คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมอยู่หรือไม่ ?

05 เม.ย. 66  | ศูนย์กระดูกและข้อ
แชร์บทความ      

คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมอยู่หรือไม่ ?

หลายคนคิดว่าอายุยังน้อยไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องโรคกระดูกมากก็ได้ แต่รู้หรือไม่! ภัยร้ายจากโรคกระดูกเสื่อมอาจมาเยือนเร็วกว่าที่เราคิด นั่นก็คืออาการข้อเข่าเสื่อม ซึ่งสาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยที่สามารถเร่งการมาถึงของอาการข้อเข่าเสื่อมได้แบบติดจรวดคือ การใช้งานข้อเข่ามากเกินไป ปล่อยให้ข้อเข่าเสียดสีกันอยู่บ่อยๆ ทำกิจกรรมที่มีแรงกดที่เข่ามาก อย่างการเล่นกีฬา นั่งนานๆ หรือขึ้นลงบันไดสูงๆ ก็มีสิทธิ์เป็นข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้อายุมากถึงจะเป็นได้อีกต่อไป

อาการข้อเข่าเสื่อม สาเหตุและระยะอาการของโรค

อาการข้อเข่าเสื่อม คือ การที่เนื้อเยื่อบริเวณข้อเข่าหรือตรงปลายข้อต่อเสื่อมตัวลง กลายเป็นผิวข้อขรุขระ ไม่เรียบ ความหนาของกระดูกอ่อนลดตัวลงจากปกติ ทำให้เวลาที่ร่างกายมีการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การงอหรือเหยียดเข่าบ่อยๆ เกิดการเสียดสีกันภายในข้อเข่า โดยอาการเกิดได้ตามอายุและการใช้งานของแต่ละบุคคล 

ทั้งนี้อาการข้อเข่าเสื่อมมีอยู่ด้วยกันหลายระยะ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นที่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ จนถึงระยะรุนแรงที่ไม่สามารถเดินเหินได้อีกแล้ว

ระยะอาการข้อเข่าเสื่อม

  • ระยะที่ 1 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ ถ้าใช้เข่าหนักขึ้นจะเริ่มปวด 
  • ระยะที่ 2 เริ่มทำงานหนักๆ ไม่ได้ 
  • ระยะที่ 3 เริ่มทำกิจวัตรประจำวันปกติไม่ได้ 
  • ระยะที่ 4 ไม่สามารถเดินได้เหมือนเดิม

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อม มีอะไรบ้าง

  • กรรมพันธุ์ กรรมพันธุ์มีส่วนทำให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมได้เช่นกัน หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน
  • อายุที่เพิ่มขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ร่างกายเสื่อมลงตามไปด้วย โดยอายุ 40 จะมีอาการข้อเสื่อม จากนั้นเมื่ออายุ 50 จะมีอาการปวดเข่าตามมา 
  • การใช้ชีวิตประจำวัน มีการใช้งานข้อเข่าหนักมากเกินไป เช่น นั่งท่าเดิมนานๆ หรือยกของหนัก 
  • น้ำหนักตัว น้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นจนเกินมาตรฐาน BMI อาจทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักที่มากเกินไป จนทำให้เกิดการกดทับข้อเข่า  
  • เพศ เพศหญิงมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศชายไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของกระดูกอ่อนได้อีกทางหนึ่ง 
  • ข้อบกพร่องของร่างกายตั้งแต่แรก เช่น ข้อเข่าหลวม กล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง 

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงหรือสาเหตุของการเกิดข้อเข่าเสื่อมมีหลายประการ ทั้งแบบที่สามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับส่วนที่ควบคุมได้มากกว่า เพราะการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันและการควบคุมน้ำหนักตัว สามารถทำได้ด้วยตัวเองเพื่อลดภาวะเสี่ยงอาการข้อเข่าเสื่อม

 

สัญญาณเตือนว่า… ข้อเข่าของคุณกำลังเสื่อม

ร่างกายที่ใช้งานทุกวันสามารถส่งสัญญาณเตือนให้เรารับรู้อันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ หากสัญญาณเหล่านี้มาถึงคุณควรหันมาใส่ใจดูแลร่างกาย ก่อนที่จะสาย… กลายเป็นโรคกระดูกที่รุนแรงต่อไป

  1. มีเสียงดังกรอบแกรบเกิดขึ้นที่ในข้อเข่า เมื่อลุกหรือเคลื่อนตัวแบบเฉียบพลัน 
  2. มีอาการเหยียดขา หรืองอขาลำบาก 
  3. งอเข่าได้ไม่สุด ข้อเข่าแข็ง มีอาการฝืด 
  4. ทำกิจกรรมหนักๆ ไม่ได้ เช่น เล่นกีฬาโลดโผน ยกของหนัก
  5. มีอาการปวดเมื่อนั่งนานๆ เช่น นั่งทำงานที่เดิมนานๆ เกิดการกดทับที่ข้อเข่า

แนวทางการชะลอข้อเข่าเสื่อม

แนวทางการชะลอข้อเข่าเสื่อมมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี สำหรับผู้ที่มีอาการเบื้องต้นแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตง่ายๆ ก่อน ดังนี้ 

  1. การออกกำลังกายลดน้ำหนัก
  2. ลดการใช้ข้อเข่าที่มากเกินไป
  3. ปรับการใช้เข่าให้ถูกวิธี หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้เกิดแรงกดที่ข้อเข่า 
  4. หลีกเลี่ยงการนั่งท่าเดิมนานๆ บริหารข้อมือ ข้อเข่า 

อ่านวิธีการดูแลตัวเองด้วย ท่าการบริหารข้อเข่าเพิ่มเติมได้ที่นี่

หากรู้สึกว่าอาการข้อเข่าเสื่อม ปวด บวม หนักมากขึ้นเรื่อยๆ แนะนำให้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะอาจทำให้อาการอักเสบเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนแก้ไขได้ยาก 

เมื่อใช้ชีวิตเต็มที่ต้องไม่ลืมดูแลรักษาร่างกาย เพราะทุกการเคลื่อนไหวเราต้องใช้ทั้งกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ หากปล่อยปละละเลยก็อาจจะนำมาสู่โรคกระดูกที่ร้ายแรงจนถึงขั้นต้องผ่าตัดได้ อีกทั้งการเดินหรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในวัยชราเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากพบเจอมากที่สุด ดังนั้น จะดีกว่าไหมถ้าคุณอายุมากขึ้นแล้วยังสามารถเดินเหินได้เป็นปกติ เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ด้วยการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง 

หากคุณกำลังสงสัยว่าอาการที่กำลังเผชิญอยู่เข้าข่ายอาการข้อเข่าเสื่อมมากน้อยแค่ไหน หรือต้องการปรึกษาปัญหาเรื่องกระดูกและข้อ รวมถึงโรคกระดูกอื่นๆ สามารถรับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่ศูนย์กระดูกและข้อได้ตามเวลาทำการของโรงพยาบาล 

เรียบเรียงโดย นพ. ปฐมฉัฐ พิสิฐวัฒนาภรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์กระดูกและข้อ ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต

เวลา 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0060

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.ปฐมฉัฐ
พิสิฐวัฒนาภรณ์
ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ข้อเท้าแพลง รับมืออย่างไร

ข้อเท้าแพลง คือการบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า ที่เกิดจากการบิด หมุน หรือพลิกเกินช่วงการเคลื่อนไหวปกติ ทำให้เอ็นบริเวณข้อเท้าเกิดการยืดออกมากจนเกินไป การบาดเจ็บมักเกิดบริเวณข้อเท้าด้านนอก หากรุนแรงมาก อาจส่งผลให้เอ็นเกิดการฉีดขาด มีอาการปวด บวม และสูญเสียความมั่นคงของข้อเท้า

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ปัจจัยทำ ให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

คุณเคยไหม ที่รู้สึกปวดเข่า เมื่อต้องขึ้นลงบันได หรือ มีเสียงดังก๊อบแก๊บที่เข่าเวลาเดิน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม จริง ๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมมีอยู่มากมาย แต่วันนี้ขอนำเอาปัจจัย 5 ข้อสำคัญๆ ที่มีผลมากที่สุด มาให้ความรู้กันครับ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ระวังภัยร้ายจาก Work from home syndrome ถามหา

ถึงสถานการณ์จะกลับมาคลี่คลายแล้ว แต่หลายบริษัทยังคงให้ Work From Home อยู่เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการทำงานจากบ้านที่ดูเหมือนจะสบายนั้น อาจสร้างปัญหาสุขภาพได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ทำอย่างไร เมื่อข้อไหล่ติด รบกวนชีวิตประจำวัน

ข้อไหล่ติด ปวดไหล่ ขยับไหล่แล้วเจ็บ หรือขยับไหล่ได้น้อยลงจนหลายคนใช้ชีวิตลำบาก วันนี้เรามีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสาเหตุ อาการและวิธีรักษาข้อไหล่ติดโดยไม่ต้องผ่าตัดมาฝากกัน

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง