สีปัสสาวะ บอกโรคอะไรได้บ้าง ? สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพที่ควรรู้

20 มิ.ย. 67  | ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ
แชร์บทความ      

สังเกตสีปัสสาวะ

สีปัสสาวะ บอกโรคอะไรได้บ้าง ? สัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพที่ควรรู้

เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ว่า การที่เราขับถ่ายปัสสาวะออกมาในแต่ละครั้ง สีของปัสสาวะนั้นสามารถบ่งบอกถึงสุขภาพของเราได้ด้วย ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอยู่เสมอ เพราะสีของปัสสาวะที่แตกต่างไปจากสีปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าภายในร่างกายกำลังเกิดสิ่งผิดปกติขึ้น ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่ไม่มีความร้ายแรงไปจนถึงความร้ายแรงอย่างการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับสีปัสสาวะกันว่ามีกี่สี และแต่ละสีบอกอะไร ?

ระบบปัสสาวะ

ทำความรู้จักระบบปัสสาวะ

ระบบปัสสาวะ คือ ของเหลวที่ไตของเราขับของเสียออกมาจากสารอาหารที่รับประทานเข้าในแต่ละวัน ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำเป็นส่วนมาก และยังมียูเรียซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่เหลือหลังจากร่างกายนำโปรตีนไปใช้แล้ว รวมถึงเกลือและสารเคมีที่เป็นของเสียอย่างยูโรบิลิน (Urobilin) โดยสารนี้จะทำให้เห็นถึงสีและกลิ่นของปัสสาวะ ซึ่งในแต่ละวันสีและกลิ่นปัสสาวะของเราจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาหารที่เรากิน (โดยปกติแล้วสีของปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อน ไม่มีความขุ่นและไม่ตกตะกอน) อีกทั้งสีและกลิ่นของปัสสาวะที่ขับออกมานั้นยังสามารถบอกโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว

สีปัสสาวะบอกโรค

สีปัสสาวะบอกโรคอะไรได้บ้าง

1. ปัสสาวะสีเหลืองใส

เป็นสีปัสสาวะของคนทั่วไป โดยขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารและน้ำที่ดื่มเข้าไปในแต่ละวัน ถ้าดื่มน้ำน้อยปัสสาวะอาจมีสีเหลืองเข้มขึ้น ซึ่งหากสังเกตเห็นว่าสีปัสสาวะมีความเข้มขึ้นให้ดื่มน้ำเยอะขึ้น ยิ่งในหน้าร้อนแบบนี้ที่ร่างกายมีโอกาสการขาดน้ำหรือหลังจากออกกำลังกายเสร็จ แต่ในขณะเดียวกัน หากสีปัสสาวะดูใสเหมือนกับน้ำ นั่นหมายถึงการดื่มน้ำที่มากเกินไปจนเกลือแร่ภายในร่างกายเจือจางลง ทางที่ดีควรดื่มน้ำในปริมาณที่พอดีและสังเกตสีของปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ

2. ปัสสาวะสีแดงหรือสีชมพู

ปัสสาวะมีสีแดงหรือสีชมพู อาจเกิดจากการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น บีทรูท กระเจี๊ยบแดง แต่ในบางครั้งอาจเกิดจากมีเลือดเจือปน โดยเป็นได้ตั้งแต่มีสีแดงอ่อนๆ ไปจนถึงสีแดงเข้ม ขึ้นอยู่กับปัญหาสุขภาพของแต่ละคน ซึ่งการที่มีเลือดเจือปนในปัสสาวะอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือนิ่วในไต นิ่วที่ท่อไตและนิ่วในกระเพาะปัสสาวะขึ้นได้ รวมถึงอาจเป็นเนื้องอกที่ไม่เป็นอันตรายหรือมะเร็งในไต กระเพาะปัสสาวะหรือท่อปัสสาวะได้เช่นเดียวกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะพบในผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย แต่ก็สามารถพบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยที่สูบบุหรี่จัดได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ การขยายตัวของต่อมลูกหมากในผู้ชาย ก็สามารถทำให้เกิดเลือดปนในปัสสาวะได้ด้วย ดังนั้น หากสังเกตเห็นเลือดเจือปนในปัสสาวะติดต่อกันหลายครั้ง หรือมีเลือดออกมามากจนสีปัสสาวะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดเพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง

3. ปัสสาวะสีน้ำตาลหรือสีเหลืองเข้ม

ปัสสาวะสีเข้ม มีสีน้ำตาลที่มีความใกล้เคียงกับสีชา อาจเกิดจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากหรืออาจเกิดจากการเสพยาเสพติด การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ การใช้ยาปฏิชีวนะหรือการใช้ยาต้านโรคต่างๆ และยังมีโอกาสเกิดจากปัญหาตับอักเสบได้ด้วย เพราะมีระดับบิลิรูบิน (Bilirubin) สูงจนขับออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งหากใครที่สังเกตเห็นสีปัสสาวะของตนเองเป็นสีน้ำตาลหลังจากที่ออกกำลังกาย หรือดื่มน้ำเพิ่มขึ้นแล้วไม่มีทีท่าว่าสีปัสสาวะจะใสขึ้นภายใน 24 - 48 ชั่วโมง ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจร่างกายโดยด่วน

4. ปัสสาวะสีขาวขุ่น

หากปัสสาวะมีสีขาวขุ่น แสดงให้เห็นว่าร่างกายของคุณเริ่มเข้าสู่ภาวะผิดปกติ โดยอาจเกิดได้จากทั้งภาวะขาดน้ำ นิ่วในไต การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคกรวยไตอักเสบ และอาจมีโปรตีนอยู่ในร่างกายมากเกินไป อีกทั้งอาจเกิดจากการที่มีหนองเข้าไปปนกับปัสสาวะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพบเจอในผู้ป่วยที่ถูกใส่สายสวนปัสสาวะทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน หรือมีน้ำเหลืองในปัสสาวะ แต่หากเกิดกับผู้หญิงที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์และมีอาการปัสสาวะเป็นฟองร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งถือเป็นภาวะที่อันตรายควรมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด 

5. ปัสสาวะสีม่วง

เป็นสีปัสสาวะที่พบเจอได้ยาก ส่วนใหญ่แล้วจะพบเจอได้ในถุงระบายน้ำปัสสาวะของผู้ป่วยสูงอายุที่ถูกใส่ท่อสวนปัสสาวะ โดยสีปัสสาวะสีม่วงมักจะเกิดจากการทำปฏิกิริยาของแบคทีเรียกับถุงระบายน้ำปัสสาวะที่เป็นพลาสติก

6. ปัสสาวะสีส้ม

สามารถเกิดจากการรับประทานวิตามินหรือยาบางชนิดได้ โดยเฉพาะยาประเภทที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อต่างๆ รวมถึงการที่ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ หรืออาจเกิดจากปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับถุงน้ำดีหรือตับก็ได้เช่นกัน

7. ปัสสาวะสีใส ไม่มีสี

หากปัสสาวะออกมาแล้วมีสีใสเหมือนกับน้ำ อาจหมายถึงการดื่มน้ำในปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องได้รับ แต่หากปัสสาวะบ่อยและมีสีใสอยู่ตลอด อาจบ่งบอกได้ว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคได้ ทั้งโรคเบาหวาน โรคไตหรือกินยาขับปัสสาวะอยู่ เป็นต้น

8. ปัสสาวะสีเขียวหรือสีฟ้า

ในกรณีที่ปัสสาวะออกมาแล้วสีปัสสาวะมีสีเขียว หรือสีฟ้า อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการรับประทานอาหารที่มีสีเหล่านี้ผสมอยู่ การรับได้สารบางชนิดที่ทางการแพทย์จำเป็นต้องใช้เพื่อตรวจไต หรือกระเพาะปัสสาวะของผู้ป่วยบางคน หรือเกิดจากผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิดก็ได้เช่นกัน เช่น ยาอะมิทริปไทลิน (Amitriptyline) เป็นต้น นอกจากนี้ การที่ปัสสาวะมีสีเขียวหรือสีฟ้า ยังสามารถเกิดจากโรคหรือความผิดปกติภายในร่างกายได้ด้วย เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรม เป็นต้น ดังนั้นหากสังเกตเห็นว่าสีปัสสาวะของตนเองอยู่ในกลุ่มนี้ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและวางแผนการรักษาโดยด่วน

9. ปัสสาวะสีดำ

สีปัสสาวะสีดำ อาจมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกายอย่างโรคตับ โรคมะเร็งผิวหนัง หรืออาจเกิดจากการรับประทานยาควีนิน (Quinine) และยาปฏิชีวนะอย่างเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เหล่านี้ด้วย และอาจมีความเสี่ยงที่เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดได้เช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าสีปัสสาวะแต่ละสีที่มีความแตกต่างนั้นเป็นสัญญาณเตือนที่สามารถบ่งบอกโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว การดื่มน้ำในปริมาณมากหรือน้อยเกินไปย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ล้วนส่งผลกับร่างกายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่มากหรือน้อยเกินไป และหมั่นสังเกตสีปัสสาวะทุกครั้งที่ทำการขับถ่าย จะช่วยให้ประเมินได้ว่าระบบขับถ่ายและร่างกายของเรานั้นยังอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ ซึ่งหากใครพบเจอสีปัสสาวะที่แตกต่างไปจากปกติให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย อย่าปล่อยเรื้อรัง เพราะอาจนำไปสู่โรคร้ายที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์
ศูนย์ระบบทางเดินปัสสาวะ ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0040
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.สุทธิรัตน์ สะระวงษ์ (ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินปัสสาวะ)

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ขลิบหนังหุ้มปลายเพศชาย ไม่อันตรายและเจ็บปวดอย่างที่คิด

การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย ทำแล้วมีประโยชน์ยังไง ปลอดภัย เจ็บน้อย ไร้เลือดได้จริงไหม และหลังขลิบปลาย ต้องดูแลตัวเองอย่างไร วันนี้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญจะมาให้คำตอบทุกข้อสงสัย

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)

จะให้กล่าวถึงสาเหตุของภาวะองคชาติไม่แข็งตัว ส่วนใหญ่สาเหตุการเกิดปัญหาเหล่านี้จะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ โดยหากเป็นในช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ส่วนใหญ่เกือบจะ 100%

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
กระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคฮิต! มนุษย์ออฟฟิศต้องรู้

ฉี่ไม่ออก แสบขัด กลั้นไม่อยู่ อาการแบบนี้ต้องระวังกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะอักเสบ บทความนี้ชวนคุณมาดูอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พร้อมวิธีดูแลและป้องกันให้ถูกวิธี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจพบเร็ว ก็รักษาให้หายได้

มะเร็งต่อมลูกหมาก โรคร้ายในคุณผู้ชายที่ตรวจพบเร็วสามารถรักษาให้หายได้! มาทำความเข้าใจและเช็กอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากกัน พร้อมแพ็กเกจตรวจหาความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากในราคาพิเศษได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม