เช็กให้ชัวร์! ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ห้ามกินอะไรบ้าง?

28 ธ.ค. 66  | ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก
แชร์บทความ      

เช็กให้ชัวร์! ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ห้ามกินอะไรบ้าง?

หนึ่งในสิ่งที่ผู้ป่วย “โรคต่อมไทรอยด์” มักจะมีความกังวลคือเรื่องการรับประทานอาหาร ว่าจะมีผลทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติหรือไม่  และจะส่งผลต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกายให้ทำงานผิดปกติไปด้วย จนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย วันนี้เรามาเรียนรู้วิธีดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดให้ปลอดภัยจากภาวะไทรอยด์ผิดปกติ เป็นโรคไทรอยด์ ห้ามกินอะไร เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้ดีอยู่เสมอและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ชวนทำความรู้จัก โรคต่อมไทรอยด์ คืออะไร ?

“โรคไทรอยด์” เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของ “ต่อมไทรอยด์” ซึ่งมีลักษณะเหมือนรูปปีกผีเสื้ออยู่บริเวณหน้าลำคอของเรา มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการเผาผลาญและอวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนมาก หรือน้อยเกินไป จะส่งผลกระทบต่อระบบการเผาผลาญของร่างกาย รวมถึงการทำงานของระบบต่างๆ ให้ผิดปกติตามไปด้วย โดยอาการที่พบจะขึ้นอยู่กับชนิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ หากคุณกำลังสงสัยถึงอาการไทรอยด์ในระยะเริ่มต้น เพื่อสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่ >>> เช็กลิสต์ 10 อาการเตือน สัญญาณไทรอยด์เป็นพิษที่ต้องสังเกต 

ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ ห้ามกินอะไร?

อาการของต่อมไทรอยด์ผิดปกติมักจะสัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน หลายคนจึงเกิดความกังวลและไม่ทราบว่าควรจะรับประทานอาหารอย่างไรให้ปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารต่อไปนี้จะช่วยปรับสมดุลร่างกายและช่วยให้ต่อมไทรอยด์ทำงานดีขึ้นได้ มาดูกันว่าไทรอยด์เป็นพิษห้ามกินอะไรบ้าง 

  1. เครื่องดื่มประเภท กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ 

ผู้ป่วยที่มีอาการไทรอยด์เป็นพิษแนะนำให้หยุดเครื่องดื่มประเภทนี้ เนื่องจากจะส่งผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น มีอาการใจสั่นจนอาจเกิดภาวะหัวใจวายได้ 

  1. พริกชนิดเผ็ด 

เพราะอาหารประเภทนี้จะไปเพิ่มการเมตาบอลิซึม ทำให้มีอาการใจสั่น หายใจติดขัด 

  1. พืชผักกลุ่ม Cruciferae ที่มีสารกอยโตรเจน (Goitrogen)

ผักจำพวกบลอกโคลี กะหล่ำดอก ผักโขม คะน้า กะหล่ำปลีดิบ ทูนิป ฮอร์สแรดิช และเมล็ดพันธุ์ผักกาดชนิดต่างๆ หากได้รับสารกอยโตรเจนจากพืชผักเหล่านี้มากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ เนื่องจากสารกอยโตรเจนจะเข้าไปขัดขวางการจับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ แล้วสร้างฮอร์โมนไทรอกซินขึ้นมาจนทำให้เกิดไทรอยด์เป็นพิษ และกลายเป็นโรคคอพอกได้ 

  1. พืชผักที่มีสารขับน้ำออกจากร่างกาย 

ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษร่างกายจะกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญมากขึ้น ทำให้มีอาการเหงื่อออกง่ายและสูญเสียน้ำมาก ยิ่งรับประทานหน่อไม้ฝรั่ง สาหร่าย ผักกาด หรือหน่อไม้ ที่มีสารขับน้ำและของเสียออกจากร่างกาย จะทำให้ระบบเมตาบอลิซึมต้องทำงานหนักมากขึ้น 

  1. อาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง 

ผู้ป่วยไทรอยด์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสารอาหารเหล่านี้จะไปขัดขวางการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ และการดูดซึมยาของผู้ป่วยไทรอยด์ อีกทั้งน้ำตาลยังมีผลต่อระบบเมตาบอลิซึม หรือระบบเผาผลาญของร่างกายให้ทำงานได้ช้าลง 

การดูแลตัวเองของผู้ป่วยไทรอยด์ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เมื่อรู้ว่าป่วยเป็นโรคไทรอยด์หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ นอกจากให้ความสำคัญและเคร่งครัดเรื่องการควบคุมอาหารแล้ว ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่ง ซึ่งยารักษาโรคไทรอยด์นั้นจะไม่ได้ผลหากไม่มีการปรับ ดังนั้นยาที่ใช้อยู่จะมีการปรับโดยแพทย์ประจำตัวอยู่เสมอ รวมถึงหมั่นสังเกตอาการผิดปกติและควรรู้วิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นดังนี้

  • หากพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติเกิดขึ้นจากการเป็นไทรอยด์ เช่น อาการซึมเศร้า มีความตื่นเต้นมากเกินไป ไม่ค่อยมีสมาธิ สามารถพาผู้ป่วยออกไปทำกิจกรรมใหม่ๆ หรือออกกำลังกายเพื่อลดความเครียดลงได้ 
  • พักผ่อนให้เพียงพอและควบคุมการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการอย่างถูกต้อง
  • ไม่ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ 
  • หลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรหรือการซื้อยารับประทานเอง 
  • ติดตามอาการกับแพทย์ประจำตัวอย่างสม่ำเสมอ 

หมายเหตุ : หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นโรคไทรอยด์แล้วต้องการมีลูก จำเป็นต้องรักษาให้หายดีก่อนตั้งครรภ์ 

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคไทรอยด์ควรให้ความสำคัญกับการใส่ใจดูแลในเรื่องอาหารการกินเป็นอย่างยิ่ง หลีกเลี่ยงอาหารที่กล่าวไปเบื้องต้น และเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ รับประทานข้าวสลับกับแป้งในปริมาณที่เหมาะสม เน้นการกินผักผลไม้เป็นประจำ รวมถึงควบคุมดูแลน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ เพียงเท่านี้ผู้ป่วยไทรอยด์ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในทุกๆ วัน 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่

ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก ชั้น 3  โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 07.00-19.00 น. โทร. 0-2079-0070 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.ธนพร พุทธานุภาพ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
13 วิธีดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานในยุค COVID-19

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ covid-19 โดยโรคเบาหวานนั้นจะทำให้ติดเชื้อ covid -19 ได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป และหากติดเชื้อแล้วจะมีผลทำให้เกิดพาวะแทรกซ้อนมากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เป็นเบาหวานตั้งครรภ์ได้ไหม ?

เพราะการสร้างครอบครัวคือหนึ่งในความฝันของผู้หญิงหลายๆ คน แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานคงกังวลไม่น้อยว่าจะมีลูกได้ไหม ปลอดภัยหรือเปล่า เรามาฟังคำตอบกันที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
สายกินต้องระวัง โรคอันตรายจากไขมันที่ต้องรู้ !

สายกินต้องระวัง! อาหารไขมันสูง ของทอดแสนอร่อยที่แฝงไปด้วยโรคไขมันตัวร้าย มาดูความลับทั้งประโยชน์และโทษของไขมัน ที่บั่นทอนสุขภาพคุณจนอาจเป็นโรคร้ายแรงได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
3 สัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังลดน้ำหนักผิดวิธี

เชื่อว่าหลายคนยังมีเป้าหมายในการลดน้ำหนัก แต่ปัญหาที่มักพบ คือ ลดน้ำหนักไม่สำเร็จสักที หรืออาจลดได้แค่ช่วงสั้นๆ แล้วกลับมาน้ำหนักเท่าเดิม ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง