ปวดท้องตำแหน่งนี้ บอกโรคอะไรได้บ้าง

17 ต.ค. 66  | ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แชร์บทความ      

ปวดท้องตำแหน่งนี้ บอกโรคอะไรได้บ้าง

อาการปวดท้อง เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเพศทุกวัย ซึ่งอาการปวดท้องในแต่ละคน หรือในแต่ละครั้งก็อาจมีตำแหน่งที่ไม่เหมือนเดิม เพราะในท้องของคนเราประกอบไปด้วยอวัยวะหลายอย่าง ทำให้ตำแหน่งของการปวดท้องเกิดขึ้นได้หลายจุด จึงต้องสังเกตให้ดีว่าอาการปวดท้องเกิดขึ้นกับตำแหน่งใด เพื่อค้นหาสาเหตุอาการปวดท้องว่ามาจากอะไร วันนี้เราจึงรวบรวมตำแหน่งอาการปวดท้อง ที่สามารถช่วยบอกให้รู้ได้ว่าเป็นโรคอะไร หรือปวดท้องตำแหน่งไหน ปวดท้องแบบใดที่ควรเข้ามาพบแพทย์ 

7 ตำแหน่งอาการปวดท้อง ปวดตำแหน่งนี้ บอกโรคอะไร ?

1. ปวดท้องขวาบน หรือปวดท้องใต้ซี่โครงขวา

  • นิ่วในถุงน้ำดี มักจะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อบริเวณเหนือสะดือคล้ายอาการของอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ตัวและตาเหลืองคล้ายดีซ่าน
  • กรวยไตข้างขวาอักเสบ อาการปวดบริเวณสีข้างหรือบั้นเอวข้างขวาขึ้นอย่างเฉียบพลัน ปัสสาวะบ่อย รู้สึกปวดตลอดเวลา มีกลิ่นเหม็น มีสีขุ่นและอาจมีเลือดหรือหนองปนมากับปัสสาวะ
  • นิ่วในไตข้างขวา มักมีอาการปวดหลังหรือช่องท้องช่วงล่างข้างขวา ปวดแบบเสียด หรือปวดบิดเป็นพักๆ มีไข้หนาวสั่น ร่วมกับปัสสาวะบ่อยแต่น้อย ติดขัด ไม่ค่อยออก เจ็บแสบ ปัสสาวะมีสีแดง ขุ่นและมีเม็ดทรายผสมอยู่ด้วย

2. ปวดท้องขวาล่าง หรือท้องน้อยขวา

  • ไส้ติ่งอักเสบ มักจะเริ่มจุกแน่นและปวดตรงลิ้นปี่ หรือบริเวณรอบๆ สะดือก่อน ซึ่งจะคล้ายกับโรคกระเพาะ จากนั้นจะเลื่อนลงมาปวดตรงช่วงท้องน้อยด้านขวา จะรู้สึกปวดมากขึ้นเมื่อขยับตัว หรือไอ จาม ร่วมกับมีไข้ หนาวสั่นได้
  • ปีกมดลูกขวาอักเสบ มักจะมีอาการปวดท้อง หรือปวดท้องน้อยในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ หรืออยู่ในช่วงตกไข่มีประจำเดือน ตกขาวผิดปกติเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะขัด และในบางคนที่มีอาการแบบเฉียบพลันจะมีไข้ร่วมด้วย 

3. ปวดท้องซ้ายบน หรือปวดท้องใต้ซี่โครงซ้าย

  • โรคกระเพาะอาหารอักเสบ จุก เสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ซี่โครงทางซ้าย บางครั้งก่อนมื้ออาหารจะปวดบีบก่อนแล้วคลาย และเมื่อกินอาหารได้นิดหน่อยจะรู้สึกอิ่มไว จุกท้อง 
  • โรคตับอ่อนอักเสบ มักมีอาการปวดท้องข้างซ้ายช่วงบนอย่างรุนแรงและอาจมีร้าวไปบริเวณกลางหลังได้ กดแล้วเจ็บท้องบอกตำแหน่งได้ แต่ท้องไม่แข็ง ร่วมกับมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน 
  • ม้ามแตก โดยส่วนใหญ่เกิดจากการกระแทกรุนแรง หรือม้ามโตจนแตก โดยมักจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงโดยเฉพาะด้านซ้าย เวลากดและหายใจจะรู้สึกเจ็บ ในบางรายที่เสียเลือดมากอาจมีความดันต่ำ เวียนหัวคล้ายจะเป็นลม   
  • กรวยไตข้างช้ายอักเสบ อาการปวดมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันบริเวณสีข้างหรือบั้นเอวข้างซ้าย ปัสสาวะบ่อยและปวดปัสสาวะตลอดเวลา อีกทั้งยังมีกลิ่นเหม็น มีสีขุ่นและบางรายอาจมีเลือด หรือหนองปนมากับปัสสาวะ
  • นิ่วในไตข้างช้าย มักมีอาการปวดแบบเสียด หรือปวดบิดเป็นพักๆ ที่หลัง หรือช่องท้องช่วงล่างด้านซ้าย อีกทั้งมีไข้หนาวสั่นร่วมกับปัสสาวะบ่อย เจ็บ แสบ ติดขัด ไม่ค่อยออก มีสีขุ่นและมีเม็ดทรายผสมอยู่ด้วย

4. ปวดท้องซ้ายล่าง หรือท้องน้อยซ้าย

  • โรคลำไส้อักเสบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการถ่ายเหลวเฉียบพลัน หรือมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ร่วมกับอาการปวดท้องน้อยด้านซ้าย มีไข้ เมื่อยเนื้อตัวได้ อีกทั้งในบางครั้งอาจมีถ่ายปนมูกหรือเลือดด้วยได้
  • ปีกมดลูกข้างซ้ายอักเสบ มักจะมีอาการปวดท้องน้อยในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ หรือช่วงมีประจำเดือน ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็นและสีเหลืองเป็นหนอง ปัสสาวะขัด และในบางคนที่มีอาการแบบเฉียบพลันจะมีไข้ร่วมด้วย

5. ปวดท้องตรงกลาง ใต้ลิ้นปี่

  • โรคหัวใจขาดเลือด อาการสำคัญ คือ จุกใต้ลิ้นปี่ เจ็บแน่นช่วงกลางหน้าอก หรือค่อนมาทางซ้าย เจ็บลึกๆ หายใจไม่สะดวก บ้างก็ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้ายและหัวไหล่ได้ ร่วมกับเหงื่อแตก ใจสั่น หอบเหนื่อย
  • โรคกระเพาะอาหารอักเสบ ส่วนใหญ่มักมีอาการปวด เสียด ตื้อ จุกและแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ ก่อน-หลังมื้ออาหาร หรือตอนท้องว่างมักจะปวดบีบก่อนแล้วคลาย เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มตลอดเวลา
  • โรคกรดไหลย้อน มักแสบร้อนกลางอกโดยเฉพาะหลังมื้ออาหาร เรอเปรี้ยว หรือเรอแล้วมีน้ำรสขมไหลย้อนขึ้นมา รวมถึงมักไอแห้งๆ เสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง ท้องอืด แน่นท้อง คล้ายอาหารไม่ย่อย
  • นิ่วในถุงน้ำดี มักจะมีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ตัวและตาเหลืองคล้ายดีซ่าน

6. ปวดท้องรอบสะดือ

  • โรคลำไส้อักเสบ ส่วนใหญ่มักพบอาการถ่ายเหลวเฉียบพลันที่มากกว่า 3 ครั้ง/วัน ร่วมกับอาการปวดท้องช่วงล่าง มีไข้ เมื่อยตัวได้ อีกทั้งในบางครั้งอาจถ่ายปนมูกหรือเลือดด้วยได้
  • ไส้ติ่งอักเสบ มักจุกแน่นและปวดเสียดตลอดเวลาที่ลิ้นปี่ หรือบริเวณรอบๆ สะดือ จากนั้นจะเลื่อนลงมาปวดตรงช่วงท้องน้อยด้านขวา เจ็บมากขึ้นเมื่อขยับตัว หรือไอ จาม ซึ่งอาการปวดอาจกินเวลานานถึง 6 ชั่วโมง แม้กินยาก็ไม่ช่วยบรรเทาอาการปวด

7. ปวดท้องน้อยตรงกลาง

  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักมีอาการปวด เสียด ตื้อ จุกและแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ ท้องอืด เหมือนอาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มตลอดเวลา อีกทั้งก่อน-หลังมื้ออาหาร หรือตอนท้องว่างมักจะปวดท้องเสมอ 
  • มดลูกอักเสบ ​จะมีอาการปวดบริเวณเชิงกราน บางรายปวดร้าวไปถึงหลัง และท้องอืดแน่น หรือท้องเสีย คลื่นไส้ รู้สึกอ่อนเพลีย ปัสสาวะแสบขัด ​เวลาเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระจะรู้สึกปวด ตกขาวมีสีเหลืองหรือสีเขียวและอาจมีเลือดปน รวมถึงมีเลือดออกระหว่างและหลังมีเพศสัมพันธ์ ในรายที่รุนแรงจะมีเลือดออกในช่วงเวลาที่ไม่ได้มีประจำเดือน
  • เนื้องอกมดลูก มักปวดประจำเดือน ปวดหน่วงท้องน้อย และประจำเดือนมาผิดปกติ นาน ๆ ครั้งมา มาบ่อยผิดปกติ หรือมาในปริมาณมาก ถ้าเนื้องอกก้อนใหญ่จะคลำเจอได้ และอาจกดทับลำไส้ให้ท้องผูก หรือกดทับกระเพาะปัสสาวะทำให้ปัสสาวะบ่อยได้

ปวดท้องแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์

  • ปวดท้องต่อเนื่องมากกว่า 6 ชั่วโมง
  • ปวดท้องจนไม่สามารถนอนหลับได้ หรือปวดท้องจนตื่น
  • ปวดท้องจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้
  • ปวดท้องร่วมกับอาเจียน มากกว่า 3-4 ครั้ง
  • ปวดท้องร่วมกับมีไข้

แม้ว่าอาการปวดท้องในบางครั้งจะสามารถหายเองได้ จึงทำให้หลายคนมองข้ามคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ในทุกครั้งที่ปวดท้องเราควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพราะอาการปวดท้องในแต่ละตำแหน่งอาจเป็นสัญญาณเตือนความผิดปกติที่กำลังก่อตัวจากภายในให้เรารู้ตัวตั้งแต่เนิ่นๆ ได้เช่นกัน

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5  โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0054 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 

ผู้เขียน
นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ไขมันพอกตับ ภัยเงียบคร่าชีวิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ แต่จะสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
“ท้องผูก” ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่…ถ่ายไม่ออก!

ถ่ายไม่ออก อุจจาระแข็ง นานๆ จะถ่ายครั้งหนึ่ง หรือทั้งสัปดาห์ถ่ายครั้งเดียว แบบนี้เป็นโรคท้องผูก ไหม ที่นี่เรารวมคำตอบ สาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก สำหรับคนที่มีปัญหาการขับถ่ายมาฝากให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขมันพอกตับ ภัยเงียบคร่าชีวิตที่คุณอาจไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ แต่จะสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รู้ก่อนป้องกันได้ รักษาไว

ปวดท้องบ่อย ท้องผูกบ่อยและมีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ อาการแบบนี้คุณอาจกำลังเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มาเช็กอาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง