รู้ทัน...โรคอ้วน โรคอันตรายที่เป็นประตูสู่โรคเรื้อรัง !

20 ก.พ. 66  | ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก
แชร์บทความ      

รู้ทัน...โรคอ้วน โรคอันตรายที่เป็นประตูสู่โรคเรื้อรัง !

พฤติกรรมติดหวาน ชอบกินมัน กินทุกอย่างตามใจปากแต่ไม่ชอบออกกำลังกาย และปล่อยให้ร่างกายสะสมไขมันจนกลายเป็น “โรคอ้วน” ซึ่งโรคนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพที่ไม่ดี ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานไม่ปกติ เสี่ยงต่อการเป็นกลุ่มโรค NCDs ได้ง่าย อีกทั้งยังส่งผลต่อคุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์ของตัวเองที่อาจต่อยอดถึงปัญหาสุขภาพจิตได้อีกด้วย 

วันนี้เราชวนคุณทุกคนมาดูกันว่าอ้วนแค่ไหน อ้วนแบบไหนถึงเรียกว่าเป็นโรคอ้วน ถ้าเป็นแล้วมีทางรักษาหรือดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง

โรคอ้วนคืออะไร

โรคอ้วน (Obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมของไขมันมากกว่าปกติ ซึ่งการที่มีการสะสมของไขมันมากขึ้นนั้นอาจเนื่องมาจากร่างกายได้รับพลังงานเกินกว่าที่ต้องการ จึงทำให้มีการสะสมพลังงานที่เหลือเอาไว้ในรูปของไขมันตามอวัยวะต่างๆ และเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อ หรือกลุ่มโรค NCDs

โรคอ้วนคืออะไร มีกี่ประเภท

โรคอ้วนเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าปกติจนมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. อ้วนทั้งตัว :  ไขมันทั้งร่างกายมีมากกว่าปกติ
  2. อ้วนลงพุง :  มีไขมันของอวัยวะภายในช่องท้องมากกว่าปกติ

ปัจจัยเสี่ยงโรคอ้วนมีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง

  • พันธุกรรม
  • ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต
  • อายุ
  • ยาที่ใช้ประจำบางชนิด
  • โรคประจำตัวบางชนิด

รู้ได้อย่างไรว่าอ้วนแล้ว

สำหรับโรคอ้วน เราสามารถใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และการวัดเส้นรอบเอวเพื่อวินิฉัยโรคอ้วนลงพุง หรือโรคอ้วนที่มีไขมันช่องท้องสะสมเยอะนั่นเอง

1. วัดจากดัชนีมวลกาย  (Body Mass Index หรือ BMI)

ค่า BMI = น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง

โดยหลังจากคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI แล้ว สามารถบอกกลุ่มเสี่ยงและผู้เป็นโรคอ้วนทั้งตัวได้ ดังนี้

  • ผู้ที่มี BMI ระหว่าง 23.0-24.9 กิโลกรัม/ตารางเมตร² คือ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะพัฒนาให้เกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจ จึงควรลดน้ำหนักที่เกินด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย
  • ผู้ที่มี BMI > 25 กิโลกรัม/ตารางเมตร² คือ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ร่วมกับการมีโรคเรื้อรังมากกว่า 2 โรค และมีเส้นรอบเอวมากกว่าปกติ กลุ่มนี้ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการร่วมกับการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย

2. วัดจากรอบเอว

ในการวัดรอบเอว หรือวัดเส้นรอบพุง จะเป็นการประเมินความเสี่ยงต่อการก่อโรคและค้นหาความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง โดยการวัดรอบเอว หรือวัดเส้นรอบพุงที่ถูกต้อง ควรทำดังนี้

  • ตำแหน่งที่วัดเส้นรอบเอวคือ จุดกึ่งกลางระหว่างขอบล่างของกระดูกซี่โครงและขอบบนของกระดูกเชิงกราน หรืออธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นคือตรงกับสะดือพอดี 
  • ควรวัดในท่ายืนตรง ขณะหายใจออก
  • ควรวัดในตอนเช้าก่อนรับประทานอาหาร
  • พันสายวัดให้แนบกับลำตัว ระวังอย่าให้สายบิด ไม่รัดแน่นเกินไปและสายวัดต้องขนานกับพื้น
  • ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เมื่อวัดเส้นรอบเอวแล้วไม่ควรเกิน ดังนี้
    • ผู้ชายควรมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร
    • ผู้หญิงควรมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 80 เซนติเมตร 

หากเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่าค่าดังกล่าวนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ สูงขึ้น 

ผลร้ายต่อสุขภาพของโรคอ้วน

  • ความดันโลหิตสูง  โรคมะเร็ง  โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคตับอักเสบ โรคเบาหวาน  โรคถุงน้ำรังไข่ โรคหลอดเลือดสมองตีบ ภาวะเลือดออกในสมอง 
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว  โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  โรคข้อเข่าเสื่อม ทางเดินหายใจตีบและตันชั่วคราวขณะหลับโรคกรดไหลย้อน โรคเก๊าท์
  • ภาวะมีบุตรยาก โรคมะเร็ง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน

1. ปัจจัยทางสรีรวิทยา

  • ปัจจัยจากความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • การตั้งครรภ์
  • โรคที่ส่งเสริมให้เกิดโรคอ้วน โรคทางระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะที่มีไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ โรคถุงน้ำรังไข่ กลุ่มอาการคุชชิ่ง โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นต้น
  • การรับประทานยาบางชนิดที่มีผลต่อน้ำหนัก เช่น ยากันชัก ยาคุมกำเนิด ยาแก้อาการซึมเศร้า ฮอร์โมนสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

2. ปัจจัยทางพฤติกรรม

  • เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างพลังงานที่ร่างกายได้รับจากการบริโภคและพลังงานที่ใช้ในกิจกรรมประจำวัน ทำให้เกิดไขมันสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นโรคอ้วน
  • โรคการกินผิดปกติ

ทำไมต้องลดน้ำหนักเพื่อรักษาโรคอ้วน

มีหลักฐานชัดเจนทางการแพทย์ว่าโรคอ้วนมีความสัมพันธ์

  1. เพิ่มอัตราการตายและอัตราการเกิดโรคต่างๆ
  2. มีหลักฐานเชิงประจักษณ์แน่ชัดว่าการลดน้ำหนักจะลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจ
  3. ช่วยลดการเกิดความดันโลหิตสูง และลดระดับความดันโลหิตที่สูงให้ลงสู่ภาวะปกติได้
  4. ลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ คอลเรลเตอรอล ไขมันเลว (LDL-Cholesterol) และเพิ่มไขมันดี (HDL-Cholesterol)
  5. ลดระดับน้ำตาลที่เริ่มสูงขึ้นในผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวาน และลดระดับน้ำตาลและน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในผู้ที่เป็นเบาหวานทำให้สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ดี

การดูแลตัวเองและการรักษาโรคอ้วนมีกี่วิธีและทำอย่างไร

การดูแลตัวเองสำหรับคนเป็นโรคอ้วน

  1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสม เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี โปรตีนจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือถั่วต่างๆ ลดอาหารแปรรูป อาหารทอด อาหารที่มีน้ำตาลสูง และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไม่รับประทานจุกจิก รวมถึงดูฉลากเพื่อควบคุมปริมาณแคลอรี ไขมันและโซเดียมให้เหมาะสม
  2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเลือกกิจกรรมที่คุณชอบ เช่น เดินเร็ว วิ่ง ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเต้นแอโรบิก เพื่อให้คุณได้ออกกำลังกายได้อย่างน้อย วันละ 30 นาที รวมถึงการเล่นเวทเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ที่จะช่วยให้การเผาผลาญร่างกายดีขึ้น

แนวทางการรักษาสำหรับคนเป็นโรคอ้วน

  1. ใช้ยาควบคุมน้ำหนักหากมีข้อบ่งชี้ ในคนที่มีค่า BMI  ≥ 27 BMI (กก./ม.2) นอกจากการควบคุมอาหาร ปรับพฤติกรรมในการดูแลตัวเองแล้ว แพทย์จะให้รับประทานยาเพื่อให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ลดน้ำหนักมีสุขภาพที่ดี
  2. ผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักหากมีข้อบ่งชี้ อีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคอ้วนที่ปลอดภัยนั่นคือการผ่าตัดกระเพาะอาหารลดความอ้วน เหมาะสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานมากเกินไปและไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติ 
  1. ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารเมื่อมีข้อบ่งชี้ ใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร ตัวเลือกลดน้ำหนักโดยไม่ต้องผ่าตัด เป็นการลดน้ำหนักที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญ ที่คิดค้นมาเพื่อผู้ที่เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์และผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักโดยเฉพาะ 

 

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับโรคอ้วนและอ้วนลงพุงที่เรานำมาให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความอันตรายของโรคนี้ พร้อมวิธีการเช็กเบื้องต้นว่าเราอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงแล้วหรือยัง เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและอ้วนลงพุง ตลอดจนไปถึงโรคเรื้อรังต่างๆ ที่จะเข้ามารังควานและลดระดับคุณภาพชีวิตของเราลงได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต
เวลา 07.00-19.00 น. โทร. 0-2079-0070 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
13 วิธีดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานในยุค COVID-19

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ covid-19 โดยโรคเบาหวานนั้นจะทำให้ติดเชื้อ covid -19 ได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป และหากติดเชื้อแล้วจะมีผลทำให้เกิดพาวะแทรกซ้อนมากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เป็นเบาหวานตั้งครรภ์ได้ไหม ?

เพราะการสร้างครอบครัวคือหนึ่งในความฝันของผู้หญิงหลายๆ คน แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานคงกังวลไม่น้อยว่าจะมีลูกได้ไหม ปลอดภัยหรือเปล่า เรามาฟังคำตอบกันที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
สายกินต้องระวัง โรคอันตรายจากไขมันที่ต้องรู้ !

สายกินต้องระวัง! อาหารไขมันสูง ของทอดแสนอร่อยที่แฝงไปด้วยโรคไขมันตัวร้าย มาดูความลับทั้งประโยชน์และโทษของไขมัน ที่บั่นทอนสุขภาพคุณจนอาจเป็นโรคร้ายแรงได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
3 สัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังลดน้ำหนักผิดวิธี

เชื่อว่าหลายคนยังมีเป้าหมายในการลดน้ำหนัก แต่ปัญหาที่มักพบ คือ ลดน้ำหนักไม่สำเร็จสักที หรืออาจลดได้แค่ช่วงสั้นๆ แล้วกลับมาน้ำหนักเท่าเดิม ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง