7 ข้อน่ารู้ เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนตรวจสุขภาพประจำปี

16 ม.ค. 66  | ศูนย์สุขภาพ
แชร์บทความ      

7 ข้อน่ารู้ เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมก่อนตรวจสุขภาพประจำปี

กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แจ่มใสและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในยุคที่โรคภัยพร้อมโจมตีเราได้ทุกเมื่อ การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้รู้เท่าทันก่อนเกิดโรค รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่บั่นทอนสุขภาพเงียบๆ อย่างไม่รู้ตัว มาเรียนรู้ถึงความหมายและความสำคัญของการตรวจสุขภาพอย่างเข้าใจว่าสำคัญอย่างไร และวิธีเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพที่ต้องใส่ใจมากกว่าแค่งดน้ำ งดอาหารอย่างที่เราคุ้นชินเท่านั้น!

ตรวจสุขภาพสำคัญอย่างไร?

หัวใจสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปี คือ การค้นหาโรคและปัจจัยเสี่ยงในการก่อโรคร้ายแรงขณะที่ยังไม่พบความผิดปกติของร่างกาย เพราะมีโรคหลายชนิดที่เกิดขึ้นแล้วไม่แสดงอาการ แต่คอยสร้างความเสียหายให้ร่างกายอย่างช้าๆ การตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นจึงช่วยให้การรักษาเป็นไปโดยง่าย และมีโอกาสหายขาดได้มากกว่า ส่วนในผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีมีส่วนสำคัญในการป้องกันการเกิดความผิดปกติต่างๆ รวมถึงรับคำแนะนำการวางแผนดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับตนเองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

7 ข้อควรรู้ เตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพอย่างไรให้ถูกวิธี

1. ใช้ชีวิตให้ปกติ เหมือนเดิมที่เคยทำ

เพี่อให้ผลที่ได้ตรงกับความเป็นจริงของสุขภาพที่สุด ควรใช้ชีวิตให้เหมือนเดิมเป็นปกติแบบเดียวกับทุกวัน โดยไม่จำเป็นต้องควบคุมตัวเองในด้านใดด้านหนึ่งมากเป็นพิเศษ เช่น ในรายที่กินคลีนมาตลอดทั้งปี แต่ก่อนตรวจสุขภาพกลับไปปาร์ตี้บุฟเฟ่ต์แบบจัดเต็ม หรือบางคนไม่ออกกำลังกายเลย แต่พยายามออกกำลังกายแบบหักโหมก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อหวังให้ผลตรวจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเสียอย่างนั้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้ผลการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนไปได้

2. นอนหลับให้เพียงพอ

ควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมง ก่อนรับการตรวจสุขภาพ เนื่องจากมีผลต่อความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย และการเต้นของหัวใจที่อาจสูงกว่าความเป็นจริง ทำให้แยกไม่ได้ว่าผลตรวจที่ออกมานั้นเป็นความผิดปกติจากปัญหาด้านสุขภาพหรือแค่นอนน้อยกันแน่

3. งดอาหารและเครื่องดื่ม

ในกรณีที่มีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ควรงดรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8 ชั่วโมง และในกรณีที่มีการตรวจระดับไขมันในเลือด ควรงดรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 10-12 ชั่วโมง แต่ยังสามารถจิบน้ำเปล่าได้ และควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ตลอดช่วงเวลาก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ 

4. เอกสารโรคประจำตัว

แม้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจะต้องพบแพทย์อยู่บ่อยครั้ง แต่การตรวจสุขภาพแบบองค์รวมก็ยังมีความจำเป็นเช่นกัน จึงควรนำเอกสารสุขภาพและยาที่รับประทานเป็นประจำมาด้วย เพื่อให้แพทย์ได้ใช้ประกอบการวินิจฉัย ทั้งนี้ในส่วนของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ หรือโรคอื่นๆ ที่ต้องรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์ สามารถรับประทานได้ตามปกติ 

5. ตั้งครรภ์ต้องแจ้ง

หากสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ จำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทำการตรวจ เพราะบางโปรแกรมในการตรวจอาจจำเป็นต้องใช้การเอกซเรย์ ซึ่งเป็นหัตถการที่ต้องใช้รังสีเข้ามาช่วยในการตรวจซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเด็กทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นหากสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทำการตรวจเพื่องดการเอกซเรย์ 

6. เลือกเสื้อผ้าที่สะดวกในการตรวจร่างกาย

ควรเลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายไม่รัดแน่นเกินไป เอื้อต่อการพับแขนเสื้อขึ้น เพื่อความสะดวกเมื่อเจ้าหน้าที่ทำการเจาะเลือด และสามารถผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าได้ง่ายหากต้องเอกซเรย์ ผู้หญิงจำเป็นต้องถอดเสื้อชั้นในออกป้องกันไม่ให้ตะขอด้านหลังบดบังภาพของปอด 

7. เช็กช่วงวันรอบเดือน

หากมีนัดตรวจสุขภาพในช่วงกำลังมีประจำเดือนควรเลื่อนนัดออกไปก่อน และรอให้ประจำเดือนหมดไปแล้ว 1-2 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก รวมถึงเลือดที่อาจปนเปื้อนในปัสสาวะ อุจจาระ ซึ่งมีผลต่อการแปลผลตรวจได้

มากกว่าการตรวจสุขภาพแบบองค์รวมยังมีการตรวจคัดกรองโรคร้ายเฉพาะกลุ่มเพศที่ควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ ได้แก่ การตรวจคัดกรอง ‘มะเร็งปากมดลูก’ ในเพศหญิงเมื่อมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป รวมถึง ‘มะเร็งต่อมลูกหมาก’ ในเพศชาย และ ‘มะเร็งลำไส้ใหญ่’ ทั้งในเพศชาย และหญิงที่แนะนำให้เข้ารับการตรวจเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคร้ายลงได้ นอกจากนี้ยังมีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนต่างๆที่จำเป็นในแต่ละช่วงอายุ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพในระยะยาว

 

โดยส่วนใหญ่การตรวจสุขภาพจะได้รับนัดหมายในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายอิดโรยจากการอดอาหารที่นานเกินไป อย่าลืมปฏิบัติตัวเคร่งครัดตามคำแนะนำ และให้ข้อมูลพฤติกรรมอย่างตรงไปตรงมาเพื่อผลตรวจที่แม่นยำ แต่ถ้าไปคนเดียวกลัวจะเหงาก็จับมือทุกคนในบ้านไปตรวจสุขภาพพร้อมกันก็ยิ่งดี นอกจากจะมีเพื่อนช่วยเตรียมตัวเตรียมใจแล้วยังได้เห็นภาพรวมของสุขภาพและโรคที่อาจถูกส่งต่อผ่านพันธุกรรมของทุกคนในครอบครัวซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงกันอีกด้วย เจอก่อน รู้เร็ว ก็สามารถรักษาให้หายได้!

เรียบเรียงโดย นพ.บารมี พงษ์ลิขิตมงคล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 

โรงพยาบาลวิมุต โทร 0-2079-0000

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.บารมี
พงษ์ลิขิตมงคล
เวชศาสตร์ครอบครัว
แพทย์ผู้ชำนาญการเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine)

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ประกาศชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีมีข่าวพบผู้ติดเชื้อเข้ามาในโรงพยาบาลวิมุต

ประกาศชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีมีข่าวพบผู้ติดเชื้อเข้ามาในโรงพยาบาลวิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี แต่ละวัยเลือกตรวจแบบไหนดี ?

โปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปี 2566-2567 ที่ไหนดี ต้องนี่เลยโรงพยาบาลวิมุต รวมทุกแพ็กเกจเพื่อคนทุกวัยที่เราคัดสรรมาให้แล้วว่าแต่ละวัยต้องตรวจอะไรบ้าง ให้คุณพร้อมและมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
7 โรคร้ายพร้อมจู่โจม อุ่นใจรุ่นใหญ่ด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้ชายวัย 50+

เตรียมพร้อมร่างกายสู่วัยเก๋าได้อย่างแข็งแรง ด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้ชาย และ 7 โรคอันตรายของผู้ชายวัย 50+ ที่คุณต้องรู้และเตรียมรับมือให้พร้อม

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เสริมเกราะให้ร่างกายด้วยวัคซีนเสริม เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทุกวัย

ใครว่าวัคซีนเสริมจำเป็นแค่กับเด็กกัน แต่สำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ การฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ถึง 1 ใน 3 ซึ่งจะมีวัคซีนอะไรบ้างที่ควรฉีดมาดูกัน

อ่านเพิ่มเติม