หัดเยอรมัน โรคติดต่ออันตรายที่แม่และเด็กเล็กต้องระวัง

23 ม.ค. 67  | ศูนย์อายุรกรรม
แชร์บทความ      

หัดเยอรมัน โรคติดต่ออันตรายที่แม่และเด็กเล็กต้องระวัง

เป็นไข้ มีผื่นแดงขึ้นที่หน้าและลำตัว ต้องระวัง “โรคหัดเยอรมัน” โรคติดต่อที่สามารถแพร่กระจายได้ง่ายเพียงแค่ไอ จาม หรือหายใจร่วมกัน และแม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราความรุนแรงของโรคต่ำ แต่กับเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับชีวิตได้

หัดเยอรมัน โรคติดต่อที่ต้องระวังในช่วงปลายหนาวต้นร้อน เกิดจากอะไร ?

โรคหัดเยอรมัน (Rubella) เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน (Rubella Virus) โดยลักษณะเด่นชัดของโรคนี้คือการทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีภาวะไข้ออกผื่น สามารถพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูหนาวไปจนถึงช่วงต้นฤดูร้อน หรือในช่วงมกราคม - เมษายน โดยสามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านการไอ จาม การหายใจร่วมกัน หรือใช้ของร่วมกัน และโรคนี้สามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ (คนท้อง) ผู้สูงอายุ และในคนที่ไม่ได้รับวัคซีนตอนเด็กหรือภูมิต้านทานต่ำจำเป็นต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้

ทั้งนี้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าโรคหัดและโรคหัดเยอรมันคือโรคเดียวกัน เพราะด้วยชื่อที่คล้ายคลึงกันและเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วโรคหัดและโรคหัดเยอรมันคือคนละโรคกัน ซึ่งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเป็นคนละชนิด อีกทั้งความรุนแรงของโรคหัดเยอรมันยังน้อยกว่าโรคหัดอีกด้วย

อาการของโรคหัดเยอรมันเป็นอย่างไร

โรคหัดเยอรมันจะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 14 วัน ซึ่งระหว่างนั้นมักจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา แต่หลังจากติดเชื้อ 14 วันไปแล้ว จะมีอาการจำเพาะของโรค ดังนี้  

1. ต่อมน้ำเหลืองโต

อาการแรกเริ่มหลังติดเชื้อของโรคหัดเยอรมันจะเริ่มจากการต่อมน้ำเหลืองโตขึ้น เพราะเมื่อเชื้อหัดเยอรมันเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจแล้ว จะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดแล้วไปสู่ระบบน้ำเหลือง จึงทำให้เราคลำเจอว่าต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังหู ท้ายทอย หรือด้านหลังลำคอโตขึ้น เป็นก้อนนิ่มๆ ขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติเนื่องจากร่างกายกำลังพยายามขับไล่เชื้อไวรัสหัดเยอรมันที่กำลังบุกรุก

2. มีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คล้ายเป็นหวัด

หลังจากนั้นจะเป็นช่วงระยะก่อนออกผื่น โดยร่างกายจะเริ่มจัดการกับเชื้อไวรัสต่อด้วยการสั่งให้ร่างกายเผาผลาญไขมัน พร้อมกับสั่งให้กล้ามเนื้อหดตัวอย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกายเพื่อลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส จึงทำให้มีไข้ต่ำๆ ประมาณ 38.5 องศาเซลเซียส อยู่ 2 - 3 วัน และอาการปวดหัว ซึ่งคล้ายอาการของไข้หวัดทั่วไป ในบางรายอาจมีอาการเจ็บคอร่วมด้วยได้

3. เป็นผื่นแดง

หลังจากที่มีไข้ประมาณ 3 วัน อาการสำคัญของโรคหัดเยอรมันอย่างผื่นจะเริ่มแสดงออกมาโดยจะมีลักษณะแบนราบกับผิว เป็นสีชมพูจางๆ ซึ่งมักจะเริ่มขึ้นที่ใบหน้าเป็นที่แรก ก่อนจะลามไปตามลำคอ ตัว แขนและขาภายใน 1 - 3 วัน ซึ่งมักไม่มีอาการคัน และใช้เวลา 3 - 5 วัน ก่อนจะค่อยๆ จางหายกลับมาเป็นปกติโดยไม่ทิ้งร่องรอย

4. ปวดข้อ หรือข้ออักเสบ

ปวดข้อ ข้ออักเสบ เป็นอาการแทรกซ้อนที่มีโอกาสพบเจอได้น้อย แต่เป็นอาการที่มักพบได้บ่อยในเพศหญิงวัยผู้ใหญ่
ซึ่งอาการปวดอักเสบตามข้อ หรือกระดูก จะรู้สึกปวดได้ตามข้อหัวเข่า ข้อเท้า หรือข้อนิ้ว 

นอกจากนี้ในบางรายอาจมีอาการน้ำมูกไหล ตาแดงจากเยื่อบุตาอักเสบ หรืออาจไม่มีไข้ ปวดหัว หรือออกผื่นได้เช่นกัน
แต่ในช่วงที่ออกผื่นแล้วเชื้อไวรัสหัดเยอรมันสามารถแพร่กระจายได้อีกประมาณ 7 วัน ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ป่วยควรแยกตัว แยกสิ่งของเครื่องใช้ สวมใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างจากผู้อื่นสักระยะ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

หัดเยอรมัน โรคต้องระวังในคุณแม่ตั้งครรภ์

แม้ว่าอาการของโรคหัดเยอรมันจะไม่รุนแรงมาก ไม่มียาต้านไวรัสโดยตรงและใช้วิธีการรักษาตามอาการก็สามารถหายได้ แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก ต้องระวังการติดเชื้อหัดเยอรมัน เพราะเชื้อไวรัสนี้สามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อทารกในครรภ์ให้เป็นอันตรายได้ เช่น เติบโตช้า บกพร่องทางสติปัญญา ต้อกระจก หูหนวก หัวใจหรืออวัยวะส่วนอื่นๆ พิการ และอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้

โรคหัดเยอรมัน ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR)

ปัจจุบันโรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) โดยวัคซีนนี้จะอยู่ในวัคซีนรวมพื้นฐานที่เด็กควรต้องฉีด ซึ่งเป็นวัคซีนที่นำเอาเชื้อไวรัสหัดเยอรมันมาทำให้ฤทธิ์อ่อนลง เพื่อให้ร่างกายได้รู้จักและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งวัคซีนนี้ถูกจัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ควรต้องฉีดตั้งแต่เด็ก โดยจะต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เข็มแรกฉีดเมื่ออายุ 9-12 เดือน และฉีดเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 8-24 เดือน หรือเมื่ออายุครบ 4-6 ปี ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคหัดเยอรมันสูงถึงร้อยละ 97 และสามารถลดการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคได้ตลอดชีวิต

ราคาพิเศษ! โปรโมชันแพ็กเกจวัคซีนเด็กตามช่วงวัยจากโรงพยาบาลวิมุต

ถึงแม้ว่าโรคหัดเยอรมันจะฟังดูไม่รุนแรง มีเพียงอาการไข้ที่คล้ายไข้หวัด และผื่นแดงทั่วร่างกาย ซึ่งสามารถหายได้เองใน 3-5 วัน โดยรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น แต่หากเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีภูมิต้านทานต่ำเกิดการติดเชื้ออาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น หากในวัยเด็กไม่เคยเข้ารับวัคซีน ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค หรือวางแผนตั้งครรภ์ ควรเข้ารับวัคซีนป้องกันหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับสุขภาพและทารกในครรภ์

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์

ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต

เวลา 09.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0030

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. บารมี พงษ์ลิขิตมงคล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
วัคซีนปอดอักเสบในผู้สูงอายุ… จำเป็นแค่ไหน ?

วัคซีนปอดอักเสบในผู้สูงอายุ จำเป็นต้องฉีดไหม ฉีดแล้วช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบได้จริงหรือไหม มาดูคำตอบได้ที่นี่ว่าทำไมผู้สูงอายุถึงควรฉีดวัคซีนนี้กัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
6 วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุ ที่แนะนำให้ลูกหลานพาไปฉีด

เปิดคำแนะนำการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ วัคซีนอะไรบ้างที่ควรฉีดอัปเดตข้อมูลปี 2566 เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิตและบรรเทาอาการหนักให้เบาลง กับ 6 วัคซีนนี้เลยที่เรารวมข้อมูลมาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
หายป่วยลองโควิดได้ หายขาดด้วยโปรแกรมตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด

โควิดที่ว่าน่ากลัว ยังไม่เท่าลองโควิด มาตรวจเช็กปอดและร่างกายให้เท่าทันโรค กับโปรแกรมตรวจสุขภาพหลังเป็นโควิด เพื่อการฟื้นฟูและการดูแลตัวเองได้อย่างรวดเร็ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
รวมสารพัดเมนูอาหาร เพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ

รวมสารพัดเมนูอาหารเพื่อผู้สูงอายุ ควรกินอะไรดี ใครนึกไม่ออก เรารวมให้แล้วที่นี่ กับเมนูอาหารและโภชนาการเพื่อผู้สูงอายุ ที่ช่วยดูแลสุขภาพและบำรุงร่างกายให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง