เข้าถึงโลกของผู้สูงอายุด้วยหัวใจ สร้างสุขภาพจิตอย่างไรให้เวิร์ก

21 ก.ย. 65  | ศูนย์สุขภาพใจ ปรึกษาจิตแพทย์
แชร์บทความ      

คนแก่ขี้น้อยใจ

เข้าถึงโลกของผู้สูงอายุด้วยหัวใจ สร้างสุขภาพจิตอย่างไรให้เวิร์ก

ทำไมคนแก่ขี้งอนบ่อย น้อยใจเก่ง? เชื่อว่าในหลายครอบครัวที่มีผู้สูงวัยอยู่ด้วย ต่างต้องเคยสัมผัสปัญหาคนแก่ขี้น้อยใจ หรือการแสดงอารมณ์ไม่พอใจกับบางสิ่ง โดยไม่เคยล่วงรู้เลยว่านั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุที่เกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และความเสื่อมโทรมถดถอยลงไปในทุกด้าน ในฐานะลูกหลานรวมไปถึงคนใกล้ชิดจำเป็นต้องเข้าถึงโลกของผู้สูงอายุอย่างเข้าใจ เอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เพื่อให้พวกท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีสมวัย และอยู่เป็นร่มไทรให้ลูกหลานได้อย่างมีความสุขที่สุด

สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงวัย

ภาวะความปรวนแปรภายในจิตใจของผู้สูงอายุเกิดได้จากหลายปัจจัยหลอมรวมกัน จนกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ศักยภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลง ความหย่อนสมรรถภาพในทุกด้านเป็นความเสื่อมถอยตามวัย ส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดข้อจำกัดมากมายในการดำเนินชีวิตเพิ่มขึ้น อย่างการพึ่งพาตัวเองไม่ได้ เจ็บป่วยด้วยโรคตามวัย และจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ไม่ดีอย่างที่เคย แม้จะทำความเข้าใจและเรียนรู้มาว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฏธรรมชาติแต่ก็อดที่จะเก็บมาคิดน้อยใจไม่ได้
  • ปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเป็นความเจ็บป่วยทางกายเรื้อรังไม่หายขาด ใช้เวลารักษาเป็นเวลานานแต่ทำได้เพียงทุเลาอาการ และยังต้องอาศัยการติดตามผลของโรคอยู่เสมอ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง กระดูกและข้อ เป็นต้น ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มักเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านจิตใจตามมา เนื่องจากความเบื่อหน่ายกับการรักษาที่ดูยืดเยื้อ มีค่าใช้จ่ายสูง และเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง เมื่อขาดความร่วมมือในการรักษาจากผู้ป่วยกระทั่งอาการทรุดหนักลง จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและจิตใจอย่างชัดเจน
  • ฮอร์โมนที่ลดน้อยลง ความเสื่อมถอยของร่างกายส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายไม่สามารถปรับให้สมดุลได้ดังเดิม ผู้สูงอายุจะทบทวนเรื่องราวในอดีตซ้ำๆ กลับไปกลับมาทั้งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ในที่สุดจะก่อตัวเป็นความเครียด และแสดงออกให้เห็นด้วยอาการซึมเศร้า หงุดหงิด ขี้ระแวง วิตกกังวล โกรธง่าย เอาแต่ใจ
  • การสูญเสีย เมื่อมีการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักอย่างคู่ชีวิต ญาติหรือเพื่อนฝูงที่สนิทสนม ส่งผลให้ผู้สูงวัยขาดที่พึ่งทางใจ เมื่อความเศร้าและความว้าเหว่กัดกร่อนจิตใจเป็นระยะเวลาหนึ่งผู้สูงอายุจะเกิดความเหงาและเศร้าซึมลงในที่สุด และอาจกังวลไปถึงภาพความตายของตนเองในอนาคตอันใกล้
  • ความเปลี่ยนแปลงของสังคม การปรับสถานะจากผู้นำครอบครัว หรือกำลังหลักในการดูแลสมาชิกหลายคนในบ้านมาเป็น ผู้ได้รับการดูแล ส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต และอาจสูญเสียความภาคภูมิใจตนเองไปในที่สุด รวมถึงสถานะทางการเงินที่เปลี่ยนไป และต้องลดทอนบทบาทความสำคัญของตัวเองลงเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งนับเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้สูงอายุต่างต้องปรับตัวปรับใจ

3 ปัญหาสุขภาพจิตที่พบเจอบ่อยในผู้สูงอายุ

จากสาเหตุที่ได้กล่าวมานั้นสามารถสร้างปัญหาหาสุขภาพจิตให้กับผู้สูงวัยในบ้านได้ ซึ่งการเจ็บป่วยภายในจิตใจของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอาจนำไปสู่โรคภัยต่างๆ ได้มากกว่าที่คาดคะเนไว้ มาทำความเข้าใจกับ 3 ปัญหาสุขภาพจิตที่พบเจอบ่อยในผู้สูงอายุ ดังนี้

 

สูงวัยอารมณ์แปรปวน

1. อารมณ์แปรปรวน 

การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ทั้งดีและร้ายไปได้อย่างรวดเร็วภายในวันเดียว เดี๋ยวอารมณ์ดี เดี๋ยวๆ ก็น้อยใจ เป็นสิ่งที่พบได้มากเป็นอันดับต้นๆ ตั้งแต่ช่วงแรกของการก้าวสู่วัยสูงอายุ อาจเกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติจากความเครียด การเปลี่ยนแปลงบางสิ่งซึ่งมีผลสำคัญต่อชีวิต หรือมีความสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วย การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายที่ผิดปกติ สังเกตอาการได้จากพฤติกรรมนอนไม่หลับ หายใจลำบาก ปวดหลัง ท้องอืด และอาจเป็นอาการของโรคจิตเวชบางชนิดร่วมด้วย

2. เครียด อารมณ์เสียง่าย

การใช้ความพยายามในการรับมือความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่ถาโถมใส่ช่วงบั้นปลายชีวิต และปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีความต่างวัย ล้วนส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมในผู้สูงอายุได้ทั้งสิ้น ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็อาจมีแนวโน้มเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนใหญ่มักแสดงออกทางภาษากายให้เห็นเป็นความกลัว ย้ำคิดย้ำทำ ความวิตกกังวล นอนไม่ค่อยหลับ และมีอาการเจ็บป่วยไม่สบายได้

3. ภาวะซึมเศร้า

ในผู้สูงอายุ อาการซึมเศร้าเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ เริ่มตั้งแต่เศร้าเล็กน้อย ไปจนถึงมีอาการจิตเวชร่วมด้วย แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองโดยตรง แต่ก็ทำให้รู้สึกเครียดและเป็นกังวลได้เช่นกัน การแสดงออกที่สังเกตได้เริ่มต้นจากความสนใจสิ่งที่เคยชอบลดลง พูดน้อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไปจนถึงกลุ่มที่น่าเป็นกังวลที่สุดคือกลุ่มที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการ เก็บงำความรู้สึกไม่อยากดำเนินชีวิตต่อไปไว้ในใจลำพัง เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องพบแพทย์อย่างเร่งด่วน และวางแผนการดูแลอย่างเหมาะสม

แนวทางการดูแลสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ

เมื่อรู้ถึงสาเหตุและลักษณะอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของครอบครัว ดังนั้นขอให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพจิตในผู้สูงอายุอย่างเข้าใจด้วยการ

 

แนวทางดูแลผู้สูงวัย

  • ให้ความรักความอบอุ่นอย่างเต็มเปี่ยม มองข้ามความดื้อและเอาแต่ใจด้วยการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยรู้ทันและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของตนเอง 
  • ใช้เวลาทำกิจกรรมประจำวันง่ายๆ ร่วมกันในครอบครัวมากกว่าการดูแลทางกายคือ เป็นผู้รับฟังที่ดี พูดคุยด้วยการให้เกียรติและมอบความเคารพให้ท่านอยู่เสมอ 
  • เสริมความเชื่อมั่นและสร้างคุณค่า ให้ผู้สูงอายุได้โดยการให้ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นในเรื่องที่ไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ อย่างการทำงานบ้านเล็กน้อย เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกอุ่นใจและได้รับความเอาใจใส่จากคนใกล้ชิด จนไม่เหลือพื้นที่ไว้น้อยอกน้อยใจอีกต่อไป

รู้แบบนี้แล้วหลายคนคงเริ่มเข้าใจคนแก่ ผู้สูงวัย หรือผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวมากยิ่งขึ้น จากนี้หากเจออาการขี้น้อยใจก็สามารถรับมือด้วยการแสดงความห่วงใยที่เรามีต่อท่านออกไปอย่างชัดเจน และเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลผู้สูงอายุในบ้านได้อย่างทันท่วงที นอกเหนือจากการดูแลสุขภาพจิตของผู้สูงอายุแล้ว อย่าลืมหันมาดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการพาท่านกายภาพและกายบริหารอย่างเหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้หลั่งสารเอ็นโดรฟินมาเป็นพลังงานขับเคลื่อนความสุขสู่จิตใจ

ที่โรงพยาบาลวิมุต เรามีศูนย์สุขภาพใจ พร้อมให้คำปรึกษาและดูแลรักษาสุขภาวะด้านจิตใจแบบองค์รวม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ โดยทีมแพทย์เฉพาะทางและผู้ชำนาญการจากสหสาขาวิชาชีพที่พร้อมดูแลด้วยความใส่ใจและเป็นกันเอง เน้นการทำกิจกรรมบำบัด ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด และการจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อที่ว่า จิตใจไม่ต่างจากร่างกาย ไม่จำเป็นต้องรอให้เจ็บป่วยก่อนจึงค่อยดูแลรักษา สามารถติดต่อสอบถามเพื่อรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์สุขภาพใจ ชั้น 18 เวลา 08.00-18.00 น. หรือโทร.0-2079-0078 

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์สุขภาพผู้สูงวัยที่พร้อมดูแลทุกปัญหาด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ด้วยทีมแพทย์ที่ชำนาญการด้านโรคผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และเร็วๆ นี้ เตรียมพบกับ ViMUT WELLNESS ศูนย์ฟื้นฟูและดูแลสุขภาพสำหรับครอบครัวและผู้สูงอายุ ที่มาพร้อมบริการตรวจรักษา เยียวยาหัวใจผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุด กายภาพบำบัดแบบรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน โดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพที่พร้อมดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สุขภาพผู้สูงวัย และ ViMUT WELLNESS โรงพยาบาลวิมุต

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
“ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” 2 ข้อควรรู้ สู้ทั้งฝุ่นทั้ง COVID แบบจิตไม่ตก

ในภาวะที่ฝุ่น PM 2.5 กลับมาเข้าขั้นวิกฤตอีกครั้ง กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อมรายงานผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 แล้วพบว่าเกินค่ามาตรฐานถึง 70 พื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กอาการ…แบบนี้ใช่ซึมเศร้าไหม กับแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า 9 ข้อ

หากคุณมีอาการเครียด นอนไม่หลับ เศร้า ซึม เบื่อหน่าย ร้องไห้บ่อย หรืออยากฆ่าตัวตาย มาเช็กสุขภาพจิตเบื้องต้นว่าเป็นซึมเศร้าไหม ด้วยแบบทดสอบภาวะซึมเศร้า 9 ข้อนี้กัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
วิธีสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ เหตุคนไทยเครียดซึมเศร้า ยังไม่ติดโควิดแต่สุขภาพจิตใกล้โคม่า

แต่ไหนแต่ไรมาปัญหาสุขภาพจิตก็ถือเป็นภัยที่คุกคามชีวิตของคนทั่วโลกอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ในญี่ปุ่นมียอดการฆ่าตัวตายสูงถึง 17,000 ราย หลังจากเผชิญกับโรคไปได้แค่ 4 เดือน ในขณะที่ประเทศไทยก็มีอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นถึง 22% และการระบาดระลอกใหม่นี้เอง จะเห็นได้ว่าผู้คนยิ่งมีความวิตกกังวลเพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังไม่มีท่าทีที่จะลดลง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวัน ต้องออกจากบ้านไปทำงาน มีการพบเจอผู้คน ท่ามกลางความหวาดระแวงว่าจะติดเชื้อหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
7 วิธีนอนยังไงให้หลับง่าย ตื่นมาสดชื่น รับวันใหม่ได้เต็มพลัง

ทำไงดีนอนไม่หลับ ต้องพลิกตัวไปมา กว่าจะข่มตาหลับได้ก็เกือบเช้า จนสุขภาพเริ่มแย่ มาดู 7 วิธีนอนที่ทำอย่างไรให้หลับได้ง่ายขึ้น หลับสนิท ตื่นมาแล้วสดชื่น พร้อมรับเช้าวันใหม่อย่างสดใสกัน

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง