วางแผนวัคซีนพื้นฐานเพื่อลูกรัก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคร้าย

18 พ.ย. 65  | ศูนย์อายุรกรรม
แชร์บทความ      

วัคซีนสำหรับเด็ก

วางแผนวัคซีนพื้นฐานเพื่อลูกรัก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคร้าย 

เมื่อลูกรักมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่สบายตัวทีไร คุณพ่อคุณแม่และสมาชิกทุกคนในบ้านต่างพากันกังวลใจทั้งครอบครัว เพราะเด็กเล็กภูมิต้านทานยังไม่แข็งแรง เจ็บป่วยได้ง่าย และอยู่ในช่วงวัยที่ยังไม่สามารถบอกความรู้สึกของตัวเองได้อย่างชัดเจน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสร้างความแข็งแรงให้ลูกตั้งแต่วัยแบเบาะด้วยวัคซีนเด็ก ที่มีทั้งวัคซีนหลักและวัคซีนเสริม ซึ่งเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคเป้าหมาย พร้อมกับลดโอกาสในการก่อโรคไม่ให้ทุกการเจ็บป่วยมาเป็นอุปสรรค เพื่อลูกรักเติบโตสดใสและมีพัฒนาการสมวัยแข็งแรง

วัคซีนในเด็กเล็กสำคัญอย่างไร? 

ในเด็กเล็กที่ร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรค การฉีดวัคซีน จึงเป็นการสร้างภูมิต้านทาน ให้ตอบสนองทันท่วงทีต่อเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ก่อนจะกลายเป็นอาการเจ็บป่วยรุนแรง ดังนั้นเด็กทุกคนจึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะวัคซีนพื้นฐาน
 

วัคซีนเด็กพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับลูกรัก ที่เด็กทุกคนควรได้รับ 

เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแต่ละช่วงวัย ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายและลำดับการฉีดวัคซีนไว้ ต่อจากนี้คือวัคซีนเด็กพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับลูกรักที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญ และพาสมาชิกตัวน้อยในครอบครัวเข้ารับวัคซีนอย่างครบถ้วนตามแต่ละช่วงวัย

  1. วัคซีนวัณโรค (BCG ) : วัคซีนชนิดฉีดเพียง 1 เข็ม เมื่อครั้งแรกคลอดหรือก่อนกลับบ้าน หลังรับวัคซีนแล้ว 3 - 4 สัปดาห์ จะมีตุ่มแดงตรงจุดที่ได้รับวัคซีน อาจมีหนองหรือไม่มีก็ได้ เพียงใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกทำความสะอาดให้แผลแห้งอยู่เสมอก็จะหายไปเองใน 3 - 6 สัปดาห์ 
  2. วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) : วัคซีนชนิดฉีด 3 เข็ม สามารถฉีดได้หลายวิธี เช่น เริ่มฉีดเข็มที่ 1 เมื่อแรกเกิด เข็มที่ 2 เมื่อมีอายุครบ 1 เดือน  และเข็มที่ 3 เมื่อเด็กครบ 6 เดือน สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากไวรัสตับอีกเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งตับ และตับแข็งในผู้ใหญ่
  3. วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (TdaP) : วัคซีนชนิดฉีดรวมโรค 3 เข็ม ฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน  4 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ หลังจากนั้นควรฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีก 3 ครั้ง ในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน  และอายุ  4-6 ปี อายุ 10-12 ปี หลังจากนั้นควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
  4. วัคซีนโรคฮิป (Hib) : โรคฮิป เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนมากทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ป้องกันด้วยวัคซีนชนิดฉีด 3 เข็ม เมื่อมีอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับและสามารถฉีดเข็มกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน 

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก

  1. วัคซีนโรต้า : ป้องกันโรคท้องเสียจากไวรัสโรต้า ลดความรุนแรงของอาการอาเจียนและท้องร่วงที่พบบ่อยในเด็กได้ด้วยวัคซีนชนิดกิน แบบพื้นฐานคือ Monovalent (Human) ให้กิน 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน หากเป็นวัคซีนเสริมคือ Pentavalent (Bovine- Human) กิน 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน
  2. วัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) : 3 โรคที่ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็วผ่านละอองจากการหายใจ ป้องกันได้ด้วยวัคซีนชนิดฉีด 2 เข็ม เริ่มฉีดเข็มที่ 1 เมื่ออายุ 9-12 เดือน และฉีดครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 18-24 เดือน
  3. วัคซีนโปลิโอ : แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดกิน(OPV) 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน, 1 ขวบครึ่ง และตอนอายุ 4 เดือน ต้องได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด(IPV)ร่วมด้วยอีก 1 เข็มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในขณะที่หากเลือกใช้แบบฉีดเลยตั้งแต่แรกเกิด วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดจะถูกรวมเข็มไปกับวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก อยู่แล้ว
  4. วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี (LAJE1) : มีสาเหตุมาจากการถูกพาหะนำโรคอย่างยุงรำคาญกัด และยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง เด็กไทยทุกคนจึงต้องได้รับวัคซีนชนิดฉีด 2 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกมื่ออายุ 1 ปี และเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3 - 12 เดือน ตามแต่ชนิดของวัคซีน

 

วัคซีนทางเลือกเพิ่มภูมิต้านทานโรคอื่นๆ ให้ลูกรัก 

เพราะเชื้อไวรัสมีความหลากหลาย ยังมีวัคซีนป้องกันโรคยอดฮิตอีกมายมายสำหรับเด็กเล็กที่ไม่อยู่ในรายการวัคซีนเด็กพื้นฐาน แต่มีบทบาทสำคัญในการช่วยป้องกันโรคอย่างครอบคลุม แถมวัคซีนหลายชนิดยังรวมภูมิต้านทานโรคไว้ได้ในเข็มเดียวแทนการแยกฉีดหลายครั้ง โดยมีรายการวัคซีนเสริมสำหรับลูกน้อย ดังนี้

วัคซีนทางเลือกเพิ่มภูมิต้านทานสำหรับเด็ก

  • วัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก จากไวรัส EV71  : โรคยอดฮิตในวัยเด็ก ติดต่อได้โดยการสัมผัส และระบาดหนักในฤดูฝน ทำให้มีอาการไข้สูง เป็นแผลในปาก มีตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว ป้องกันได้ด้วยวัคซีนชนิดฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างจากเข็มแรก 1 เดือน เหมาะสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี 
  • วัคซีนตับอักเสบเอ : เชื้อไวรัสตับอัดเสบสามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งของผู้มีเชื้อ และสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ เสริมภูมิให้ลูกน้อยด้วยวัคซีนชนิดฉีด 2 เข็ม เริ่มฉีดช่วงอายุ 1 ปีขึ้นไป และเข็มที่ 2 ห่างกัน 6 - 12 เดือน
  • วัคซีนป้องกันปอดอักเสบ (IPD) : ลดความเสี่ยงในการเกิดปอดอัดเสบชนิดรุนแรง เยื่อหุ้มสมองกักเสบ และติดเชื่อในกระแสเลือด เนื่องจากเชื้อนิวโมคอคัส ด้วยวัคซีนชนิดฉีด 3 เข็ม โดยเริ่มฉีดเข็มที่ 1 เมื่ออายุ 2 เดือน เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน และเข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน ในปัจจุบันแนะนำเข็มกระตุ้น เข็มที่ 4 ที่อายุ 15 เดือน
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ : วัคซีนชนิดฉีดจำนวน 1 เข็ม ในทุกช่วงวัย (หากอายุน้อยกว่า 9 ปี จะฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน ในปีแรก หลังจากนั้นปีละ 1 เข็มตามปกติ) โดยเฉพาะเด็กเล็กและกลุ่มเสี่ยงสูง ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ซ้ำเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ที่คาดว่าจะมีการระบาด และลดอาการรุนแรงเมื่อเจ็บป่วย
  • วัคซีนโรคสุกใส : ในกลุ่มคนทั่วไปอาจมีอาการไข้เล็กน้อยร่วมกับมีตุ่มใสตามร่างกาย แต่อาการของโรคอาจรุนแรงได้มากกว่าในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยปกติเด็กควรได้รับวัคซีนโรคสุกใสจำนวน 2 เข็ม เริ่มเมื่ออายุ 12 - 15 เดือน และเข็มที่ 2 โดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 1 อย่างน้อย 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) : ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้ เริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดย ช่วงอายุ 9 -15 ปี ฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้งห่างกัน 6  - 12 เดือน หากอายุเกิน 15 ปี ฉีด 3 เข็ม โดย เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 - 2 เดือน และเข็มที่ 3 ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน สามารถฉีดได้ในเด็กผู้ชาย เพื่อป้องกันมะเร็งทวารหนัก และ มะเร็งกล่องเสียงบางชนิดได้


โรงพยาบาลวิมุตพร้อมดูแลสมาชิกตัวน้อยของทุกครอบครัวด้วยแพ็กเกจวัคซีนเด็ก ที่ครอบคลุมทุกช่วงอายุสำหรับลูกน้อย 

วัคซีนสำหรับเด็กที่โรงพยาบาลวิมุต

เรื่องน่ารู้วันฉีดวัคซีนเด็ก 

หากมีไข้สูง หรือมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลันควรเลื่อนการรับวัคซีนออกไปก่อน พักให้หายดีหลังจากการป่วยประมาณ 1 สัปดาห์ จึงพาเข้ารับวัคซีน เว้นแต่มีอาการหวัดหรือท้องเสียเล็กน้อย โดยไม่มีไข้ร่วมด้วยยังสามารถเข้ารับวัคซีนได้เลย หากเคยมีประวัติการแพ้ยาแพ้อาหารชนิดใด จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง และเมื่อได้รับวัคซีนแล้วควรสังเกตอาการแพ้ยาเป็นเวลา 30 นาที ก่อนกลับบ้าน

ข้อปฏิบัติหลังการรับวัคซีนเด็ก

อาจมีอาการ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีนให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบ หรือหากลูกน้อยมีไข้ ตัวร้อน หลังการรับวัคซีนสามารถให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ร่วมกับการเช็ดตัวลูกด้วยน้ำอุณภูมิปกติ เน้นที่บริเวณซอกคอและข้อพับต่างๆ ในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองได้อาจร้องกวน งอแง ซึ่งเป็นอาการปกติเมื่อรู้สึกไม่สบายตัว และจะหายเองใน 2-3 วัน


คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมพกสมุดสุขภาพประจำตัวลูกน้อยไปด้วยทุกครั้งที่เข้ารับวัคซีน เพื่อให้กุมารแพทย์ใช้เป็นข้อมูลในการประเมินภูมิคุ้มกันโรค และความต่อเนื่องของวัคซีนเด็กในแต่ละชนิด เพราะมากกว่าอ้อมกอดของพ่อแม่คือวัคซีนซึ่งเป็นเกราะปกป้องลูกอีกชั้น อย่าถอดใจที่เห็นลูกร้องไห้เมื่อต้องไปพบแพทย์ เพราะการเข้ารับวัคซีนตามช่วงวัยอย่างเคร่งครัดเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีระยะยาว เพื่อให้ลูกน้อยมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงพร้อมเรียนรู้โลกใบใหญ่ได้อย่างมีคุณภาพ              

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์กุมารเวช

ให้บริการ 24 ชั่วโมง ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

เรียบเรียงโดย นพ. ฐากูร วิริยะชัย กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการโรคติดเชื้อในเด็ก

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้าย-ออทิสติกหรือไม่?

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางโรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก "ขาดการกระตุ้น" เป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เตรียมลูกรักให้ Ready เมื่อเปิดเทอมนี้ Covid มาเยือน

ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลูกนอนกรน…อาการที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงนอนกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเราตีบแคบขณะนอนหลับ ทำให้ลมหายใจไหลผ่านได้อย่างลำบาก โดยสาเหตุการนอนกรนในเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากขนาดต่อมทอนซิลและ/หรือต่อมอะดีนอยด์ที่โต จนเบียดบังทางเดินหายใจส่วนต้นของเด็ก ซึ่งพบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงอายุประมาณ 8 ปี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
สิ่งอันตรายแอบซ่อนในเด็กอ้วนที่น่ารัก

คนส่วนใหญ่โดยทั่วไปเมื่อเห็นเด็กอ้วนจะมองว่าน่ารัก ดังนั้นพ่อแม่บางท่านจึงอยากให้ลูกอ้วนเพื่อจะได้ดูน่ารัก แต่ในความเป็นจริง เราอาจไม่ทราบว่ามีอันตรายที่แอบซ้อนในความน่ารักของเด็กอ้วน

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง