อาการท้องเสียกวนใจ จัดการยังไงให้หายเร็ว

20 มี.ค. 67  | ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แชร์บทความ      

อาการท้องเสียกวนใจ จัดการยังไงให้หายเร็ว

“ท้องเสีย” อาการคุ้นหูที่มักจะแวะมาทักทายเราอยู่บ่อยครั้ง หลายคนคิดว่าเป็นอาการปวดท้องถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำแค่ 2-3 ครั้ง ไม่นานอาการก็หายไปเองได้ แต่แท้จริงแล้วอาการท้องเสียมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมหรือบรรเทาลงอาจนำไปสู่ภาวะช็อกได้ ดังนั้น วันนี้เราจะพามาทำความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับอาการท้องเสียให้มากขึ้น เพื่อให้คุณสามารถดูแลตัวเองและคนใกล้ชิดได้อย่างถูกต้อง

ปวดท้อง ท้องเสีย (Diarrhea) เกิดจากอะไรได้บ้าง มีอาการเป็นอย่างไร ?

อาการท้องเสียส่วนใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่สะอาด มีสารปนเปื้อน หรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ ปะปนอยู่ในอาหาร เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และนำไปสู่อาการท้องเสียได้ 

ซึ่งลักษณะของอาการท้องเสียส่วนใหญ่จะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชม. หากเป็นอาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน หรือท้องเสียทั่วไปจะมีอาการเพียง 1-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ทุเลาลงและหายไปเอง หรือเป็นอาการท้องเสียเรื้อรังจะมีการขับถ่ายอุจจาระเหลวออกมาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุจึงควรพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง  

เมื่อมีอาการท้องเสีย… ต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง?

เพื่อบรรเทาความรุนแรงของอาการท้องเสีย มารู้จักวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อแก้ท้องเสีย ดังนี้ 

  • ควรถ่ายอุจจาระออกให้หมด เพื่อให้เชื้อโรคและสารพิษถูกขับออกจากร่างกาย 
  • ไม่ควรหยุดรับประทานอาหาร แต่ควรเลือกรับประทานเป็นอาหารที่ย่อยง่าย หรืออาหารอ่อนๆ 
  • หากมีอาการอ่อนเพลียร่วมด้วยให้เลือกดื่มเกลือแร่สำหรับท้องเสีย ทดแทนน้ำที่เสียไป
  • ลดขนาดของมื้ออาหารลง เพื่อให้ลำไส้ได้พักและฟื้นฟูได้เร็วขึ้น 

อาการท้องเสียควรกินและไม่ควรกินอาหารอะไรบ้าง?

ขณะที่มีอาการท้องเสียควรให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้น ทำให้อาการท้องเสียแย่ลง ดังนี้


อาหารที่ไม่ควรกินเมื่อมีอาการท้องเสีย

อาหารที่ควรกินเมื่อมีอาการท้องเสีย
 
  • อาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ 
  • อาหารที่ย่อยยาก เช่น อาหารทะเลต่างๆ 
  • อาหารประเภทแป้งที่มีส่วนผสมจากเนย 
  • นม ชา กาแฟ และแอลกอฮอล์ 
  • อาหารหมักดอง 
  • อาหารสุกๆ ดิบๆ 
  • อาหารที่มีรสจัด
 
  • อาหารย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม, โจ๊ก, แกงจืด
  • อาหารปรุงรสอ่อนๆ  
  • โยเกิร์ตช่วยปรับสมดุลทางเดินอาหาร 
  • น้ำสะอาดและเกลือแร่

 

เมื่อมีอาการท้องเสียกินยาอะไรได้บ้าง

แน่นอนว่าเมื่อมีอาการท้องเสียหลายคนเลือกที่จะซื้อยาตามร้านขายยาทั่วไปมารับประทานเอง โดยไม่ทราบสาเหตุของอาการที่แท้จริงและไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน แต่เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยามากขึ้น มาดูกันว่าเมื่อมีอาการท้องเสียสามารถกินยาอะไรได้บ้าง ผงเกลือแร่ ROS : ดื่มชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ชง 1 ซอง ตามปริมาณที่ระบุ ดื่มให้หมดหรือจิบเป็นระยะๆ เมื่อมีอาการคลื่นไส้

ยาที่ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง 

ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อ : ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการท้องเสียก่อนใช้ยาฆ่าเชื้อ เพราะตัวยาอาจไปทำลายระบบอื่นๆ ในร่ายกายนอกจากเชื้อโรค 

ยาคาร์บอน หรือผงถ่าน : ในวงการแพทย์จัดเป็นยาที่ไม่สามารถแก้อาการท้องเสียได้โดยตรง แต่มีฤทธิ์ในการช่วยดูดซับสารเคมี สารพิษ และเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่ร่างกายรับเข้ามาไม่ให้แพร่กระจาย ดังนั้น หากมีอาการท้องเสียที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อก็ไม่จำเป็นต้องรับประทาน เพื่อความปลอดภัยและใช้ยาอย่างถูกต้องควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา 

 

ชวนสังเกต… อาการท้องเสียแบบไหนที่ควรพบแพทย์

อาการท้องเสียหากไม่มีความรุนแรงมากจะสามารถหายเองได้ภายใน 1-2 วัน แต่หากอาการท้องเสียไม่ทุเลาลงและมีความรุนแรงมากขึ้น แนะนำว่าควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งอาการที่สามารถสังเกตได้มีดังนี้

  1. ถ่ายมากผิดปกติหรือถ่ายเหลวเป็นน้ำ ร่วมกับอาการอาเจียน  
  2. อุจจาระมีเลือดปน 
  3. อุจจาระมีมูกหรือเมือกปน 
  4. อาจมีอาการไข้ ปวดศีรษะร่วมด้วย 
  5. ในเด็กเล็กจะมีอาการปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา หรือกระหม่อมบุ๋ม

ถึงแม้อาการท้องเสียจะสามารถหายเองได้ในบางรายที่มีอาการไม่รุนแรง แต่ก็ยังต้องการการดูแลอย่างเหมาะสมและถูกต้องเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ รวมถึงปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารให้ถูกหลักอนามัยร่วมด้วย และที่สำคัญหากพบว่ามีไข้สูง หนาวสั่น ถ่ายปนเลือด รับประทานไม่ได้ ขาดน้ำหรือมีอาการเกิน 72 ชม. ควรรีบพบแพทย์ทันที 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต
เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0054 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ไขมันพอกตับ ภาวะอันตรายที่คุณเสี่ยงแค่ไหน? มาเช็กกัน !

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ ชวนคุณสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร เรามีข้อมูลมาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
“ท้องผูก” ปวดท้อง ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่… ถ่ายไม่ออก!

ถ่ายไม่ออก อุจจาระแข็ง นานๆ จะถ่าย หรือทั้งสัปดาห์ถ่ายครั้งเดียว แบบนี้เป็นโรคท้องผูกไหม เรารวมข้อมูลสาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก สำหรับคนที่มีปัญหาการขับถ่ายมาฝากแล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ก่อนป้องกันได้ รักษาไว

ปวดท้องบ่อย ท้องผูกบ่อยและมีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ อาการแบบนี้คุณอาจกำลังเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มาเช็กอาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อย่าปล่อยให้อาการ “ลำไส้แปรปรวน” ทำให้ชีวิตคุณต้องชะงัก

ชวนมาหาคำตอบโรคลำไส้แปรปรวน ปัญหาลำไส้ทำงานผิดปกติ ที่มักมีอาการปวดท้องบิดเกร็งเป็นพักๆ หรือท้องเสียสลับท้องผูก ถ่ายไม่ค่อยออก แถมปวดท้องแบบไม่เลือกเวลา สังเกตอาการได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง