 66  | ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แชร์บทความ      

อาหารเป็นพิษ โรคฮิตที่มาพร้อมกับหน้าร้อน

อาหารเป็นพิษ โรคฮิตที่มักจะมาพร้อมกับหน้าร้อน นั่นเป็นเพราะอากาศที่ร้อนขึ้นหรืออุณหภูมิที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องทำให้เชื้อโรคชนิดต่างๆ เติบโตได้ดีและอาจปนเปื้อนอยู่กับอาหารได้นานขึ้น โดยเฉพาะการปรุงอาหารไม่สุกพอหรือรับประทานอาหารที่ค้างคืนไว้ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารรสจัด อาหารแช่แข็ง และอาหารกระป๋อง มักจะพบกับอาการอาหารเป็นพิษบ่อยกว่าคนทั่วไป วันนี้เรามาทำความเข้าใจอาการอาหารเป็นพิษให้มากขึ้น เพื่อหาแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย 

อาหารเป็นพิษมีสาเหตุจากอะไร และอาการเป็นอย่างไร ?

สาเหตุของอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มาจากการรับประทานน้ำหรืออาหารที่ไม่สะอาด โดยมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร นำมาสู่อาการต่างๆ ได้แก่ 

  1. มีอาการถ่ายเหลว เข้าห้องน้ำบ่อย
  2. ปวดท้องแบบบิดๆ 
  3. บางคนอาการรุนแรงจะมีการอาเจียนและท้องร่วงอย่างหนัก 
  4. บางคนอาจมีไข้หรืออ่อนเพลียร่วมด้วย 
  5. คลื่นไส้ อาเจียน
  6. หมดแรง เวียนหัว ร่างกายขาดน้ำ

หากมีอาการอาหารเป็นพิษเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์

  • อาเจียนมาก ถ่ายท้องปริมาณมาก (มากกว่า 8-10 ครั้ง/วัน) ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ หรือดื่มเกลือแร่ได้น้อยจนร่างกายขาดน้ำรุนแรง อ่อนเพลีย หน้ามืด ปัสสาวะออกน้อย หรือไม่มีปัสสาวะเกิน 6 ชั่วโมง
  • ถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด 
  • มีไข้มากกว่า 38.5 C
  • อาการไม่ทุเลาลงภายใน 48 ชั่วโมง 
  • มีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออาการปวดท้องไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาเบื้องต้น
  • เด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่อายุมากกว่า 70 ปี หรือมีโรคเรื้อรังที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

วิธีการรักษาอาหารเป็นพิษ

หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ เพราะอาหารเป็นพิษสามารถหายเองได้ภายใน 24 - 48 ชั่วโมง โดยให้รักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ดื่มน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ รับประทานยาตามอาการ ได้แก่ ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้อาเจียน รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้หากอาการรุนแรงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์อาจต้องให้น้ำเกลือหรือมีแนวทางในการรักษาเฉพาะทางที่ต่างออกไป

เมนูอาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ

สำหรับเมนูอาหารที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษมีอยู่หลายชนิด ก่อนรับประทานควรระมัดระวังและเน้นปรุงให้สุกใหม่ สะอาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากอาหารเหล่านี้ ได้แก่ 

  • เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่ที่ปรุงไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ 
  • อาหารหมักดอง 
  • ผักหรือผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด
  • อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงค้างไว้ในอุณหภูมิห้องอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  • น้ำดื่มและน้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน นำน้ำแข็งสำหรับแช่น้ำหรืออาหารมารับประทาน
  • อาหารกระป๋องที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น มีรอยรั่ว แตก บุบ บวม หรือขึ้นสนิม

วิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนและหลังเตรียมอาหารดิบทุกชนิด รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการเตรียมอาหารดิบ ไม่ใช้ปะปนกัน เช่น ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์สดร่วมกับอาหารอื่นโดยไม่ล้าง
  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
  • เลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและดื่มน้ำที่สะอาดผลิตได้มาตรฐาน 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทิ้งไว้ค้างคืน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และสะอาด ในกรณีอาหารกระป๋องเมื่อเปิดแล้วควรรับประทานให้หมดในครั้งเดียว หรือหากไม่หมดควรเทใส่ภาชนะอื่นที่สะอาดแล้วปิดฝาให้แน่นก่อนเก็บไว้รับประทานมื้อถัดไป

ถึงแม้ว่าโรคอาหารเป็นพิษจะไม่ได้ทำให้ร่างกายเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถสร้างความเสียหายให้ระบบทางเดินอาหารได้ไม่น้อย เพราะการเผลอรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคหรือไวรัสเข้าไปในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอากาศร้อน เชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ ก็ยิ่งเจริญเติบโตได้เร็วขึ้นเช่นกัน การให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและไม่ตามใจปากจนเกินไป จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้ 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00 - 20.00 น. โทร. 0-2079-0054 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ผู้เขียน
พญ. สาวินี จิริยะสิน อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ไขมันพอกตับ ภัยเงียบคร่าชีวิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ แต่จะสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
“ท้องผูก” ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่…ถ่ายไม่ออก!

ถ่ายไม่ออก อุจจาระแข็ง นานๆ จะถ่ายครั้งหนึ่ง หรือทั้งสัปดาห์ถ่ายครั้งเดียว แบบนี้เป็นโรคท้องผูก ไหม ที่นี่เรารวมคำตอบ สาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก สำหรับคนที่มีปัญหาการขับถ่ายมาฝากให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขมันพอกตับ ภัยเงียบคร่าชีวิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ แต่จะสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ก่อนป้องกันได้ รักษาไว

ปวดท้องบ่อย ท้องผูกบ่อยและมีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ อาการแบบนี้คุณอาจกำลังเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มาเช็กอาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม