เช็กลิสต์ 7 อาการ “โรคไต” โรคที่ไม่ได้เกิดแค่กินเค็ม !

12 ธ.ค. 66  | ศูนย์ไตเทียม
แชร์บทความ      

อาการโรคไต

เช็กลิสต์ 7 อาการ “โรคไต” โรคที่ไม่ได้เกิดแค่กินเค็ม !

ชอบกินเค็ม ติดอาหารมีโซเดียมสูงต้องระวังโรคไตถามหา… เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘กินเค็มมากๆ ระวังเป็นโรคไต’ ซึ่งเป็นประโยคที่คุ้นหูมาตั้งแต่เด็กและทำให้เราเข้าใจว่าการรับประทานอาหารรสเค็มเป็นประจำนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไตได้ แต่ในความเป็นจริงโรคไตสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ วันนี้เราจึงชวนคุณมาทำความเข้าใจกันว่า โรคไตเกิดจากการติดเค็ม หรือเกิดจากอะไรได้บ้าง พร้อมอาการของโรคไตที่สังเกตได้

โรคไตเกิดจากอะไร เพราะติดกินเค็มมากไปใช่ไหม ?

ไตเป็นอวัยวะที่เรารู้กันโดยทั่วไปว่าคอยทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งไตนั้นมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วแดง ขนาดประมาณ 9-13 เซนติเมตร มีทั้งหมด 2 ข้าง อยู่บริเวณสีข้างของร่างกายขนานกับกระดูกสันหลังช่วงเอว นอกจากหน้าที่สำคัญในการขับของเสียแล้ว ไตยังคอยช่วยดูแลสมดุลน้ำและแร่ธาตุ สมดุลความเป็นกรด-ด่างภายในเลือด ควบคุมความดันโลหิตและสร้างฮอร์โมนในการผลิตเม็ดเลือดแดงให้กับร่างกายอีกด้วย 

และหากถามว่าโรคไตเกิดขึ้นจากการกินเค็ม ติดกินอาหารที่มีโซเดียมสูงใช่หรือไม่ ก็ต้องอธิบายว่านั่นเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น ด้วยเพราะยังมีอีกหลายปัจจัยต้นตอที่สามารถทำให้เกิดโรคไตได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำ
  • มีกรรมพันธุ์โรคไต
  • มีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เช่น เบาหวาน ความดัน เป็นต้น
  • อายุมากกว่า 60 ปี และไตทำงานได้น้อยลง
  • กินอาหารรสจัดเป็นประจำ ทั้งรสเค็มจัด หวานจัด เปรี้ยวจัด หรือเผ็ดจัด
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือดื่มน้ำมากเกินไป
  • ใช้ยาผิดประเภท ใช้ยาเกินขนาด
  • เครียดเป็นประจำและไม่ชอบออกกำลังกาย 

ชวนเช็กอาการเตือนของโรคไต มีอะไรบ้าง ?

ในช่วงแรกผู้ที่เป็นโรคไตมักไม่มีอาการ หรือสัญญาณที่สังเกตได้ชัดเจน แต่จะสังเกตได้ในระยะที่ไตเกิดความผิดปกติไปค่อนข้างมากแล้ว โดยมีอาการดังนี้

อาการเตือนของโรคไต มีอะไรบ้าง ?

1. ขาบวม มือบวม หน้าบวม

เนื่องจากไตไม่สามารถขับน้ำและเกลือแร่ได้ปกติ จึงเกิดการคั่งของน้ำและเกลือแร่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะเท้า มือ หรือใบหน้า โดยเราสามารถเช็กได้จากการกดลงไปบริเวณมือ หรือเท้าที่บวม ค้างไว้ 5-10 วินาที หากรอยบุ๋มยังคงค้างอยู่ นั่นอาจเป็นสัญญาณอาการของโรคไตได้

2. ปวดหลังล่าง หรือปวดช่วงบั้นเอว

อาการปวดหลังล่าง หรือปวดช่วงบั้นเอว อาจเป็นอาการแสดงถึงปัญหาของไต ซึ่งอาจเกิดจากโรคนิ่วในไต กรวยไตอักเสบ หรือเนื้องอกในไต

3. ปัสสาวะเป็นฟอง

เป็นหนึ่งในอาการของโรคไตที่สังเกตได้ง่าย หากพบว่าปัสสาวะแล้วมีฟอง แม้ว่าจะกดล้างไปแล้วก็ยังมีฟอง ให้สงสัยว่าเป็นอาการของโรคไตที่เกิดจากโปรตีนไข่ขาว หรือโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) รั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งมาจากการกินอาหารที่มีโซเดียมมากเป็นประจำ จนไตทำงานหนักและทำให้เกิดความดันภายในไตสูง ส่งผลให้เกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะและสามารถก่อให้เกิดภาวะไตเสื่อมได้ในที่สุด

4. ปัสสาวะเป็นเลือด หรือเป็นสีชมพู

ปัสสาวะเป็นฟองนอกจากจะบอกได้ว่าไตทำงานผิดปกติแล้ว สีของปัสสาวะยังบอกความผิดปกติของไตได้อีกด้วย หากพบว่าปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ สีชมพู หรือมีสีแดง แสดงว่ามีเลือดปะปนมากับปัสสาวะ ซึ่งบอกได้ว่าไตเกิดการติดเชื้อหรือเป็นนิ่วในไตได้

แนวทางการรักษาโรคไต

5. ปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย

ในตอนกลางคืนถ้าไตทำงานได้ปกติ จะดูดน้ำกลับมาไว้กับตัว ทำให้ปริมาณน้ำในกระเพาะปัสสาวะน้อย ทำให้เราไม่รู้สึกปวดปัสสาวะตอนกลางคืน แต่หากไตทำงานผิดปกติจะไม่สามารถดูดน้ำให้มากักเก็บไว้ได้ จึงทำให้ผู้ที่เป็นโรคไตต้องตื่นและลุกขึ้นมาปัสสาวะ 4-5 รอบ ในตอนกลางคืน

6. ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน

อาการเหล่านี้เกิดจากความดันโลหิตสูงเนื่องจากไตไม่สามารถขับน้ำและแร่ธาตุออกไปได้ จึงทำให้ไตทำงานหนัก และส่งผลให้เส้นเลือดของไตเสื่อมสภาพลงจนเกิดการรั่วของโปรตีนวนลูปเป็นวงจร ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อม หรือโรคไตวายได้ทั้งในระยะแรกและระยะสุดท้าย

7. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง

อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ไตไม่สามารถทำหน้าที่ขับของเสียออกไปได้ ทำให้ในเลือดมีไนโตรเจนจากสารยูเรียคั่งค้าง ซึ่งสารยูเรียเป็นของเสียที่สามารถเข้าไปรบกวนการทำงานของร่างกายได้ทุกส่วน โดยเฉพาะระบบประสาท จึงทำให้ร่างกายเกิดความอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง มึนงง สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง

เสี่ยงแค่ไหน ก็รู้ได้… กับแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต ในราคาโปรโมชั่นพิเศษ !

ให้คุณมีสุขภาพดีได้ครบทุกองศา มาค้นหาปัจจัยเสี่ยงโรคไตได้ก่อนใครที่โรงพยาบาลวิมุต

ที่นี่เราออกแบบแพ็กเกจตรวจสุขภาพคัดกรองโรคไตให้คุณทราบตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย 

คลิกที่นี่เพื่อรับโปรโมชัน >> แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต ในราคาพิเศษ

แนวทางการรักษาโรคไต

โดยปกติแล้วการรักษาโรคไตจะขึ้นอยู่กับระยะอาการและสุขภาพของผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะพิจารณาแนวทางในการรักษา ดังนี้

  • รักษาตามอาการ โดยให้รับประทานยาและควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ปรับเปลี่ยนและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอาหารสำเร็จรูป รับประทานอาหารที่เหมาะสำหรับคนเป็นโรคไตและหลีกเลี่ยงยาบางประเภท
  • รักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต เป็นวิธีใช้รักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง เพื่อช่วยในการขจัดของเสียแทนไตที่ไม่สามารถทำงานได้ดังเดิม ด้วยวิธีการฟอกเลือด การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง หรือการปลูกถ่ายไต 

นี่คือข้อมูลเกี่ยวกับโรคไต ทั้งสาเหตุซึ่งพอจะตอบหลายคนได้แล้วว่าไม่ใช่เพียงการติดกินเค็ม หรือชอบกินอาหารโซเดียมสูงเท่านั้นที่ทำให้เกิดโรคไตได้ รวมถึงอาการของโรคไตที่สังเกตได้เป็นอย่างไรบ้าง พอรู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมหันมาดูแลสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารและปรับพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไต เพียงเท่านี้ก็ได้สุขภาพที่แข็งแรง แถมยังห่างไกลจากโรคไตได้ง่ายๆ แล้ว 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ไตเทียม ชั้น 9  โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 06:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0076
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ.สมพล บูรณะโอสถ อายุรแพทย์โรคไต

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เมนูผู้ป่วยโรคไต กินอย่างไรให้ปลอดภัยแต่ยังอร่อยได้

โภชนาการอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต แนะนำอาหารเมนูอร่อยโรคไตกินได้ ช่วยคุมอาหารได้ดี และมีประโยชน์ต่อการรักษาโรค ชะลอความเสื่อมของไต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
รวมวิธีการฟอกไต ประตูแห่งการรักษาเพื่อคนมีปัญหาโรคไต

เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ การฟอกไตจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการรักษา บทความนี้ชวนคุณมาดูการฟอกไตว่ามีกี่วิธี แต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม