เช็กอาการพาร์กินสัน อาการสั่นที่ไม่ควรมองข้าม

29 ส.ค. 66  | ศูนย์สมองและระบบประสาท
แชร์บทความ      

เช็กอาการพาร์กินสัน อาการสั่นที่ไม่ควรมองข้าม

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) หรือที่หลายคนรู้จักกันอีกชื่อว่า ‘โรคสั่นสันนิบาต หรือโรคสันนิบาตลูกนก’ เป็นโรคที่พบได้บ่อยรองลงมาจากโรคอัลไซเมอร์ ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป โดยเกิดจากความเสื่อมไปตามวัยของระบบประสาทและสมองในส่วนที่สร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า “โดพามีน” (Dopamine) ซึ่งเป็นสารที่ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยจะทำให้ร่างกายส่วนต่างๆ มีการสั่นอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด มีเพียงวิธีการรักษาแบบประคับประคองและชะลออาการของโรค เพื่อให้ผู้ป่วยพาร์กินสันมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

8 อาการที่เข้าข่ายว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน

1. มือสั่น ผู้ที่เข้าข่ายว่ามีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน มักมีอาการสั่น (Tremor) โดยสังเกตได้จากอาการมือสั่นเมื่อไม่ได้ทำอะไร หรืออยู่เฉยๆ ก็สังเกตเห็นว่ามือมีอาการสั่น แต่ดีขึ้นเมื่อหยิบจับสิ่งของ ซึ่งสามารถเกิดกับข้างใดข้างหนึ่งก่อน จากนั้นก็จะเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้าง

2. ร่างกายแข็งเกร็ง เนื่องจากสารสื่อประสาทในการควบคุมกล้ามเนื้อเสียสมดุล ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการตึงตัว แข็งเกร็ง โดยเฉพาะเวลาขยับตัวหรือเคลื่อนไหว จึงทำให้มักรู้สึกเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแขน ขาและลำตัว

3. หน้านิ่ง พูดช้า เสียงเบา และเมื่อกล้ามเนื้อมีการตึงตัว (Rigidity) ทำให้ผู้ที่มีอาการโรคพาร์กินสันมักหน้านิ่ง ไม่สามารถแสดงอาการทางสีหน้าได้ พูดช้าลง ติดขัดและเสียงเบาลง 

4. เคลื่อนไหวได้ช้า เดินลำบาก หลังโค้งงอ จากอาการกล้ามเนื้อตึงตัว จึงทำให้ผู้ที่เป็นพาร์กินสัน มักมีการเคลื่อนไหวได้ช้า (Bradykinesia) ลุกจากเตียง หรือเก้าอี้ได้ยากขึ้น เดินลำบากและหลังโค้งงอโน้มไปด้านหน้ามากขึ้น หากเป็นในระยะที่รุนแรงขึ้นผู้ป่วยพาร์กินสันจะก้าวเดินได้สั้นลงเหมือนหุ่นยนต์ หรือบางครั้งก้าวขาไม่ออก ทรงตัวไม่มั่นคงและทำให้หกล้มได้ง่าย 

5. การรับรสและกลิ่นน้อยลง เนื่องจากการรับรสและกลิ่นต้องทำงานร่วมกับระบบประสาทก้านสมองส่วนเมดัลลา (Medulla Oblongata) จึงทำให้ผู้ที่เริ่มป่วยเป็นพาร์กินสันรู้สึกว่ารสชาติอาหาร หรือได้กลิ่นที่ไม่เหมือนเดิม หรือรับรสและได้กลิ่นลดลง ตลอดจนเมื่อโรครุนแรงขึ้น บางรายไม่สามารถรับรสหรือกลิ่นต่างๆ ได้

6. ท้องผูกบ่อย ปัญหาเรื่องการขับถ่าย หรือท้องผูกเป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งอาการเริ่มต้นของโรคพาร์กินสันที่พบได้บ่อย เนื่องจากมีความเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติในการควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ จึงทำให้ระบบขับถ่ายมีการเคลื่อนไหวช้าลงและทำให้เกิดท้องผูกได้

7. มีอาการกระตุกของแขน ขา ขณะหลับบ่อย ในผู้ที่มีอาการพาร์กินสันในตอนกลางคืนมักพบอาการละเมอจากกล้ามเนื้อที่แข็งเกร็งในช่วงที่หลับสนิทได้ ซึ่งอาจทำให้มีอาการแขนขากระตุกจนทำให้ตกเตียง หรือกระตุกจนอาจทำร้ายคนที่นอนข้างๆ ได้

8. มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ นอกจากอาการทางด้านร่างกายที่สามารถสังเกตได้แล้วนั้น ยังพบผู้ป่วยพาร์กินสันกลุ่มที่มีอาการทางจิตใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า หรือมีความวิตกกังวลร่วมด้วย

พาร์กินสันมีกี่ระยะ

สำหรับโรคพาร์กินสันสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ โดยในแต่ละระยะจะมีอาการแสดงตามลำดับ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 > มือข้างใดข้างหนึ่งสั่นตอนพัก ไม่ได้จับของ และปวดเมื่อยตามแขน ขา
  • ระยะที่ 2 > อาการสั่นลามไปอีกข้าง เริ่มมีปัญหาการเดินที่ช้าลง หลังโค้งงอ
  • ระยะที่ 3 > พูดลำบาก ช้าลงและเสียงเบา รวมถึงมีปัญหาการทรงตัว เดินซอยเท้า หรือก้าวขาไม่ออก ซึ่งอาจทำให้ล้มได้ง่าย
  • ระยะที่ 4 > สั่นลดลง แต่จะเกร็งและเคลื่อนไหวได้ลำบาก หรือช้าลงกว่าเดิม พูดลำบาก พูดไม่ออก ไม่สามารถแสดงสีหน้า ต้องมีคนคอยดูแลใกล้ชิดป้องกันการหกล้ม
  • ระยะที่ 5 > กล้ามเนื้อเกร็งแข็ง ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ มือเท้าหงิกหงอ ไม่มีการแสดงสีหน้า ไม่สามารถกินข้าวได้ ร่างกายผอมซูบ ทรวงอกเคลื่อนไหวได้น้อยลง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ

แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสัน

การรักษาโรคพาร์กินสันนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ แต่จะเป็นการดูแลรักษาตามอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติก่อนเป็นพาร์กินสันได้มากที่สุด

  • รักษาด้วยยา  เป็นการรักษาตามระยะและอาการที่ผู้ป่วยเป็น โดยแพทย์จะให้ยาที่ออกฤทธิ์กับสารสื่อประสาทโดพามีนในสมอง
  • ผ่าตัดกระตุ้นสมองลึก (Deep Brain Stimulation) เป็นการรักษาพาร์กินสันด้วยการผ่าตัดเพื่อฝังขั้วไฟฟ้าเข้าไปกระตุ้นสมอง แต่การรักษานี้มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้กับคนที่มีอาการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอที่รุนแรง มีอาการสั่นรุนแรงและไม่สามารถคุมได้ด้วยยา หรือมีผลข้างเคียงจากยา

แม้ว่าโรคพาร์กินสันจะเป็นโรคที่เป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และต้องประคับประคองอาการด้วยการรับประทานยาอยู่ตลอด แต่หากผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่เหมาะสมและมีกากใยเพื่อช่วยในการขับถ่าย ออกกำลังกายและกายภาพเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ร่วมกับการมีวินัยในการรับประทานยาตามเวลาที่หมอสั่ง ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สมองและระบบประสาท ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0068

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 


 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง ทุกวัยเสี่ยง ทุกคนเลี่ยงได้

หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว แขนขาก็ไม่มีแรง นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ มาเช็กอาการเบื้องต้นให้ทันเวลา ก่อนเสี่ยงอัมพาตและเสียชีวิตได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ฝึกสมองให้ฟิตอยู่เสมอกับ 5 เคล็ดลับ ลับสมองให้คม

ไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ขี้หลงขี้ลืมตั้งแต่ยังหนุ่มสาว มาฝึกสมอง ออกกำลังกายความคิด กระตุ้นให้สมองฟิต สดชื่นปลอดโปร่งกับ 5 วิธีนี้เลย

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กด่วน! ปวดหัวแบบนี้ ใช่ไมเกรนหรือไม่

ตรวจสอบสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน และวิธีบรรเทาอาการปวดอย่างถูกต้อง พร้อมหาคำตอบว่าปวดไมเกรนต่างจากปวดหัวธรรมดาอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลืมง่าย จำยาก สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ภัยเงียบที่อันตรายมากกว่าการหลงลืม เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง เกี่ยวข้องอย่างไรกับภาวะสมองเสื่อม เช็กอาการบ่งชี้และวิธีการรักษาได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม